คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1062/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อย่างไรไม่เรียกว่าเป็นการปลอมหนังสือ สัญญากู้เดิมไม่มีพะยานลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ไว้ ต่อมาภายหลังพยานในหนังสือสัญญากู้นั้นและผู้เขียนสัญญากู้เดิมมาเขียนข้อความ และลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ในสัญญากู้ดังนี้ ไม่เป็นผิดฐานปลอมหนังสือ ป.พ.พ.ม.9 การรับรองลายพิมพ์นิ้วมือตามประมวลแพ่ง ม.9 ผู้รับรองไม่จำต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะที่พิมพ์ลายนิ้วมือ

ย่อยาว

ได้ความว่าโจทก์ได้กู้เงินจาก พ. จำเลยไป ๑๓๒๒ บาท ในเอกสารกู้โจทก์ได้ทำให้ไว้แก่ พ.จำเลย โจทก์ได้พิมพ์ลายนิ้วมือไว้ในฐานะผู้กู้ ช.จำเลยพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นพะยาน ฉ.จำเลยลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้เขียนสัญญาฉะบับนี้พร้อมกัน ภายหลังมีผู้บอก พ.จำเลยว่าเอกสารเช่นนี้ไม่สมบูรณ์ เพราะไม่มีพะยานรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้กู้ พ. จำเลยจึงไปเรียก ช. แล ฉ.จำเลยมาลงชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือโจทก์ ช.แล ฉ.จึงเขียนคำเพิ่มเติมลงไปว่า “ขอรับรองว่าเป็นลายมือของ ต.(คือโจทก์) และพิมพ์ต่อหน้าข้าพเจ้า” แล้วก็ลงลายมือของจำเลยว่า “ขีดพะยาน” นายฉันพะยาน”โจทก์จึงฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมหนังสือ
ศาลล่างทั้ง ๒ เห็นว่าจำเลยทำโดยสุจริตเพื่อให้ถูกต้องตามความจริง ไม่มีเจตนาปลอมหนังสือ จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์ได้กู้เงินของ พ. จำเลยไปจริง ช. แล ฉ.จำเลยก็ได้อยู่เป็นพะยานรู้เห็นในขณะที่โจทก์พิมพ์ลายนิ้วมือลงในเอกสาร ทั้งข้อความที่เขียนเพิ่มเติมลงนั้นก็เป็นข้อความของจำเลยเองอันได้รู้เห็นมาจริงอย่างไรก็จดลงไว้ตามจริงเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดฐานปลอมหนังสือ เพราะไม่มีการปลอมแปลงสิ่งใดของใครตอนไหน แลตามประมวลแพ่ง ม.๙ ก็มิได้บังคับว่าการรับรองนั้นจำต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะพิมพ์ลายนิ้วมือ จึงพิพากษายืนตามศาลล่าง

Share