คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7407/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 27 ทวิเกี่ยวกับการช่วยรับเอาไว้ซึ่งของต้องห้ามหรือต้องจำกัดซึ่งมีกฎหมายห้ามนำเข้าหรือส่งออกไว้นั้นมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 91)ฯ ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 9)ฯ ที่กำหนดว่า เลื่อยโซ่พร้อมอุปกรณ์เป็นสินค้าต้องห้ามจะนำเข้าในราชอาณาจักรมิได้ หากเจ้าพนักงานยึดเลื่อยโซ่ได้จะต้องส่งให้กรมศุลกากรเพื่อทำการทำลายโดยไม่มีการนำออกมาจำหน่ายตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ มาตรา 25ดังนั้น แม้ต่อมาจะได้มีการนำเลื่อยโซ่ดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยเจ้าหน้าที่หน่วยราชการเป็นผู้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯมาตรา 64 ทวิ ก็เป็นการนำสินค้าต้องห้ามออกขายทอดตลาดโดยมิชอบ เนื่องจากเป็นการขายทอดตลาดทรัพย์สินอันเป็นของต้องห้ามตามพระราชบัญญัติศุลกากรฯ จึงต้องด้วยมาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ที่บัญญัติว่า เมื่อใดบทบัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากรฯ แตกต่างกับบทกฎหมายอื่นก็ให้ยกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ใช้บังคับ การขายทอดตลาดเลื่อยโซ่ซึ่งเป็นของต้องห้ามจึงขัดต่อกฎหมายและไม่ทำให้กลับเป็นของชอบด้วยกฎหมายได้
การที่จำเลยครอบครองทรัพย์ที่ได้จากการที่มีผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยรู้ว่าทรัพย์ของกลางได้มาจากการขายทอดตลาดโดยเปิดเผยจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้เข้าใจโดยสุจริตว่าเป็นทรัพย์ที่ประชาชนครอบครองใช้สอยได้และมิใช่ของต้องห้ามหรือของต้องจำกัด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 32 ริบของกลาง กับจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย

จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ของกลางให้คืนแก่เจ้าของ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ฐานรับไว้ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรปรับจำเลยทั้งสองรวม 44,512 บาท (สี่หมื่นสี่พันห้าร้อยสิบสองบาท) ริบของกลางให้จ่ายสินบนร้อยละสามสิบ และจ่ายเงินรางวัลร้อยละยี่สิบห้าของราคาเลื่อยโซ่ พร้อมบาร์และโซ่ของกลางแก่ผู้นำจับและเจ้าพนักงานผู้จับตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7 และ 8 ไม่ชำระค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 แต่ไม่เกิน 1 ปี

จำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า เลื่อยโซ่เป็นของต้องห้ามเพราะเป็นทรัพย์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรข้อห้ามหรือข้อจำกัดหรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่าแม้เลื่อยโซ่พร้อมอุปกรณ์ของกลางจะเคยเป็นของที่มีผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยยังมิได้เสียภาษีและผ่านศุลกากรโดยถูกต้อง แต่เมื่อต่อมาได้มีคำพิพากษาให้ริบในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ทรัพย์ที่ถูกริบจึงตกเป็นของแผ่นดิน เมื่อมีการนำเอาเลื่อยโซ่ของกลางออกขายทอดตลาดโดยวิธีประมูลโดยเปิดเผยจึงทำให้ทรัพย์ดังกล่าวไม่เป็นของต้องห้ามต้องจำกัดอีกต่อไป และสามารถเปลี่ยนมือครอบครองได้นั้น เห็นว่า การกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติศุลกากร มาตรา 27 ทวิ เกี่ยวกับการช่วยรับเอาไว้ซึ่งของต้องห้ามหรือต้องจำกัดนี้ของต้องห้ามดังกล่าวได้แก่ของซึ่งมีกฎหมายห้ามการนำเข้าหรือส่งออกไว้ได้ความตามคำเบิกความของนายศักดิ์วุฑฒิ์ วงษ์มณฑา สารวัตรศุลกากร 7พยานโจทก์เบิกความประกอบประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องการนำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร (ฉบับที่ 91) พ.ศ. 2521เอกสารหมาย จ.3 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้าบางอย่าง (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2496 ได้กำหนดว่า เลื่อยโซ่พร้อมอุปกรณ์เป็นสินค้าต้องห้ามจะนำเข้ามาในราชอาณาจักรมิได้ หากเจ้าพนักงานยึดเลื่อยโซ่ได้จะต้องส่งเลื่อยโซ่ดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรที่อยู่ใกล้เคียงที่สุด จากนั้นกรมศุลกากรจะทำการทำลายเครื่องเลื่อยโซ่โดยไม่มีการนำออกมาจำหน่าย ดังนั้น โดยสภาพของเลื่อยโซ่จึงไม่อาจนำเข้ามาในราชอาณาจักรได้เพราะต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว แม้ต่อมาจะได้มีการนำเลื่อยโซ่ดังกล่าวออกขายทอดตลาดโดยเจ้าหน้าที่หน่วยราชการเป็นผู้ดำเนินการ ก็เป็นการนำสินค้าต้องห้ามออกขายทอดตลาดโดยมิชอบ เนื่องจากการนำเลื่อยโซ่ออกขายทอดตลาดดังกล่าว เป็นการดำเนินการขายทอดตลาดทรัพย์สินที่ใช้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ โดยดำเนินการขายตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 64 ทวิ แต่เนื่องจากทรัพย์ของกลางเป็นของต้องห้ามตามพระราชบัญญัติศุลกากร กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ มาตรา 120 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรที่บัญญัติว่า เมื่อใดบทบัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายอื่นก็ให้ยกบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรใช้บังคับ ดังนั้น เลื่อยโซ่ของกลางอันเป็นของต้องห้าม เมื่อศาลสั่งริบกรณีจึงต้องมีการจัดการให้เป็นไปตามมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร การที่เจ้าหน้าที่ได้นำของต้องห้ามดังกล่าวมาขายทอดตลาดโดยขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว การขายทอดตลาดจึงหาทำให้เลื่อยโซ่ซึ่งเป็นของต้องห้าม กลับเป็นของชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า แม้จะได้ความว่าเลื่อยโซ่ของกลางเป็นของต้องห้าม แต่การที่จำเลยผู้ครอบครองทรัพย์ที่ได้จากการที่มีผู้ซื้อทรัพย์มาจากการขายทอดตลาดดังกล่าว โดยจำเลยรู้ว่าทรัพย์ของกลางดังกล่าวได้มาจากการขายทอดตลาดโดยเปิดเผยและจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทำให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าเลื่อยโซ่ดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ประชาชนครอบครองใช้สอยได้ และมิใช่ของต้องห้ามหรือของต้องจำกัดการกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน แต่เลื่อยโซ่พร้อมอุปกรณ์ของกลาง เป็นของต้องห้าม จึงต้องริบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32”

พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง

Share