แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยฟังว่า จำเลยสำคัญผิดในข้อเท็จจริง ย่อมเท่ากับฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาที่จะกระทำความผิด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยฟังว่าเรื่องนี้โจทก์สืบได้เพียงว่าได้ทราบจากคำบอกเล่าของคนอื่นมาว่าจำเลยเป็นผู้ใช้จำเลยคนอื่นๆ จึงเป็นการชั่งน้ำหนักคำพยานว่าพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกัน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง แม้จะฟังข้อเท็จจริงต่างกัน ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันมีอาวุธบุกรุกเข้าไปในที่ดินของโจทก์เพื่อแย่งและรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุข แล้วทำลายต้นไม้ต่าง ๆ เสียหาย อันเป็นพืชของโจทก์ซึ่งมีอาชีพกสิกรรม โดยจำเลยที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นผู้ใช้จ้าง วาน ยุยง ส่งเสริม ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 363, 365(2), 358, 359(4), 83, 84, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 2
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งเจ็ดได้ร่วมกันยักย้ายหรือทำลายเครื่องหมายเขตแห่งอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 363 และจำเลยทั้งเจ็ดต่างเข้าใจโดยสุจริตว่าที่ดินและต้นไม้เป็นของวัดปราสาทเยอร์เหนือ ที่จำเลยที่ 6 เป็นเจ้าอาวาส จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 62 จำเลยทั้งเจ็ดไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2), 358, 359(4) คดีโจทก์ไม่มีมูลทุกข้อหา พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ด คดีโจทก์มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2), 358, 359(4), 83, 84, 91
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7มีมูล ส่วนจำเลยที่ 6 นั้น โจทก์สืบได้เพียงว่าได้ทราบจากคำบอกเล่าของคนอื่นมาว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ใช้ให้จำเลยอื่น ๆ ถากถางตัดต้นไม้ และปลูกกล้วย คดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 6 จึงไม่มีมูลพิพากษาแก้เป็นว่า คดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7 มีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 362, 365(2), 84 ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องไว้พิจารณา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้โจทก์ฟัง แล้วมีคำสั่งให้โจทก์นำส่งหมายเรียกจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7 มาให้การแก้ข้อหาภายใน 15 วัน ครบกำหนดโจทก์มิได้นำส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ให้จำหน่ายคดีของโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7 ออกจากสารบบความ
ต่อมาโจทก์ฎีกาว่า คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7ควรมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 359(4) อีกกระทงหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 6 ควรมีมูลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362, 365(2), 358, 359(4), 83, 84, 91 ฯลฯ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยที่ 7 ถือว่าได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วจึงไม่รับฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์เฉพาะจำเลยที่ 6 ไม่มีมูล พิพากษายกฟ้อง โดยฟังว่าจำเลยที่ 6 สำคัญผิดในข้อเท็จจริง เท่ากับฟังว่าจำเลยที่ 6 ไม่มีเจตนาที่จะกระทำผิด ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโดยฟังว่าเรื่องนี้โจทก์สืบได้เพียงว่าได้ทราบจากคำบอกเล่าของคนอื่นมาว่าจำเลยที่ 6 เป็นผู้ใช้จำเลยคนอื่น ๆ จึงเป็นการชั่งน้ำหนักคำพยานว่าพยานบอกเล่ารับฟังไม่ได้ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกันดังนี้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยข้อเท็จจริง แม้จะฟังข้อเท็จจริงต่างกัน ก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 219 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษาให้ยกฎีกาโจทก์