แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
เงินที่โจทก์นำยึดเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 22 และมาตรา 121โดยไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปะปนกับเงินจำนวนอื่นของจำเลยจนแยกไม่ออกว่าเงินส่วนไหนเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ เงินจำนวนดังกล่าวที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้จึงยังคงเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) โจทก์จะยึดมาชำระหนี้ไม่ได้ การอายัดเงินดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ทำให้เงินดังกล่าวแปรสภาพไปจนไม่อาจได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 286(2) แต่อย่างใด
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วันมิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แม้จำเลยจะไม่ได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีอันจะถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็ไม่มีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีที่จำเลยยื่นอุทธรณ์ไว้แล้ว เพราะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้ จึงไม่ใช่คำสั่งที่ผิดระเบียบและการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยก็เป็นดุลพินิจที่ศาลอุทธรณ์กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่า ศาลอุทธรณ์จะต้องจำหน่ายคดีหรือไม่มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้เงินกู้ให้แก่โจทก์ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 421,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1.25 ต่อเดือน จากต้นเงิน 300,000 บาท นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเงินจำนวน 372,702.75 บาท ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดเงินดังกล่าวของจำเลยไว้เนื่องจากจำเลยถูกพิทักษ์ทรัพย์ในคดีที่จำเลยถูกโจทก์ฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายเพราะจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์ มาชำระหนี้โจทก์คดีนี้
จำเลยยื่นคำร้อง ขอให้เพิกถอนคำสั่งยึดอายัดเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลยและคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่จำเลย
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งว่า เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลยเข้าเป็นทรัพย์สินของลูกหนี้ในคดีล้มละลายเงินดังกล่าวจึงไม่มีสภาพเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ กรณีไม่ต้องด้วยมาตรา 286(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการยึดเงินเดือนและเงินบำเหน็จจำนวน 372,702.75 บาท ที่โจทก์นำยึด และคืนให้แก่จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า เงินจำนวน372,702.75 บาท ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดมาจากเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลยในคดีล้มละลาย ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) หรือไม่ เห็นว่า ที่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติว่าภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น สิทธิเรียกร้องเป็นเงินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง บำนาญ บำเหน็จ และเบี้ยหวัดของข้าราชการหรือลูกจ้างของรัฐบาล และเงินสงเคราะห์หรือบำนาญที่รัฐบาลได้จ่ายให้แก่คู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลเหล่านั้น ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี ซึ่งมีผลทำให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไม่มีสิทธิอายัดเงินเช่นว่านั้นเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษา ก็โดยมีเจตนารมณ์จะให้ข้าราชการและลูกจ้างของรัฐบาลทั้งที่ยังรับราชการอยู่และพ้นจากราชการไปแล้ว ตลอดจนคู่สมรสหรือญาติที่ยังมีชีวิตอยู่ของบุคคลเหล่านี้ที่ตามกฎหมายมีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์หรือบำนาญได้มีเงินเลี้ยงชีพ การที่นำเงินเช่นว่านั้นมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของบทมาตราดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าเงินที่โจทก์นำยึดเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จของจำเลย ซึ่งเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และมาตรา 121 โดยที่ไม่ปรากฏว่าได้มีการนำเงินจำนวนดังกล่าวไปปะปนกับเงินจำนวนอื่นของจำเลยจนแยกไม่ออกว่าเงินส่วนไหนเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จ ดังนั้น เงินจำนวนดังกล่าวที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อายัดไว้จึงยังคงเป็นเงินเดือนและเงินบำเหน็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) อันโจทก์จะยึดมาชำระหนี้ไม่ได้อยู่นั่นเอง การอายัดเงินดังกล่าวของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาได้ทำให้เงินดังกล่าวแปรสภาพไปจนไม่อาจได้รับความคุ้มครอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 286(2) แต่อย่างใดไม่
ที่โจทก์ฎีกาในข้อสุดท้ายว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจำเลยเป็นคำสั่งที่ผิดระเบียบ เพราะจำเลยมิได้นำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2540ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ สำเนาให้โจทก์และเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้จำเลยนำส่งสำเนาอุทธรณ์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ แม้จำเลยจะมิได้นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามคำสั่งของศาลชั้นต้นอันจะถือว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ก็ตาม แต่ศาลชั้นต้นก็หามีอำนาจที่จะสั่งจำหน่ายคดีที่เลยยื่นอุทธรณ์ไว้แล้วได้ไม่เพราะเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์โดยเฉพาะที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ซึ่งศาลชั้นต้นก็ได้มีคำสั่งลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2541 ให้ส่งสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งในเรื่องดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้จึงหาใช่คำสั่งที่ผิดระเบียบดังที่โจทก์อ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่ ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยนั้น ก็เป็นดุลพินิจที่ศาลอุทธรณ์กระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะไม่มีบทกฎหมายใดบังคับว่าศาลอุทธรณ์จะต้องจำหน่ายคดีหรือไม่มีอำนาจวินิจฉัยและพิพากษาอุทธรณ์ของจำเลยดังที่โจทก์อ้างในฎีกา ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน