คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7427/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่เกินสามปี กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 121(1) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแต่เนื่องจากมาตรา 122 กำหนดว่าในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค และอนุญาตให้อุทธรณ์ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไป ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2อุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและ ครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ คดีจึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ แต่สำหรับการฎีกานั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯมาตรา 124 คงมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้นย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วย โดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นกรณีอุทธรณ์ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้วก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วย กรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 221โดยอาศัย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯมาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2ฎีกาขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาและศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้นจึงเป็นการไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 80, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 83 จำเลยทั้งสองอายุ 17 ปีเศษลดมาตราส่วนโทษลงกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76จำคุก คนละ 6 เดือน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. 2534 มาตรา 104(2) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนดคนละ 6 เดือน นับแต่วันพิพากษาข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่าไม่เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 1 เป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรม แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยที่ 1 ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน 3 เดือนต่อครั้งมีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดสงขลา มีกำหนด 6 เดือน อันเป็นการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในการลงโทษจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์ภาค 3พิพากษายืนจำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดตรังแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกา อันแปลได้ว่าจำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาขอให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำเลยที่ 2 ซึ่งตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 124 บัญญัติว่า คดีที่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งให้ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลฎีกาได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดาเว้นแต่กรณีที่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 121 และมาตรา 121 บัญญัติว่า คดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งแล้ว ให้อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคได้ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความเหมือนคดีธรรมดาเว้นแต่ในกรณีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวได้พิพากษาหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้(2) กำหนดให้ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 104เว้นแต่ในกรณีที่การใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นเป็นการพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ส่งเด็กหรือเยาวชนไปเพื่อกักและอบรมมีกำหนดระยะเวลาเกินสามปี เมื่อคดีนี้ศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เป็นส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนไม่เกินสามปีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 121(1) คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อที่เกี่ยวกับการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแต่เนื่องจากมาตรา 122 บัญญัติไว้ว่า ในคดีซึ่งต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 ถ้าอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคและอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาต่อไปและจำเลยที่ 2 ได้อุทธรณ์ขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษโดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ได้ คดีจึงขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 3ได้ แต่สำหรับการฎีกานั้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534 มาตรา 124 คงมีความหมายว่า คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 121 นั้น ย่อมต้องห้ามฎีกาไปด้วยโดยไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวหรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกาได้ดังเช่นกรณีอุทธรณ์ เพราะหากกฎหมายประสงค์จะให้มีการอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาดังกล่าวได้แล้ว ก็ชอบที่จะบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งเช่นเดียวกับการอนุญาตให้อุทธรณ์ตามมาตรา 122 ด้วยและกรณีไม่อาจนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 221 โดยอาศัยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2534มาตรา 6 มาใช้บังคับแก่กรณีนี้ได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้รอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษ โดยผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้ฎีกา และศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2

Share