คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 741/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 เป็นหนึ่งในจำนวน 5 คน ที่ได้รับแต่งตั้งจากสหกรณ์โจทก์ให้เป็นผู้มีอำนาจฝากเงินและถอนเงินจากธนาคารจำเลยที่ 3 ได้ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค ถอนเงินจากธนาคาร ก. เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้ธนาคาร ส. แล้วจำเลยที่ 1ยักยอกเงินดังกล่าวไป แม้ทางปฏิบัติจำเลยที่ 3 ต้องถอนเงินพร้อมจำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 3 ได้ให้ ห. ซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 ไปถอนเงินกับจำเลยที่ 1ถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วมิได้ประมาทเลินเล่อ จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์การเกษตรจดทะเบียนเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2512 มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกดำเนินการร่วมกันและช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่สมาชิกทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม ให้เงินกู้และสินเชื่อแก่สมาชิกและอื่น ๆ อีกหลายประการ การดำเนินการของโจทก์กระทำโดยที่ประชุมใหญ่เลือกสมาชิกเป็นกรรมการดำเนินการคณะหนึ่ง มีจำนวนอย่างน้อย 7 คน อย่างมากไม่เกิน 15 คน เป็นผู้แทนโจทก์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้คณะกรรมการคนหนึ่งหรือหลายคน หรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้โจทก์มีคณะกรรมการดำเนินการ 15 คน โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยที่ 1ให้กระทำการในตำแหน่งผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 626 เล่ม 7 ก.หน้า 26 เลขที่ดิน 100 ตำบลหนองปล่อง อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนองไว้กับโจทก์เป็นเงิน60,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นสมาชิกโจทก์ และได้รับเลือกให้เป็นกรรมการดำเนินการมีตำแหน่งเป็นเลขานุการคณะกรรมการดำเนินการ และผูกพันตนกับโจทก์ในการปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับ ถ้าคณะกรรมการไม่ว่าทั้งคณะหรือรายบุคคลกระทำหรือละเว้นกระทำการ หรือประมาทเลินเล่ออันเป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย กรรมการทั้งคณะหรือรายบุคคลต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจนครบ โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์หลายแห่งรวมทั้งธนาคารกสิกรไทย สาขานางรอง เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2529 คณะกรรมการดำเนินการได้ลงมติแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 นายแก้ว นาคะพงษ์ นายบัวลา ศรชัย และนายนพดลศรีผดุง เป็นผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในการถอนเงินจากธนาคารต่าง ๆได้ โดยในการถอนเงินต้องมีบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งลงลายมือชื่อ 2ใน 5 ของผู้มีอำนาจ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2529 โจทก์มีความประสงค์จะถอนเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวัน เลขที่ 0-0812-8 ของธนาคารกสิกรไทย สาขานางรอง เพื่อนำไปชำระหนี้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาบุรีรัมย์ จำเลยที่ 1และที่ 3 จึงได้ร่วมกันลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คของธนาคารกสิกรไทยสาขานางรอง เลขที่ 6902321 ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2529 จำนวนเงิน650,000 บาท จากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ และด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ของจำเลยที่ 3 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับและประเพณีปฏิบัติของโจทก์โดยมิได้ระบุในเช็คว่าสั่งจ่ายให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาบุรีรัมย์ พร้อมกับขีดคำว่าผู้ถือออก จำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่ 1 นำเช็คดังกล่าวไปขึ้นเงินที่ธนาคารแต่ผู้เดียว เมื่อธนาคารจ่ายเงินตามเช็คให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้เอาเงินทั้งหมดของโจทก์จำนวน650,000 บาท ไปเป็นประโยชน์ของตนโดยไม่มีสิทธิและหลบหนีไปทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย หากจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังไปเบิกเงินตามเช็คร่วมกับจำเลยที่ 1 เมื่อเบิกได้แล้วร่วมกันนำเงินไปชำระหนี้ หรือมิฉะนั้นก็จัดซื้อตั๋วแลกเงินเพื่อชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาบุรีรัมย์จำเลยที่ 1 ก็จะไม่มีโอกาสนำเงินของโจทก์ไปเป็นประโยชน์ส่วนตนจำเลยที่ 3 สามารถที่จะใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้แต่หาได้ใช้ไม่ จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ตามสัญญาให้โจทก์ ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2530 เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 ได้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินคืนแก่โจทก์ จำนวน 130,000 บาท คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ต้องชดใช้ให้โจทก์จำนวน 520,000 บาทขอให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันชดใช้เงินให้โจทก์จำนวน 526,974.17บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 3ชำระเงินให้โจทก์จำนวน 60,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นโจทก์ขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้รับเลือกให้เป็นเลขานุการของคณะกรรมการโจทก์ และที่ประชุมใหญ่ลงมติให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คร่วมกับกรรมการโจทก์คนใดคนหนึ่งได้การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 3 มิได้รับเงินเดือนหรือค่าตอบแทนจากโจทก์แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 ได้ลงลายมือชื่อในเช็คร่วมกับจำเลยที่ 1 จริง ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามมติของโจทก์ที่มอบหมายหน้าที่ให้ และจำเลยที่ 3 ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบ หาได้ประมาทเลินเล่อตามที่โจทก์ฟ้องไม่ การที่เกิดความเสียหายขึ้นครั้งนี้เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ทุจริตแต่เพียงผู้เดียว จำเลยที่ 3 หามีส่วนเกี่ยวข้องด้วยไม่ และเป็นการกระทำในฐานะของคณะกรรมการจึงหาต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวไม่ โจทก์ไม่มีข้อบังคับหรือคำสั่งว่าการลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คต้องระบุว่าจ่ายเงินให้แก่ธนาคารหรือเจ้าหนี้รายใด หรือต้องขีดคร่อมเช็คแต่อย่างใด ดังนั้นการที่จำเลยที่ 3ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเช็ค จึงมิใช่ความประมาทของจำเลยที่ 3 หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียวจำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงิน 460,000 บาท นับตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 460,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่4 กุมภาพันธ์ 2530 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อเดียวว่าจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ด้วยหรือไม่ ในเบื้องต้นจำเป็นจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยที่ 3 ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 ถอนเงินของโจทก์จากธนาคารกสิกรไทย สาขานางรอง เพื่อจะนำไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขาบุรีรัมย์ แล้วถูกจำเลยที่ 1 ยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปนั้น เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 3เป็นคนหนึ่งในจำนวน 5 คน ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจฝากเงินและถอนเงินจากธนาคารตามมติที่ประชุมคณะกรรมการของโจทก์ลงวันที่ 25 มิถุนายน 2529 ระเบียบวาระที่ 8 ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม2529 จำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อร่วมกับจำเลยที่ 3 สั่งจ่ายเช็คถอนเงินจากธนาคารกสิกรไทย สาขานางรอง จำนวน 650,000 บาท เพื่อจะนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรสาขาบุรีรัมย์ ในทางปฏิบัติเมื่อถอนเงินมาแล้วจะต้องซื้อเป็นตั๋วแลกเงินระบุชื่อผู้รับเงินแล้วจึงนำตั๋วแลกเงินไปชำระหนี้กรณีในคดีนี้จำเลยที่ 3 ควรไปถอนเงินที่ธนาคารพร้อมกับจำเลยที่ 1แต่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ไปด้วยจึงเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถอนเงินมาแล้วไม่ได้ซื้อตั๋วแลกเงินและได้ยักยอกเอาเงินดังกล่าวไป นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ที่23/2518 กล่าวคือ ตอนไปถอนเงินมิได้แจ้งให้พนักงานส่งเสริมสหกรณ์ทราบก่อน และมิได้ปฏิบัติตามหนังสือเวียนของนายทะเบียนสหกรณ์ซึ่งห้ามมิให้ผู้มีอำนาจถอนเงินลงลายมือชื่อไว้ในใบถอนเงินล่วงหน้าตามเอกสารหมาย จ.15 ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3ลงลายชื่อในใบถอนเงิน (เช็ค) ในวันเดียวกัน มิได้ลงชื่อไว้ล่วงหน้าแต่อย่างใด ในข้อนี้จึงถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ปฏิบัติถูกต้องตามระเบียบแล้ว สำหรับคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์ตามเอกสารหมาย จ.14ที่ว่าการรับและส่งเงินสดหรือจ่ายเงินสดของสหกรณ์ ถ้าจำนวนเงินตั้งแต่ 10,000 บาท ขึ้นไปต้องแจ้งให้พนักงานส่งเสริมสหกรณ์ทราบนั้น มีปรากฏอยู่ในบันทึกรายงานการประชุมคณะกรรมการเอกสารหมาย จ.8 ระเบียบวาระที่ 8 ซึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 3 ก็ได้เข้าร่วมประชุมด้วย จึงทราบระเบียบปฏิบัติดังกล่าวแล้ว แต่ตามระเบียบดังกล่าวมิได้ระบุว่าใครจะต้องเป็นคนไปแจ้ง ดังนั้นในการถอนเงินรายนี้เพียงแต่ผู้ลงลายมือชื่อถอนเงินคนใดคนหนึ่งเป็นผู้แจ้งต่อพนักงานส่งเสริมสหกรณ์ ก็ย่อมถือได้ว่าปฏิบัติตามมติของที่ประชุมและคำสั่งของนายทะเบียนสหกรณ์แล้ว กรณีในคดีนี้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการของโจทก์ มีหน้าที่ต้องปฏิบัติกิจการของโจทก์ให้ถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับเอกสารหมาย จ.3 ข้อ 54(3) และในขณะที่จำเลยที่ 1 นำเช็คไปให้จำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อร่วมกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 3 กำลังจะเข้าประชุมกรรมการสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์สมาชิกเกษตรนางรอง จำเลยที่ 3 ได้ให้นายห่วง จันทร์คง ซึ่งเป็นสมาชิกของโจทก์เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3ไปถอนเงินกับจำเลยที่ 1 นายห่วงซึ่งเป็นพยานของจำเลยที่ 3ก็เบิกความรับรองว่า พยานได้ไปถอนเงินกับจำเลยที่ 1 ที่ธนาคารกสิกรไทย สาขานางรอง จริง จึงเห็นได้ว่า จำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว ส่วนหน้าที่ในการแจ้งต่อพนักงานส่งเสริมสหกรณ์ในภาวะเช่นนั้น สมควรต้องเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 3 ก็ได้สั่งกำชับจำเลยที่ 1 แล้วว่าก่อนไปถอนเงินให้แจ้งพนักงานส่งเสริมสหกรณ์เสียก่อน อีกทั้งจำเลยที่ 1 เองก็ทราบระเบียบข้อนี้ดีอยู่แล้ว ฉะนั้น ในพฤติการณ์เช่นนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ตามสมควรที่วิญญูชนทั่วไปพึงกระทำแล้ว จำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อและการกระทำของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวก็มิได้ส่อพิรุธให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 ได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด ส่วนการที่มิได้ซื้อตั๋วแลกเงินเพื่อนำไปชำระหนี้นั้น ทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏชัดแจ้งว่ามีระเบียบข้อบังคับดังกล่าวไว้อย่างไรหากต้องปฏิบัติก็เป็นเรื่องที่อยู่ในหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยตรงและเป็นเรื่องภายหลังการถอนเงินซึ่งศาลฎีการับฟังมาแล้วว่าจำเลยที่ 3 มิได้ประมาทเลินเล่อ ประกอบกับนายแก้ว นาคะพงษ์ซึ่งเป็นพยานโจทก์และเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ดำเนินคดีนี้ก็ได้เบิกความเกี่ยวกับความประพฤติของจำเลยที่ 3 ในฐานะที่เป็นเพื่อนร่วมงานมาด้วยกันหลายปีตลอดมาจนปัจจุบันว่า จำเลยที่ 3ทำงานให้แก่โจทก์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตตลอดมาเป็นเวลานาน10 ปีเศษ โดยไม่เคยก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ และการทำงานก็ไม่มีเงินเดือนหรือค่าจ้าง ค่าเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวจึงเจือสมกับพยานของจำเลยที่ 3 ทำให้พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3มีเหตุผลในการรับฟังมากยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับพยานหลักฐานของโจทก์แล้ว เห็นว่า พยานหลักฐานของจำเลยที่ 3 มีน้ำหนักในการรับฟังดีกว่าตามที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3

Share