คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1654/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ลงจากบ้านของ ช. ผู้ตายไปแล้วประมาณ 20 นาที จึงได้กลับมาใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายดังกล่าวทันทีโดยมิได้พูดจากับใครอีกแสดงว่าจำเลยที่ 1 ตระเตรียมวางแผนมายิงผู้ตายและผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำโดย ไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4)
ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายต่อเนื่องกันทีละคนโดยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการทารุณโหดร้ายแต่ละคนนั้น แม้จะมีผู้ถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยยิงถึง 7 คน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้ายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(5).(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2529 เวลากลางคืนหลังเที่ยงจำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันมีอาวุธปืนสั้นรีวอลเวอร์ ขนาด .38 ไม่มีหมายเลขทะเบียน 1 กระบอกกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 6 นัด อาวุธปืนสั้นออโตเมติกขนาด .45 หมายเลขทะเบียน กท. 1823510 จำนวน 1 กระบอกและกระสุนปืนขนาด .45 จำนวน 14 นัด ซึ่งเป็นของผู้อื่นไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต พาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนดังกล่าวติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวไป โดยไม่มีเหตุสมควรหรือความจำเป็นเร่งด่วนและจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิงนายชงยาทิพย์ นายกมล เกตุฉลวย หรือเอกฉลวย นายชูศักดิ์ ท่าล้อ นายนายสืบศักดิ์ เพิ่มทรัพย์ นายเส็ง หรือเซ้ง อารีเอื้อ หรืออารีย์เอื่อนายทรงศักดิ์ อิมฤทัย นางศรีนวล จิตรโชติ ผู้ตายและนายหรรษาSเอี่ยมละออ ผู้เสียหายหลายนัด โดยเจตนาฆ่าและไตร่ตรองไว้ก่อนด้วยการกระทำทารุณโหดร้ายโดยการยิงต่อเนื่องกันทีละคนกระสุนปืนถูกผู้ตายและผู้เสียหายเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย และผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัสแต่ไม่ถึงแก่ความตาย เหตุเกิดที่ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289(4)(5),80, 83, 91, 32, 33 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 6, 7 ริบของกลาง เว้นเสื้อ กางเกงผ้าขาวม้า รถจักรยานยนต์ และไพ่ป๊อก คืนเจ้าของ
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 6 จำคุก 1 ปี กระทงหนึ่งและลงโทษตามมาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3.7 จำคุก 6 เดือนกระทงหนึ่ง และมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4)(5)และมาตรา 289(4)(5), 80 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289(4)(5)ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตอีกกระทงหนึ่ง รวม 3 กระทง ประหารชีวิตและจำคุก 1 ปี 6 เดือน จำเลยที่ 3 ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา พยานโจทก์ก็มีน้ำหนักมั่นคงพอที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ โดยไม่ต้องอาศัยคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นการฆ่าคนซึ่งไม่มีสาเหตุกันคราวเดียวถึง 7 คน และคนหนึ่งเป็นหญิงมีครรภ์เป็นการกระทำโหดร้ายทารุณ ไม่มีเหตุที่จะลดโทษให้ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คืนเสื้อ กางเกง ผ้าขาวม้า รถจักรยานยนต์และไพ่ป๊อก 7 ใบ ของกลางแก่เจ้าของ ของกลางอื่นนอกจากนี้ให้ริบ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาทุกกรรม ให้เรียงกระทงลงโทษ และผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกาขอให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้องได้มีคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงนายชงยาทิพย์ นายกมล เกตุฉลวย นายชูศักดิ์ ท่าล้อ นายสืบศักดิ์เพิ่มทรัพย์ นายเส็ง อารีย์เอื้อ นายทรงศักดิ์ อิ่มฤทัย นางศรีนวล จิตรโชติ ถึงแก่ความตายและยิงนายหรรษาเอี่ยมละออได้รับอันตรายสาหัส