คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2549

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ว. ได้เบิกความเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมของผู้ตายสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวนโดย ว. ยืนยันว่า ขณะที่ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นได้มีการจัดพิมพ์ข้อความและมีบุคคลอื่นลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและช่องพยานมาก่อนแล้ว อ. จึงได้นำพินัยกรรมมาให้ ว. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน แสดงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้า อ. และ ว. ซึ่งเป็นพยานพร้อมกัน และ อ. และ ว. ก็มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นจึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามลักษณะการทำพินัยกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทผู้รับพินัยกรรมอันจะมีส่วนได้เสียที่จะร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิต ผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายถูกคุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งมารดาของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ นายธวัช กิจประยูร ผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย กับนางวรรวิภา ภูมาลาหรือพรมตัน จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งนางวรรวิภา มารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้านที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับทายาทอื่นของผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ยื่นคำแถลงคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านที่ 4
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง กับให้ตั้งนางสาวรัชนี กิจประยูร ผู้คัดค้านที่ 1 กับนางวรรวิภา ภูมาลาหรือพรมตัน เป็นผู้จัดการมรดกของนายธวัช กิจประยูร ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย
ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายธวัช กิจประยูร ผู้ตาย เคยทำงานเป็นลูกจ้างผู้ร้อง ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกฆ่านางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ถูกควบคุมตัวเป็นเวลานาน 2 เดือน 16 วัน จากนั้นได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2533 ให้ประหารชีวิตผู้ตาย ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ศาลฎีกาพิพากษายืน หลังจากนั้นผู้ตายได้มาอยู่กับผู้ร้องที่บ้านเลขที่ 221 ถึง 223 ถนนศรีภูมิ ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และผู้ตายได้นางราม เมื่องมา เป็นภริยาอีกคนหนึ่ง ผู้ตายกับนายกระแสร์ พลอยพุ่ม ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีฆ่านางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ได้ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระหว่างพิจารณาผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ต่อมาศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชำระเงินให้แก่ผู้ตาย ระหว่างมีชีวิตผู้ตายได้ทำพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 ไว้ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนายอนันต์ สุทธิสุนทร พยานผู้ร้องซึ่งเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 ว่า หลังจากผู้ตายมาปรึกษาพยานเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมแล้ว พยานจึงนัดหมายผู้ตายซึ่งจะต้องไปฉายแสงที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ให้ไปพบที่โรงพยาบาล วันที่ 16 มิถุนายน 2542 พยานได้ไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่บริเวณตึกคนไข้ซึ่งอยู่ห้องใต้ดินอาคารสุจิณโณ เมื่อไปถึงพบผู้ตายและนายชาลี ดีทิศ นั่งคอยอยู่ก่อนแล้ว พยานได้นำพินัยกรรมที่จัดเตรียมไว้ให้ผู้ตายอ่าน จากนั้นผู้ตายได้เข้าไปพบนายแพทย์วิชาญ แพทย์ที่ทำการตรวจรักษา ผู้ตายให้ออกมาเรียกให้พยานเข้าไปพบนายแพทย์วิชาญ โดยนายชาลียังคงคอยอยู่ด้านนอก พยานได้แจ้งให้นายแพทย์วิชาญทราบว่าผู้ตายต้องการทำพินัยกรรม