คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7413/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ผู้ถูกกล่าวหายกข้อเท็จจริงขึ้นมาในชั้นฎีกาว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล และขอให้ศาลฎีกาพิพากษาปล่อยผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นผิดไปนั้น เป็นที่เข้าใจได้ว่าผู้ถูกกล่าวหากลับให้การปฏิเสธในชั้นฎีกา ข้ออ้างตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวจึงขัดกับคำให้การรับสารภาพและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษผิดมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความฯ มาตรา 52(2) ที่ห้ามทำการเป็นทนายความภายในกำหนดเวลา ฉะนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหาทำคำให้การให้จำเลย 1 ครั้งและว่าความในฐานะทนายความจำเลยอีก 3 ครั้งในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นสำหรับคดีนี้ จึงเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจพึงกระทำได้เพราะผู้ถูกกล่าวหายังไม่พ้นกำหนดห้ามทำการเป็นทนายความดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเสร็จเด็ดขาดในแต่ละครั้งที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำ กรณีเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นการกระทำต่อเนื่องกันซึ่งต้องลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91และเมื่อความปรากฏต่อศาลว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกันนี้อีกหลายคดี ศาลจึงมีอำนาจให้นับโทษของผู้ถูกกล่าวหาต่อจากคดีอื่นได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีฝิ่นอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 17, 69, 102 ก่อนเริ่มพิจารณาศาลชั้นต้นถามจำเลยว่ามีทนายความมาหรือไม่ จำเลยแถลงว่า ไม่มีและต้องการทนายความศาลชั้นต้นจึงมีหนังสือขอแรงผู้ถูกกล่าวหาให้เป็นทนายความจำเลย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2541 จำเลยแต่งตั้งให้ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความจำเลยต่อมาสภาทนายความมีหนังสือแจ้งให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดหนองคายทราบว่า เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2539 คณะกรรมการสภาทนายความมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2539 ให้จำหน่ายชื่อผู้ถูกกล่าวหาออกจากทะเบียนทนายความเนื่องจากขาดคุณสมบัติตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 43 ศาลชั้นต้นจึงออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาไต่สวนในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 31(1) ประกอบมาตรา 33 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ให้ลงโทษ 4 กระทงจำคุกกระทงละ 1 วัน รวมจำคุก 4 วัน ให้นับโทษจำคุกต่อจากโทษจำคุกของผู้ถูกกล่าวหาในคดีละเมิดอำนาจศาลคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1242/2538 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1551/2541 คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 1260/2541 คดีอาญาหมายเลขดำที่ 1583/2540 และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 364/2542 ของศาลชั้นต้น

ผู้ถูกกล่าวหาอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

ผู้ถูกกล่าวหาฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาประการแรกว่าการที่ผู้ถูกกล่าวหายกข้อเท็จจริงต่าง ๆ ขึ้นมาในชั้นนี้แล้วอ้างว่าไม่ถือว่าการกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลแล้วขอให้ศาลฎีกาพิพากษาปล่อยผู้ถูกกล่าวหาให้พ้นผิดไปนั้นเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้ถูกกล่าวหากลับให้การปฏิเสธในชั้นฎีกา ข้ออ้างตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวจึงขัดกับคำให้การรับสารภาพผิดของผู้ถูกกล่าวหาฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2543 และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ประการที่สองที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่าศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษเรียงกระทงและนับโทษต่อจากคดีอื่นนั้นไม่ถูกต้อง เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาถูกลงโทษผิดมรรยาททนายความตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 52(2) ที่ว่าห้ามทำการเป็นทนายความ ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นกำหนดห้ามทำการเป็นทนายความในวันที่ 23 มกราคม 2543 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือของสภาทนายความ ซึ่งเก็บอยู่ในสำนวนสารบาญเก็บอันดับที่ 9 นั้น เป็นเหตุให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องห้ามว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ…ให้แก่บุคคลอื่น ตามที่พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528มาตรา 33 บัญญัติไว้ ฉะนั้น การที่ผู้ถูกกล่าวหามาทำคำให้การให้จำเลย1 ครั้ง และว่าความในฐานะทนายความจำเลยอีก 3 ครั้ง ในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นสำหรับคดีนี้จึงเป็นการกระทำที่ปราศจากอำนาจพึงกระทำได้เพราะผู้ถูกกล่าวหายังไม่พ้นกำหนดห้ามทำการเป็นทนายความดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลเสร็จเด็ดขาดในแต่ละครั้งที่ผู้ถูกกล่าวหากระทำ กรณีเป็นการกระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหลายกรรมต่างกัน มิใช่เป็นการกระทำต่อเนื่องกัน ซึ่งต้องลงโทษผู้ถูกกล่าวหาทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และเมื่อความปรากฏต่อศาลจากการรายงานของนายวิโรจน์ ธารรักษ์ ซึ่งเป็นจ่าศาลจังหวัดหนองคายว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเช่นเดียวกันนี้อีกหลายคดี ปรากฏตามบันทึกข้อความเรื่องนายสุพล ชุมแวงวาปีกระทำการเป็นทนายความในคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเก็บอยู่ในสำนวนสารบาญเก็บอันดับที่ 9 ศาลจึงมีอำนาจให้นับโทษของผู้ถูกกล่าวหาต่อจากคดีอื่นได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประการสุดท้ายที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่า ผู้ถูกกล่าวหาเป็นทนายความรู้กฎหมายย่อมทราบดีถึงสถานภาพในการเป็นทนายความของตน ย่อมต้องตระหนักถึงการปฏิบัติตนในศาลอันเป็นสถานที่ที่สำคัญที่ผู้ถูกกล่าวหาใช้เป็นที่ประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนแต่กลับปรากฏว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายและศาล พฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหาเช่นนี้จึงไม่มีเหตุอันควรปรานีที่จะรอการลงโทษได้ อีกทั้งยังเห็นว่าโทษที่ศาลชั้นต้นลงมานั้นเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาแล้วคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share