คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 388/2522

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

สามีภริยาทำหนังสือหย่ากัน แต่ตกลงเลิกสัญญาแล้วทำสัญญาแล้ว 9 ปี สามีนำสัญญามาฟ้องให้ภริยาจดทะเบียนหย่าไม่ได้ ไม่ต้องวินิจฉัยว่าสัญญาหย่าสมบูรณ์หรือไม่

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์จำเลยทำหนังสือสัญญาหย่ากันแล้ว ไม่ได้ตกลงเลิกสัญญากัน จำเลยมีหน้าที่ไปจดทะเบียนหย่า เมื่อไม่ไปจดก็เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญากันแล้ว พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์จำเลยได้เป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายโดยจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 26เมษายน 2506 ต่อมาโจทก์จำเลยได้ตกลงทำหนังสือสัญญาหย่าขาดจากการสมรสกันเองเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2510 แต่มิได้จดทะเบียนการหย่ากันตามกฎหมาย

ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัย คือข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า สัญญาหย่าระหว่างโจทก์จำเลยลงวันที่ 2 สิงหาคม 2510 เอกสารหมาย จ.1 มิได้ถูกยกเลิกยังมีผลผูกพันโจทก์จำเลยอยู่ตามกฎหมาย

ปัญหานี้จำเลยนำสืบว่า ภายหลังจากที่โจทก์จำเลยทำสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1 แล้ว โจทก์จำเลยยังอยู่กินด้วยกันที่บ้านหลังเดียวกันตลอดมาโดยไม่พูดถึงสัญญาหย่านั้นอีกเลย แต่โจทก์นำสืบว่าภายหลังจากทำสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1 แล้ว 2-3 วัน จำเลยก็ออกจากบ้านที่อยู่ด้วยกันไปอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ร่วมกัน เมื่อพิเคราะห์สำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 2/5 แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี เอกสารหมาย ล.2 ที่จำเลยอ้างเป็นพยานก็ปรากฏว่า โจทก์จำเลยยังอยู่ในบ้านหลังนั้นและบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านพักของตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางยี่เรือ ซึ่งโจทก์จำเลยอาศัยอยู่กินด้วยกันมาก่อนที่จะทำสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1 และยังได้ความต่อไปว่า ขณะที่ทำสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1นี้ โจทก์มียศเป็นพันตำรวจโท ฉะนั้นหากโจทก์ทำสัญญาหย่าหมาย จ.1 แล้ว2-3 วัน จำเลยย้ายไปอยู่ที่อื่นไม่ได้อยู่ร่วมกัน จำเลยก็ไม่น่าจะมีชื่ออยู่ในบ้านเลขที่ 2/5 ร่วมกับโจทก์และระบุยศโจทก์เป็นพันตำรวจเอกภายหลังจากทำสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1 แล้วการที่สำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 2/5 เอกสารหมาย ล.2 ระบุโจทก์ มียศเป็นพันตำรวจเอกและอยู่ในบ้านหลังนี้กับจำเลย จึงเชื่อว่าภายหลังจากทำสัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1 แล้ว โจทก์จำเลยยังคงอยู่ด้วยกันที่บ้านเลขที่ 2/5 แขวงบางยี่เรือ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานครตลอดมา ที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยย้ายไปอยู่บ้านหลังอื่นไม่ได้อยู่ร่วมกับโจทก์ภายหลังทำสัญญาหย่าแล้ว จึงรับฟังไม่ได้ นอกจากนี้ปรากฏว่าภายหลังจากที่โจทก์จำเลยทำสัญญาหย่าตามเอกสารหมาย จ.1 แล้วประมาณ 6 ปี โจทก์ก็ยังได้ให้ความยินยอมในการที่จำเลยทำนิติกรรมสัญญาขายฟืนให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะที่โจทก์เป็นสามีจำเลยอีกด้วย ดังที่ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 แสดงว่าโจทก์จำเลยได้คืนดีกัน ประพฤติและอุปการะกันฉันสามีภริยาและเหตุที่โจทก์จำเลยทำสัญญาหย่าตามเอกสารหมาย จ.1ตามที่โจทก์นำสืบก็เป็นเพียงโจทก์จำเลยมีปากเสียงกันเกี่ยวกับเรื่องจะขอเพิ่มเงินค่าขายฝากบ้านที่จำเลยเอาไปขายฝากผู้อื่นไว้เท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยประพฤติชั่วร้ายแรงจนโจทก์จำเลยไม่อาจอยู่กินเป็นสามีภริยากันได้ต่อไปแต่อย่างไรประกอบกับโจทก์จำเลยทำสัญญาหย่ากันแล้วนานถึง 9 ปี โจทก์จึงนำสัญญาหย่าดังกล่าวมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลย ศาลฎีกาเห็นว่าการอยู่ร่วมกันและการปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์จำเลยภายหลังทำสัญญาหย่าตามเอกสารหมาย จ.1 ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว ถือได้ว่าโจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาหย่าตามเอกสารหมาย จ.1 แล้ว คดีฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยยังตกลงจะหย่าขาดจากกัน โจทก์จะนำสัญญาหย่าดังกล่าวมาฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าไม่ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ในปัญหาที่ว่า สัญญาหย่าเอกสารหมาย จ.1 สมบูรณ์ตามกฎหมายหรือไม่”

พิพากษายืน

Share