คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้จำเลยที่ 1 จะนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไปมอบให้ ฉ. ภริยาโจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และตราบใดที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ยังมิได้นำยึดที่ดินนั้นเพื่อบังคับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการยึดที่ดินนั้นให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด
ขณะที่จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดิน และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งศาลแขวงสงขลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไปตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่จะมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของโจทก์ที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์เพิ่งจะเกิดมีขึ้นในภายหลังเมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลานั้นว่าต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงใดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจากการขายทอดตลาดจึงมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการกระทำไปตามสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันไปเพิกถอนการออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3712 เลขที่ดิน 267 ตำบลทุ่งลาน อำเภอหาดใหญ่ (ปัจจุบันเป็นอำเภอคลองหอยโข่ง) จังหวัดสงขลา และให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้โจทก์ใช้แทนจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 20,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้นแก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 3,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2537 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 21 มกราคม 2541 จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากนางฉลวย ภริยาโจทก์ ตามหนังสือสัญญากู้เงิน โดยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 3712 ตำบลทุ่งลาน อำเภอหาดใหญ่ (ปัจจุบันเป็นอำเภอคลองหอยโข่ง) จังหวัดสงขลา ที่พิพาทให้นางฉลวยยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้ แล้วจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ทั้งสองรายดังกล่าว จำเลยที่ 2 ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ วันที่ 14 ธันวาคม 2543 ศาลแขวงสงขลามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ตามสำเนาคำพิพากษา วันที่ 24 มกราคม 2546 จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดินตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาท โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินดังกล่าวต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหมาย แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉย เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงขออนุญาตขายทอดตลาดที่ดินพิพาทตามสำเนาเอกสารที่ยึดไว้ซึ่งศาลแขวงสงขลามีคำสั่งอนุญาต ตามสำเนารายงานการยึดทรัพย์ หมายแจ้งการยึดทรัพย์ รายการยึดที่ดิน หนังสือขออนุญาตขายทอดตลาดทรัพย์และหนังสือศาลแขวงสงขลา ต่อมาวันที่ 31 มกราคม 2548 ศาลจังหวัดสงขลามีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ วันที่ 6 กันยายน 2548 จำเลยที่ 2 เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดในคดีที่จำเลยที่ 2 นำยึดได้ในราคา 100,000 บาท ตามสำเนารายงานเจ้าหน้าที่ (ขายทอดตลาด) และสัญญาซื้อขาย หลังจากนั้นเจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือแจ้งให้นายอำเภอคลองหอยโข่งออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ตามหนังสือสำนักงานบังคับคดีจังหวัดสงขลา นายอำเภอคลองหอยโข่งจึงออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548
เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้จำเลยที่ 1 จะนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไปมอบให้นางฉลวยภริยาโจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และตราบใดที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางฉลวยยังมิได้นำยึดที่ดินนั้นเพื่อบังคับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการยึดที่ดินนั้นให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด
ขณะที่จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดินเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2546 และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งศาลแขวงสงขลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไปตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2547 แล้ว นั้น โจทก์ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่จะมีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของโจทก์ที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์เพิ่งจะเกิดมีขึ้นในภายหลัง เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาคือตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2548 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลานั้นว่า ต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ดังที่โจทก์อ้างในฎีกา
ส่วนเมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงใดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าศาลมิได้มีคำสั่งให้ เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจากการขายทอดตลาดจึงมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขอให้นายอำเภอคลองหอยโข่งออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการกระทำไปตามสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share