ปรากฏบาดแผลตามรายงานการชันสูตรพลิกศพและรายงานผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ท้ายฟ้องพนักงานสอบสวนยึดปลอกกระสุนปืน ขนาด 11 มม. มาจำนวน 12 ปลอก หัวกระสุนปืนขนาด 11 มม. 6 หัว หัวกระสุนปืนขนาด .38 จำนวน 1 หัว ในที่เกิดเหตุเป็นของกลาง ต่อมานางเง็ก เวชวงศ์ มารดาจำเลยที่ 1 ได้นำอาวุธปืนสั้นออโตเมติกขนาด 11 มม. 1 กระบอก ของบิดาจำเลยที่ 1มามอบให้พนักงานสอบสวนเป็นของกลางพนักงานสอบสวนได้ส่งอาวุธปืน ปลอกกระสุนปืน และหัวกระสุนปืน ขนาด 11 มม. ของกลางไปทำการตรวจพิสูจน์ ปรากฏว่าปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนของกลางใช้ยิงจากอาวุธปืนของกลาง สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1นั้น ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เพียงระบุวรรคให้ถูกต้องและให้ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดในข้อหาดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยกระทำทารุณโหดร้ายหรือไม่ และมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์จำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 หรือไม่โจทก์มีประจักษ์พยานก่อนเกิดเหตุคือนางฉลวย ยาทิพย์ นายศิวะ มณีวงษ์ นายชัยยะ ภูเขียว นายประกอบ แจ้งจิตร์และนายไพโรจน์ ยาทิพย์ เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุเวลาประมาณ22 นาฬิกา ขณะที่นายศิวะ นายเส็ง นายสืบศักดิ์และนายชัยยะนั่งเล่นไพ่รัมมี่อยู่ที่นอกชานบ้านของนายชงโดยเปิดไฟฟ้าขนาด 40 แรงเทียนไว้ที่นอกชานบ้าน 1 ดวง จำเลยที่ 3 ได้ขึ้นมาบนบ้านนายชงและพูดกับนายชงและนายประกอบด้วยเสียงอันดังเกี่ยวกับเรื่องหวยเลขท้าย 3 ตัว และเอาหนังสือให้หวยเลขท้าย 3 ตัวให้นายศิวะ กับพวกดู นายศิวะได้พูดต่อว่าจำเลยที่ 3 ที่ทำให้ชักช้านและพูดให้ของลับแก่จำเลยที่ 3 ทั้งไล่จำเลยที่ 3 กลับบ้าน จึงเกิดการโต้เถียงกันขึ้น ระหว่างจำเลยที่ 3 กับนายศิวะ นางฉลวยและนายชงได้พูดห้ามปรามจำเลยที่ 3และบอกให้กลับบ้านจำเลยที่ 3 ก็ลงจากบ้านนายชงไป ต่อมาจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ได้มาที่บ้านนายชงจำเลยที่ 1พูดว่าใครวะ นายศิวะตอบว่ากูเอง และพูดกับจำเลยที่ 1 ว่ากูไม่เกี่ยวกับไอ้ไกร (หมายถึงจำเลยที่ 1) จำเลยที่ 1 พูดว่าเออไม่เป็นไร นายฉลวยจึงกอดเอวจำเลยที่ 1 แล้วนางฉลวยกับนายชงได้พูดห้ามปรามจำเลยที่ 1 ไม่ให้มีเรื่องกันและบอกให้จำเลยที่ 1 กลับบ้าน จากนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 3 ก็ลงจากบ้านนายชงไป ขณะที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ลงจากบ้านนายชงนายไพโรจน์ซึ่งพักอาศัยอยู่ในห้องชั้นล่างของบ้านนายชงและออกมาจากห้องไปเข้าห้องน้ำนอกบ้านนายชงได้กลับมาพอดีเห็นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนกันมีอาการมึนเมา จึงเดินเข้าไปหาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 พูดทำนองต่อว่านายไพโรจน์ที่ออกมาจากห้องพัก นายไพโรจน์เข้าใจว่าจะมีเรื่องกันจึงพูดขอร้องจำเลยที่ 1 ไม่ให้มีเรื่องกันจำเลยที่ 1 พูดว่าถ้าได้ยินเสียงอะไรไม่ต้องออกมา จากนั้นจำเลยที่ 1 กับพวกก็เดินออกไปจากบ้านนายชง และยังได้ความจากคำเบิกความของนายมานะ บุญศิริ กับนายประสิทธิ์ คุ้มทรัพย์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเพื่อนกับจำเลยที่ 1 และได้ดื่มสุราที่บ้านจำเลยที่ 3ก่อนเกิดเหตุว่า ได้ไปตามจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ที่บ้านนายชงซึ่งไปปรับความเข้าใจกับนายศิวะให้กลับมาบ้านจำเลยจำเลยที่ 3 ก่อนเกิดเหตุตามคำขอร้องของภริยาจำเลยที่ 3ศาลฎีกาเห็นว่า พยานโจทก์ดังกล่าวต่างรู้จักและไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 มาก่อนเกิดเหตุจึงเชื่อว่า ในคืนเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 3 ได้เกิดโต้เถียงกับนายศิวะที่บ้านของนายชงและต่อมาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ได้ไปปรับความเข้าใจกับนายศิวะที่บ้านนายชงจริง โจทก์มีประจักษ์พยานขณะเกิดเหตุ 2 ปากคือนางฉวีวรรณ เพิ่มทรัพย์ และสามเณรอมรศักดิ์ เพิ่มทรัพย์ (บวชเป็นสามเณรภายหลังจากเกิดเหตุ)ต่างเบิกความยืนยันว่าขณะที่นางฉวีวรรณและสามเณรอมรศักดิ์นอนหลับอยู่ในห้องโถงบ้านนายชงซึ่งเปิดไฟนีออนขนาด 20แรงเทียนไว้ 3 ดวงได้ยินเสียงร้องของนางฉลวยและเสียงปืน 1นัด จึงตกใจตื่นเห็นนายเส็งเดินมาล้มลงตรงหน้า นางฉวีวรรณและสามเณรอมรศักดิ์มองไปที่ประตูห้อง เห็นจำเลยที่ 1 ถืออาวุธปืนสั้น 2 กระบอก มือละกระบอกยืนอยู่ที่หน้าประตู แล้วจำเลยที่ 1 ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายกมลและนายชูศักดิ์กระสุนปืนถูกนายสืบศักดิ์ที่ตาตุ่มซ้าย จากนั้นจำเลยที่ 1 ก็ลงจากบ้านนายชงไป นายสืบศักดิ์ถูกกระสุนปืนเดินไม่ได้ นางฉวีวรรณจึงเดินออกไปทางประตูหลังบ้านนายชงเพื่อหารถนำนายสืบศักดิ์ส่งโรงพยาบาล ส่วนสามเณรอมรศักดิ์คงอยู่กับนายสืบศักดิ์จำเลยที่ 1 ได้เข้ามาในห้องโถงอีกและใช้อาวุธปืนยิงนายสืบศักดิ์ที่ศีรษะ 1 นัด จากนั้นจำเลยที่ 1ได้ไปยิงนายทรงศักดิ์และนางศรีนวลซึ่งนอนอยู่บนเตียงในห้องโถงแล้วจำเลยที่ 1 ก็ลงจากบ้านนายชงไป ศาลฎีกาเห็นว่าขณะเกิดเหตุไฟนีออนในห้องโถงเปิดสว่างถึง 3 ดวง จึงเชื่อว่านางฉวีวรรณและสามเณรอมรศักดิ์จำคนร้ายที่ยิงนายกมลนายชูศักดิ์ นายสืบศักดิ์ นายทรงศักดิ์ และนางศรีนวลผู้ตายได้ว่าเป็นจำเลยที่ 1 นางฉวีวรรณและสามเณรอมรศักดิ์ไม่รู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อนเกิดเหตุจึงไม่มีเหตุระแวงสงสัยว่าพยานโจทก์ทั้งสองจะปรักปรำจำเลยที่ 1 ทั้งยังปรากฏว่าปลอกกระสุนปืนและหัวกระสุนปืนขนาด 11มม. ของกลางที่พนักงานสอบสวนพบในที่เกิดเหตุใช้ยิงจากอาวุธปืนของกลางซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 พยานโจทก์ที่นำสืบมั่นคงเพียงพอฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายจริง พยานหลักฐานที่อยู่ของจำเลยที่ 1 ไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1ที่ลงจากบ้านนายชงไปแล้วประมาณ 20 นาที จึงได้กลับมาใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายดังกล่าวทันทีโดยมิได้พูดจากับใครอีก แสดงว่าจำเลยที่ 1 ตระเตรียมวางแผนมายิงผู้ตายและผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) แต่การที่จำเลยที่ 1 ยิงผู้ตายและผู้เสียหายต่อเนื่องกันทีละคนโดยไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นการทารุณโหดร้ายแต่ละคนนั้น แม้จะมีผู้ถึงแก่ความตายเพราะถูกจำเลยยิงถึง 7 คน ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำทารุณโหดร้าย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา289(5) ด้วยสำหรับจำเลยที่ 3 นั้นโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ฆ่าผู้ตาย ใช้ให้จำเลยที่ 1ไปฆ่าผู้ตายหรือกระทำการอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดก่อนหรือในขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด………………….
อนึ่งที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลงโทษประหารชีวิตและจำคุกจำเลยที่ 1 นั้นเมื่อลงโทษประหารชีวิตแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษจำคุกมารวมอีกได้และเรื่องนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าอาวุธปืนที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเฉพาะกระบอกที่มีหมายเลขทะเบียนซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 เท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มาตรา72 วรรคสาม โจทก์มิได้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ปรับบทว่าจำเลยที่1 มีความผิดตามมาตรา 72 วรรคหนึ่ง จึงไม่ถูกต้อง สมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง’
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 289(4) และ 289(4) ประกอบมาตรา 80 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเที่ยมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม 72 ทวิ วรรคสองที่แก้ไขแล้ว เมื่อลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่นำโทษจำคุกมารวม คงให้ประหารชีวิต จำเลยที่ 1 สถานเดียว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share