แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 เป็นสหกรณ์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีคณะกรรมการดำเนินงานเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนเมื่อ คณะกรรมการดำเนินงานได้มีมติตามข้อบังคับของโจทก์ที่ 1 มอบหมายให้กรรมการ 2 นายเป็นผู้ดำเนินคดีกับจำเลยแทนโจทก์ที่ 1 แล้ว โจทก์ที่ 1 โดยกรรมการ 2 นายนั้นก็ฟ้องจำเลยได้ หาเป็นการขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 801(5) ไม่
โจทก์ที่ 1 มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดซื้อข้าวโพดคนเดียวจำเลยที่ 2 เข้าไปร่วมซื้อข้าวโพดกับจำเลยที่ 1 เองโดยไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ 1 ในเรื่องที่ขอรับเงินทดรองไปซื้อข้าวโพดส่งไปเหมือนกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าซื้อข้าวโพดส่งไปจากโจทก์ที่ 1
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นสั่งพิจารณารวมกัน ศาลฎีกาเรียกสหกรณ์การเกษตรหนองไผ่ จำกัด ซึ่งเป็นโจทก์ในสำนวนแรก และเป็นจำเลยที่ ๑ ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ ๑ นายสนิท มิ่งทัศน์ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ ๒ นายประมวล บัณฑิตเนตร ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๓ในสำนวนหลังว่าโจทก์ที่ ๓ และเรียกนายหวาน นาคะบุตร ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๑ในสำนวนแรกและเป็นโจทก์ที่ ๑ ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ ๑ นายวิชัยปอยเทียบ ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกและเป็นโจทก์ที่ ๒ ในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ ๒ นายสิงห์โต ศรีบุตรดี ซึ่งเป็นจำเลยที่ ๓ ในสำนวนแรกว่าจำเลยที่ ๓
สำนวนแรกโจทก์ที่ ๑ ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับจำเลยที่ ๑ ชำระเงิน ๒๗๐,๙๖๔.๕๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยที่ ๑ จะได้ชำระเงินให้โจทก์ที่ ๑ เสร็จถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระก็ให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ได้จำนองไว้กับโจทก์ที่ ๑ เป็นการประกันการชำระหนี้จำเลยที่ ๑ ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ที่ ๑
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า ตัวแทนของโจทก์ที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง การมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฯลฯ
สำนวนหลัง จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ฟ้องโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ขอให้ศาลพิพากษาบังคับโจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ชำระเงินค่าข้าวโพด ๓๘๗,๒๔๒ บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ ๒จำเลยที่ ๑ ยังเป็นลูกหนี้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒๗๐,๙๖๔.๕๒ บาท ซึ่งโจทก์ที่ ๑ได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ในสำนวนแรก ฯลฯ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ ในสำนวนแรก และยกฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในสำนวนหลัง
โจทก์ที่ ๑ และจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ต่างอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยที่ ๑ชำระเงินให้แก่โจทก์ที่ ๑ ๒๗๐,๙๖๔.๕๒ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะได้ชำระเงินเสร็จ ถ้าจำเลยที่ ๑ ไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ได้จำนองไว้กับโจทก์ที่ ๑ ออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้ให้โจทก์ที่ ๑ ในวงเงิน ไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาทนอกจากที่แก้นี้แล้วให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ฎีกาทั้งสองสำนวน
ปัญหาในชั้นฎีกาว่า โจทก์ที่ ๑ มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ หรือไม่จำเลยที่ ๒ มีอำนาจฟ้องโจทก์ที่ ๑ หรือไม่ และโจทก์ที่ ๑ เป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้จำเลยที่ ๑ หรือไม่
คดีได้ความว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นสหกรณ์ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ มาตรา ๒๔ บัญญัติว่าให้มีคณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์ จำกัด คณะหนึ่งประกอบด้วยกรรมการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกเป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ จำกัด ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกเพื่อการนี้คณะกรรมการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๙ บัญญัติว่านิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ต่าง ๆ ต้องตามบทบัญญัติทั้งปวงแห่งกฎหมาย ภายในขอบวัตถุที่ประสงค์ของตน ดังมีกำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง มีข้อบังคับของโจทก์ที่ ๑ ข้อ ๖๓ หน้า ๒๓ ว่าให้คณะกรรมการดำเนินการเป็นผู้ดำเนินกิจการทั้งปวงและเป็นผู้แทนของโจทก์ที่ ๑ ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ซึ่งรวมทั้งในข้อย่อยที่ (๒๗) ว่าให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ที่ ๑ หรือประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา และข้อ ๖๔หน้า ๒๓ ว่า การมอบหมายให้กรรมการทำการแทนในการดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอกคณะกรรมการดำเนินการจะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนทำการแทนก็ได้ ข้อนี้ฟังได้ว่าโจทก์ที่ ๑ โดยคณะกรรมการดำเนินการได้มีมติที่ประชุมใหญ่ครั้งที่ ๑๒ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๓ ให้นายสุบิน มีประจำ กับนายสวย จันทรโชติ ซึ่งต่างก็เป็นกรรมการฟ้องจำเลยตามสมุดรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ หน้า ๑๖๗ แล้วต่อมาคณะกรรมการดำเนินการได้มีมติที่ประชุม ครั้งที่ ๑๔ วันที่ ๕ เมษายน ๒๕๑๓ให้นายประมวล บัณฑิตเนตร เป็นผู้มีอำนาจฟ้องจำเลยแทนนายสุบินซึ่งขอถอนตัวตามสมุดรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการหน้า ๑๘๒กรณีจึงเป็นที่เห็นได้ว่า การที่คณะกรรมการดำเนินการได้มอบหมายดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งหมายความว่า นายประมวลและนายสวยได้เป็นผู้แทนของโจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคลหรือนัยหนึ่งโจทก์ที่ ๑โดยผู้แทนของนิติบุคคลได้ฟ้องคดีเอง จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๑ (๕) ดังที่จำเลยฎีกา โจทก์ที่ ๑ จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ขายข้าวโพดและมีส่วนได้เสียในหนี้สินระหว่างโจทก์ที่ ๑ กับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงมีอำนาจฟ้องโจทก์ที่ ๑ด้วยนั้น จำเลยที่ ๒ เบิกความว่า โจทก์ที่ ๑ มอบอำนาจให้จำเลยที่ ๑ จัดซื้อข้าวโพดคนเดียว จำเลยที่ ๒ เข้าไปร่วมซื้อข้าวโพดกับจำเลยที่ ๑ เอง เห็นได้ว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ ๑ ในเรื่องที่ขอรับเงินทดรองไปซื้อข้าวโพดส่งไปเหมือนกับจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเงินค่าซื้อข้าวโพดส่งไปจากโจทก์ที่ ๑
ส่วนข้อเท็จจริงนั้นศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ เป็นลูกหนี้โจทก์ที่ ๑ตามฟ้อง
พิพากษายืน