และมีความประสงค์ให้นายแพทย์วิชาญเป็นพยานในพินัยกรรมด้วย โดยขอให้ออกใบรับรองแพทย์รับรองสติสัมปชัญญะของผู้ตายให้ด้วย จากนั้นพยานได้ลงลายมือชื่อในช่องพยานในพินัยกรรมซึ่งจัดทำรวม 3 ฉบับ ได้ส่งพินัยกรรมให้ผู้ตายลงลายมือชื่อครบทั้ง 3 ฉบับ จากนั้นได้ส่งให้นายแพทย์วิชาญลงลายมือชื่อ แต่นายแพทย์วิชาญลงลายมือชื่อเพียงฉบับเดียว การลงลายมือชื่อได้ลงลายมือชื่อพร้อมกันต่อหน้าทั้งสามคน ส่วนนายชาลี ดีทิศ พยานผู้ร้องอีกปากหนึ่งเบิกความว่าในวันทำพินัยกรรม นายชาลีไปที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่กับผู้ตายและนายอนันต์ โดยนายชาลีรออยู่หน้าห้องซึ่งเป็นประตูแบบบานผลักมีกระจกใสมองเห็นภายในได้ นายชาลีเห็นนายอนันต์ไหว้นายแพทย์วิชาญ แล้วหยิบพินัยกรรมที่เตรียมมายื่นให้ผู้ตายลงลายมือชื่อก่อน จากนั้นนายอนันต์ได้ลงลายมือชื่อแล้วยื่นให้นายแพทย์วิชาญ นายแพทย์วิชาญอ่านข้อความสักครู่จึงได้ลงลายมือชื่อ ต่อมานายชาลีเห็นผู้ตายกับนายอนันต์ไหว้นายแพทย์วิชาญแล้วออกมาจากห้องพร้อมกับใบรับรองแพทย์ 1 ฉบับ โดยมีชื่อผู้ตาย นายอนันต์และนายแพทย์วิชาญ นายอนันต์ได้ยื่นเอกสารให้นายชาลีดู และด้วยความรีบร้อนจึงลืมให้นายชาลีลงลายมือชื่อในช่องพยาน นายอนันต์และนายชาลีอ้างว่านายอนันต์และนายแพทย์วิชาญได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 พร้อมกัน นายชาลีเบิกความยืนยันว่า ขณะนายอนันต์และนายแพทย์วิชาญลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรม นายชาลีเห็นเหตุการณ์โดยมองผ่านทางกระจกใสของห้องทำงานของแพทย์ แต่นายแพทย์วิชาญเบิกความว่า ประตูทางเข้าห้องทำงานที่บานประตูและเปิดปิดเป็นบานไม้และมีกระจกอยู่ส่วนบนอยู่เศษหนึ่งส่วนสาม ถ้าประตูปิดคนที่ยืนอยู่ข้างนอกไม่สามารถมองเห็นคนที่ยืนด้านในได้ ส่วนใหญ่มักจะปิด นางสุรภี พุ่มบัว ซึ่งรับราชการอยู่ที่หน่วยรังสีรักษา คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ประจำโรงพยาบาลมหาราชเชียงใหม่เบิกความว่า ในช่วงปี 2542 พยานทำหน้าที่บริการส่วนหน้า และช่วยแพทย์ที่ห้องตรวจประจำกับนายแพทย์วิชาญยืนยันว่า ประตูด้านหน้ามีกระจกปิดอยู่ตรงกลาง หากประตูปิดคนภายนอกไม่สามารถมองทะลุด้านในได้ เห็นว่า ประตูเข้าห้องทำงานของแพทย์ปกติจะต้องปิดเพื่อป้องกันมิให้บุคคลภายนอกมองเห็น นายชาลีไม่น่าจะมองเห็นเหตุการณ์ในขณะที่มีการออกใบรับรองแพทย์และขณะทำพินัยกรรมในห้องทำงานของนายแพทย์วิชาญได้ ได้ความจากคำเบิกความของนายแพทย์วิชาญแพทย์ผู้รักษาผู้ตายว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน 2542 ขณะนายแพทย์วิชาญปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่หน้าห้องผู้ป่วย นายอนันต์พยานผู้ร้องได้เข้าไปพบ จำได้ว่าคงมีแต่นายอนันต์เข้าไปพบ นายแพทย์วิชาญยอมรับว่า ลายมือชื่อในช่องพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.1 เป็นลายมือชื่อของนายแพทย์วิชาญและนายแพทย์วิชาญเป็นผู้เขียนและลงลายมือชื่อในใบรับรองแพทย์เอกสารหมาย ร.4 ระบุอาการของผู้ตายในขณะนั้นว่ามีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี จึงมีปัญหาว่านายแพทย์วิชาญได้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมพร้อมกันกับนายอนันต์พยานถามค้าน ยอมรับว่าเคยให้การไว้ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2546 และให้การเพิ่มเติมอีกเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2546 ที่กรุงเทพมหานคร ตามเอกสารหมาย ค.2 โดยให้การเกี่ยวกับพินัยกรรมว่ามีการพิมพ์ข้อความในพินัยกรรมมาก่อนแล้ว โดยมีผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและพยานและในคำให้การเพิ่มเติมได้ให้การตอนหนึ่งว่าผู้ลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและพยานได้ลงลายมือชื่อก่อนแล้ว ไม่ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายแพทย์วิชาญ ในขณะนั้นผู้ตายไม่ได้อยู่กับนายแพทย์วิชาและหากในวันออกใบรับรองแพทย์ ถ้ามีผู้ตายอยู่ด้วยก็ต้องมีการสอบประวัติและต้องลงในบันทึกประวัติ แต่ในบันทึกประวัติตามเอกสารหมาย ค.9 ไม่ปรากฏ นายสุรภีก็เบิกความว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน 2542 มีผู้มาติดต่อขอใบรับรองแพทย์ของผู้ตายจากนายแพทย์วิชาญโดยมาคนเดียว ผู้ตายไม่ได้มาพบนายแพทย์วิชาญเพื่อขอตรวจร่างกายแต่อย่างใด เห็นว่า นายแพทย์วิชาญได้เบิกความเกี่ยวกับการทำพินัยกรรมของผู้ตายสอดคล้องกับคำให้การในชั้นสอบสวน โดยนายแพทย์วิชาญยืนยันว่า ขณะที่นายแพทย์วิชาญลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมนั้นได้มีการจัดพิมพ์ข้อความและมีบุคคลอื่นลงลายมือชื่อในช่องผู้ทำพินัยกรรมและช่องพยานมาก่อนแล้ว นายอนันต์จึงได้ทำพินัยกรรมมาให้นายแพทย์วิชาญลงลายมือชื่อเป็นพยานแสดงว่าผู้ตายทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายอนันต์และนายแพทย์วิชาญซึ่งเป็นพยานพร้อมกัน และนายอนันต์และนายแพทย์วิชาญก็มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ตายผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น จึงเป็นการไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามลักษณะการทำพินัยกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1656 วรรคหนึ่ง พินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.1 ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทของผู้รับพินัยกรรมอันจะมีส่วนได้เสียที่ร้องขอจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของนางวรรวิภา ภูมาลา มารดาของผู้คัดค้านที่ 4 ว่า นางวรรวิภา รู้จักกับผู้ตายเมื่อปี 2529 และอยู่กินกันฉันสามีภริยาที่แฟลตสวนพลู กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นของผู้ร้อง ต่อมาได้คลอดบุตรที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามหนังสือเอกสารหมาย ค.6 ขณะนั้นยังไม่ได้ตั้งชื่อเด็ก เป็นเด็กชายเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 เวลา 12.50 นาฬิกา มีบิดาชื่อนายธวัช กิจประยูร มารดาชื่อนางวรรวิภา พรมตัน อยู่ที่เลขที่ 121/16 แฟลตสวนพลู เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ต่อมาผู้ตายได้ไปแจ้งเกิดที่เขตปทุมวัน โดยตั้งชื่อว่าเด็กชายขวัญ กิจประยูร มีนางวรรวิภา พรมตัน เป็นมารดาและนายธวัช กิจประยูร เป็นบิดาที่อยู่เลขที่ 121/16 แฟลตสวนพลู เขตยานนาวา ตามสูติบัตรเอกสารหมาย ค.15 โดยแจ้งในวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 ระบุเกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2516 ตรงกับที่แจ้งเอกสารหมาย ค.6 ในปลายปี 2529 นางวรรวิภา ทราบว่า ผู้ตายถูกกล่าวหาว่าฆ่านางสาวเชอรี่แอน ดันแคน ผู้ตายได้ปรึกษาเกี่ยวกับเรื่องบุตรและขอร้องให้นางวรรวิภากลับไปอยู่กับบิดามารดาที่จังหวัดเชียงราย โดยให้บิดามารดาแจ้งเกิดบุตรในชื่อใหม่เพราะผู้ตายเกรงว่าบุตรจะมีปมด้อย ผู้ตายได้ร่วมกันเผาต้นฉบับเอกสารหมาย ค.15 นางวรรวิภาอุ้มเด็กชายขวัญมาที่บ้านขอร้องให้นายทอง พรมตัน บิดานางวรรวิภา เป็นผู้ไปแจ้งเกิดตั้งชื่อว่าเด็กชายกิตติศักดิ์ พรมตัน หรือน้องเกรียง โดยแจ้งเกิดเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2531 และเข้ามาอยู่บ้านเลขที่ 103 หมู่ 5 ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ตามเอกสารหมาย ค.5 ระบุว่าเด็กเกิดวันที่ 30 พฤษภาคม 2531 เหตุที่ระบุวันดังกล่าวเนื่องจากหากระบุเกิดวันที่แท้จริงคือวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 แล้วจะเกิน 15 วัน จะต้องถูกปรับ เด็กชายขวัญกับเด็กชายกิตติศักดิ์หรือเด็กชายเกรียงเป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นบุตรของผู้ตายกับนางวรรวิภา เห็นว่า เด็กชายขวัญเกิดที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ตามหนังสือของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ที่ถึงนางวรรวิภา ภูมาลา ที่นางวรรวิภาขอรับใบเกิดระบุว่า “เด็กชาย…..