คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7420/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้แก่นายจ้างตามสัญญาจ้างการที่นายจ้างยังไม่ได้ประกาศจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้าง ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้สิทธิแก่ลูกจ้างในการที่จะประท้วงด้วยการหยุดงาน การประท้วงหยุดงานของลูกจ้างจึงเป็นการผิดสัญญาจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านเป็นกรรมการลูกจ้าง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2536 เวลา 8.30 นาฬิกา ผู้คัดค้านได้ละทิ้งหน้าที่ของตนเข้าไปแผนกผลิตโทรทัศน์สีโดยไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปได้แล้วเดินพูดคุยยุยง ชักชวนให้พนักงานในสายการผลิตเอและบีทำงานให้ช้าลง พนักงานทั้งหมดกระทำตามที่ผู้คัดค้านชักชวนการกระทำของผู้คัดค้านเป็นการทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในกรณีที่ร้ายแรงเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องในกรณีที่ร้ายแรง จงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายและเป็นการหยุดงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้ร้องก่อน อันเป็นการฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ใช้บังคับอยู่ ขออนุญาตเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของหัวหน้าแผนกในสายการผลิตเอ จึงเป็นการเข้าไปทำงานโดยชอบเพื่อประโยชน์ของผู้ร้องขอให้ยกคำร้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ในวันที่ 21 ธันวาคม2536 พนักงานของผู้ร้องสายการผลิตเอและบีในโรงงานที่ 1 ได้ทำงานให้ช้าลงในช่วงเช้า จนกระทั่งหยุดงานไปโดยสิ้นเชิงในช่วงบ่ายเนื่องจากไม่พอใจที่ผู้ร้องประกาศจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2536ล่าช้า การทำงานให้ช้าลงและหยุดงานดังกล่าว ผู้คัดค้านเป็นผู้ยุยงชักชวนให้พนักงานทำงานให้ช้าลง และร่วมชุมนุมประท้วงหยุดงานอันเป็นการละทิ้งหน้าที่การทำงาน การประท้วงหยุดงานขัดต่อพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34(1) เพราะไม่ได้แจ้งข้อเรียกร้องเป็นหนังสือให้ผู้ร้องทราบตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวอีกทั้งการทำงานให้ช้าลงและหยุดงานก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ผู้ร้องโดยทำให้ผลการผลิตในวันดังกล่าวต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นอันมากการกระทำผิดของผู้คัดค้านเป็นการจงใจฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของพนักงานผู้ร้อง กับชักชวน ยุยง หรือสนับสนุนให้ลูกจ้างคนอื่นละทิ้งหน้าที่จงใจทำให้การทำงานล่าช้าและจงใจทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงสมควรให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านได้มีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ว่าพนักงานของผู้ร้องประท้วงหยุดงานเพราะไม่พอใจที่ผู้ร้องไม่ยอมประกาศเงินโบนัสประจำปีหรือประกาศเงินโบนัสประจำปีล่าช้า และไม่แจ้งให้ทราบว่าจะจ่ายเงินโบนัสเมื่อใด ถือว่าฝ่าฝืนข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง มิใช่ประท้วงหยุดงานเพื่อขอเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ลูกจ้างต้องยื่นข้อเรียกร้องเป็นหนังสือตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 34(1) ประกอบกับมาตรา 13 พนักงานของผู้ร้องจึงประท้วงหยุดงานได้โดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นอุทธรณ์ที่มีความหมายทำนองว่าการประท้วงหยุดงานของพนักงานของผู้ร้องไม่ใช่เป็นการละทิ้งหน้าที่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพนักงานซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้ร้องมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้ผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างตามสัญญาจ้าง การที่ผู้ร้องยังไม่ได้ประกาศจ่ายเงินโบนัสให้แก่พนักงาน ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดให้สิทธิแก่พนักงานในการที่จะประท้วงด้วยการหยุดทำงาน การประท้วงหยุดงานของพนักงานจึงเป็นการผิดสัญญาจ้าง ถือได้ว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่
พิพากษายืน

Share