คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2662/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 สามคราวโดยทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้สามฉบับ ลงวันที่ต่างกัน และแนบสำเนาสัญญามาท้ายฟ้องจำเลย 3 ให้การปฏิเสธไม่รับรองสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง และว่าได้เคยทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้ครั้งเดียวจึงขอปฏิเสธฟ้องของโจทก์ว่าไม่เป็นความจริง ดังนี้ ถือว่าคำให้การของจำเลยที่ 3 ไม่ชัดแจ้งว่า ทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้คราวใดรับหรือปฏิเสธสำเนาสัญญาท้ายฟ้องฉบับไหน เพียงใดหรือไม่จึงเป็นคำให้การปฏิเสธลอย ไม่มีประเด็นที่จำเลยที่ 3 จะนำสืบได้การที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 3 นำสืบ และให้พิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน ทั้งที่จำเลยที่ 3ไม่มีสิทธินำสืบ และไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นในเรื่องลายมือชื่อในสัญญาไว้ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาและนอกประเด็นพิพาทรับฟังไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ ๑ ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารโจทก์รวมสามคราว โดยมีจำเลยที่ ๓ เข้าผูกพันรับเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดเป็นลูกหนี้ร่วมตามสำเนาสัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องหมายเลข ๕, ๖, ๗ต่อมาเมื่อคิดหักทอนบัญชีกัน จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้โจทก์อยู่ ๓๗๑,๙๗๗ บาทโจทก์ทวงถามแล้วจำเลยไม่ชำระ จึงขอให้จำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ ซึ่งเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดของ จำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกัน ร่วมกันรับผิดชำระเงินดังกล่าวพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การ และขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า สัญญาค้ำประกันท้ายฟ้องหมายเลข ๕, ๖, ๗จะมีข้อความถูกกับต้นฉบับตัวจริงหรือไม่ จำเลยไม่รับรอง เพราะสัญญาคู่ฉบับไม่มีอยู่ที่จำเลย จำเลยจำได้แน่นอนว่าได้เคยทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ให้ไว้แก่โจทก์ครั้งเดียว ในการที่จำเลยที่ ๑ ขอกู้และเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารโจทก์ และในสัญญานั้นได้ระบุเรื่องระยะเวลาจำกัดเพียง ๑ ปีเท่านั้นดังนั้น เมื่อคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า จำเลยที่ ๓ เข้าทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ถึงสามคราว เป็นเอกสาร ๓ ฉบับ จึงขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริงทั้งโจทก์ละเลยไม่ทวงถามเรียกหนี้สินจากจำเลยที่ ๑ ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด๑ ปี จำเลยที่ ๓ ย่อมหลุดพ้นจากการค้ำประกันตามเงื่อนเวลาดังกล่าวส่วนดอกเบี้ยนั้น เมื่อครบกำหนด ๑ ปีแล้ว การคิดดอกเบี้ยทบต้นต้องระงับโจทก์จะเรียกได้เพียงอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีเท่านั้น ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งสามฉบับที่ฟ้อง พร้อมทั้งดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันผิดนัด และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีโดยไม่ทบต้น ตั้งแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจำเลยจะชำระเงินเสร็จ ส่วนจำเลยที่ ๓ นั้น ศาลชั้นต้นเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าได้ทำสัญญาค้ำประกันครั้งที่ ๒ และ ๓ให้โจทก์ไว้ตามเอกสาร จ.๖ จ.๑๐ พิพากษาให้จำเลยที่ ๓ ร่วมรับผิดชำระเงินเพียงในวงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท
โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ ๓ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ รับผิดเต็มจำนวนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำให้การของจำเลยที่ ๓ ที่ว่า ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้จริงเพียงครั้งเดียว อีก ๒ ครั้งปฏิเสธ นั้นจำเลยไม่แสดงโดยชัดแจ้งว่าไม่ได้ทำให้โจทก์ไว้เพราะเหตุใด เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรค ๒ จึงไม่มีประเด็นที่จะนำสืบได้ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ ๓ นำสืบและส่งพิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาเป็นการไม่ถูกต้องพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ ๓ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ชดใช้เงินให้แก่โจทก์ในวงเงิน ๒๕๐,๐๐๐ บาทตามสัญญาค้ำประกันทั้งสามฉบับ พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๔ ต่อปีนับแต่วันผิดนัดไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยที่ ๓ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับจำเลยที่ ๓ บรรยายว่าจำเลยที่ ๓ ยอมตนเข้าผูกพันค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ทั้งสามคราว ได้ทำสัญญาค้ำประกันให้แก่โจทก์ไว้ ๓ ฉบับ เป็นเงิน๒๕๐,๐๐๐ บาท กับได้แนบสำเนาสัญญาดังกล่าวมาท้ายฟ้อง จำเลยที่ ๓คงให้การปฏิเสธเพียงว่า ไม่รับรองสำเนาสัญญาท้ายฟ้อง และว่าจำได้แน่นอนว่าได้เคยทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ไว้ครั้งเดียว ระบุเวลาจำกัดเพียง ๑ ปีฟ้องโจทก์ว่าจำเลยที่ ๓ ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ ๑สามคราวเป็นเอกสาร ๓ ฉบับ จึงขอปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง ดังนี้คำให้การของจำเลยที่ ๓ ไม่ชัดแจ้งว่าทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ไว้คราวใดรับหรือปฏิเสธสำเนาสัญญาท้ายฟ้องฉบับไหนเพียงใดหรือไม่คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ ๓ ปฏิเสธ คำให้การของจำเลยที่ ๓ จึงเป็นคำให้การปฏิเสธลอยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบได้ ที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ ๓ นำสืบ และให้พิสูจน์ลายมือชื่อในสัญญาค้ำประกัน ทั้งที่จำเลยที่ ๓ ไม่มีสิทธินำสืบ และมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นในเรื่องลายมือชื่อในสัญญาไว้ จึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา และนอกประเด็นพิพาท รับฟังไม่ได้ และเมื่อคดีฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ ๓ ได้ทำสัญญาค้ำประกันการกู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ ๑ ให้แก่โจทก์ไว้ทั้งสามคราว จำเลยที่ ๓ จึงต้องรับผิดตามสัญญาดังกล่าว
พิพากษายืน

Share