กิจประยูร เกิดวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 เวลา 12.56 นาฬิกา บิดาชื่อนายธวัช กิจประยูร มารดาชื่อนางวรรวิภา พรมตัน อยู่บ้านเลขที่ 121/16 แฟลตสวนพลู เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ในหนังสือก็ระบุว่าเป็นการขอรับใบเกิดของเด็กชายขวัญ กิจประยูร หนังสือดังกล่าวออกโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์นายแพทย์เพิ่มยศ โกศลพันธุ์ รองผู้อำนวยการฯ ฝ่ายบริหาร ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 มิได้คัดค้านว่าหนังสือดังกล่าวว่าไม่ถูกต้องแต่อย่างใด จึงต้องรับฟังว่าหนังสือตามเอกสารหมาย ค.6 เป็นหนังสือที่ถูกต้องแท้จริง ซึ่งต่อมาเขตปทุมวันก็ได้ออกสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ค.15 ระบุว่าเด็กชายขวัญเป็นบุตรของนางวรรวิภา พรมตัน และนายธวัช กิจประยูร การที่ภายหลังมีการเปลี่ยนชื่อบิดามารดาที่แท้จริงของเด็กชายขวัญตามที่นางวรรวิภาอ้างก็นับว่ามีเหตุผล นายทองซึ่งเป็นบิดาของนางวรรวิภาและมีชื่อเป็นบิดาของเด็กชายกิตติศักดิ์หรือเกรียงตามเอกสารหมาย ค.4 ก็เบิกความว่า ความจริงนายทองเป็นตาของเด็กชายกิตติศักดิ์ เด็กชายกิตติศักดิ์หรือเกรียงเป็นบุตรของผู้ตายและนางวรรวิภาและเป็นคนเดียวกับเด็กชายขวัญ ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ ภูพัฒน์ แพทย์ผู้ทำการตรวจพันธุกรรมระหว่างผู้คัดค้านที่ 4 ว่า มีความสัมพันธ์เป็นเครือญาติกับผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 และมีบิดาเป็นคนเดียวกันหรือไม่ว่า จากการทดสอบหมู่โลหิตและทางพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเชื่อว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 2 เป็นญาติพี่น้องและมารดาเดียวกัน โดยผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของนางวรรวิภาและนางวรรวิภาเป็นบุตรของนายทอง โดยศาตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ได้ทำรายงานการตรวจพิสูจน์เลือดและดีเอ็นเอตามเอกสารหมาย ค.41 กับยืนยันว่าเด็กชายกิตติศักดิ์ไม่ใช่บุตรของนายทอง ซึ่งสอดคล้องกับคำเบิกความของนายทองที่ว่านายทองเป็นตาของเด็กชายกิตติศักดิ์ ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์ได้เบิกความตอบทนายผู้ร้องถามถ้านว่า เป็นไปได้เกินห้าสิบเปอร์เซ็นต์ที่ผู้คัดค้านทั้งสี่จะมีบิดาเป็นคนเดียวกัน ศาสตราจารย์นายแพทย์ธานินทร์เป็นหัวหน้าภาคนิติเวชศาสตร์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางการแพทย์ที่ได้ศึกษาเล่าเรียน ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด เชื่อว่ากระทำการตรวจและให้ความเห็นถูกต้องตามหลักวิชาการ จึงรับฟังได้ว่าเด็กชายกิตติศักดิ์ที่เกิดแต่นางวรรวิภามิใช่บุตรนายทองแต่อย่างใด ตามสำเนาสูติบัตรเอกสารหมาย ค.15 ก็ระบุว่านางวรรวิภามีบุตรที่เกิดกับผู้ตายคือเด็กชายขวัญ โดยเด็กชายขวัญเกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 เกิดก่อนเด็กชายกิตติศักดิ์ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2531 เป็นเวลาเพียง 15 วัน จึงเป็นไปไม่ได้ที่นางวรรวิภาจะคลอดบุตรสองคนห่างกันเพียง 15 วัน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเด็กชายขวัญและเด็กชายกิตติศักดิ์หรือเกรียงผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุคคลคนเดียวกัน และเป็นบุตรของผู้ตายกับนางวรรวิภา ในระหว่างที่ผู้ตายมีชีวิตได้ความว่าผู้ตายได้กล่าวกับบุคคลในหมู่บ้านว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย คนในหมู่บ้านก็รู้ว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรของผู้ตาย ผู้ตายได้แสดงความเป็นบิดาโดยได้อุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 โดยพาไปเที่ยวกับผู้ตายและส่งเสียค่าเลี้ยงดูตลอดมาเว้นแต่ขณะที่ผู้ตายต้องถูกคุมขัง นับได้ว่าผู้ตายได้แสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นบิดาผู้คัดค้านที่ 4 และให้การอุปการะเลี้ยงดูผู้คัดค้านที่ 4 ตลอดมา พฤติการณ์ของผู้ตายดังกล่าวเป็นการแสดงต่อผู้คัดค้านที่ 4 ให้เป็นที่รู้กันทั่วไปว่าผู้คัดค้านที่ 4 เป็นบุตรนอกกฎหมายของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว ผู้คัดค้านที่ 4 จึงเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายคนหนึ่ง จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งนางวรรวิภาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และนางวรรวิภาเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องและของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share