คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1965/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้า คำว่า แจ๊คสัน JACKSON ของโจทก์ร่วมซึ่งได้จดทะเบียนแล้วและโจทก์ร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์ร่วมประเภทกางเกงยีนสำเร็จรูปนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า JACKSONG(แจ๊คซอง) กับสินค้ากางเกงยีนของจำเลยทั้งสองเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และร่วมกันจำหน่ายและเสนอจำหน่ายกางเกงยีนที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแก่ประชาชนทั่วไป แต่ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมกลับปรากฏว่า โจทก์ร่วมหาได้นำเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าวที่ได้รับโอนมาไปใช้กับสินค้ากางเกงยีนของโจทก์ร่วมไม่ โจทก์ร่วมผลิตและจำหน่ายกางเกงยีนติดเครื่องหมายการค้าคำว่า JACKSON และข้างหน้ามีรูปกีตาร์1 ตัว วางตั้งเฉียง จำเลยทั้งสองได้เลียนเครื่องหมายการค้าJACKSON ซึ่งเขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่มีรูปกีตาร์ ของ โจทก์ร่วมโดยเพิ่มอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ตัว G อีก 1 ตัว ท้ายคำว่า JACKSON เป็น JACKSONGและดัดแปลงรูปกีตาร์ ให้แตกต่างจากของโจทก์ร่วมเพียงเล็กน้อยดังนี้ เมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า JACKSON มีรูปกีตาร์ของโจทก์ร่วมยังมิได้รับการจดทะเบียน จึงมีผลเท่ากับโจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลียนเครื่องหมายการค้ายังมิได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วมข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาดังกล่าวจึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงดั่ง ที่กล่าวในฟ้องไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคสอง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นายวิชา ชีวการุณ ผู้เสียหายเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า คำว่า JACKSON (แจ๊คสัน) จดทะเบียนต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ แล้ว ได้นำเครื่องหมายการค้ามาใช้กับสินค้ากางเกงยีนสำเร็จรูปของผู้เสียหาย จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นอักษรโรมันคำว่า jACKSON (แจ๊คสัน)ของผู้เสียหายดังกล่าว โดยจำเลยทั้งสองปักเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันคำว่า JACKSONG (แจ๊คซอง) ลงบนแถบผ้าติดบนสินค้ากางเกงยีนของจำเลยทั้งสอง เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า JACKSON (แจ๊คสัน) ของผู้เสียหายแล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้ากางเกงยีน ซึ่งเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 274, 275
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างการพิจารณาผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์ โจทก์ร่วมอุทธรณ์ โดยอธิบดีกรมอัยการรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 274, 275 ให้เรียงกระทงลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 โดยวางโทษปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 2,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1จำนวน 4,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 เดือน และปรับกระทงละ 2,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 6 เดือน ปรับ 4,000 บาทไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุก จำเลยที่ 2ให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ ส่วนจำเลยที่ 2 ให้กักขังแทนค่าปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30
โจทก์ร่วมและจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า JACKSON (แจ๊คสัน) ของโจทก์ร่วมซึ่งเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้จดทะเบียนต่อกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้วและโจทก์ร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าของโจทก์ร่วมประเภทกางเกงยีนสำเร็จรูปนำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป โดยจำเลยทั้งสองใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า JACKSONG (แจ๊คสัน) กับสินค้ากางเกงยีนของจำเลยทั้งสองเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม และร่วมกันจำหน่ายและเสนอจำหน่ายซึ่งกางเกงยืนที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมแก่ประชาชนทั่วไป แต่ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมกลับปรากฏว่าโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า JACKSON แจ๊คสันที่จดทะเบียนแล้วในจำพวก 38 สำหรับสินค้าที่ได้ระบุไว้คือกางเกงยีนโดยได้รับโอนมาจากบริษัทแจ๊คสัน การ์เมนท์คอร์ปอร์เรชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2529 โจทก์ร่วมหาได้นำเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนดังกล่าวที่ได้รับโอนมาไปใช้กับสินค้ากางเกงยีนของโจทก์ร่วมไม่ นอกจากนี้โจทก์และโจทก์ร่วมยังนำสืบว่า โจทก์ร่วมผลิตกางเกงยีนออกจำหน่ายทั้งภายในประเทศและในประเทศแถบตะวันออกกลาง โดยติดเครื่องหมายการค้าเป็นตัวอักษรโรมันคำว่า JACKSON และข้างหน้า มีรูปกีตาร์ 1 ตัว วางตั้งเฉียง ปักบนป้ายผ้าติดตรงขอบสะเอวกางเกงด้านนอกข้างหลังด้านขวา เมื่อต้นปีพ.ศ. 2529 โจทก์ร่วมทราบจากตัวแทนจำหน่ายซึ่งมาจากประเทศแถบอาหรับว่ามีกางเกงเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วม โดยใช้ชื่อว่า JACKSONG เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2529 โจทก์ร่วมได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า JACKSON โดยมีรูปกีตาร์ 1 ตัวอยู่ข้างหน้า ดังที่โจทก์ร่วมติดไว้กับสินค้ากางเกงยีนของโจทก์ร่วมต่อนายทะเบียน เครื่องหมายการค้า แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าแจ้งให้โจทก์ร่วมทราบว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมขอจดทะเบียนเหมือนหรือเกือบเหมือน กับของจำเลยที่ 1 ที่ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ให้โจทก์ร่วมไปตกลง กันเองกับจำเลยหรือนำคดีสู่ศาล ต่อมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม 2530 โจทก์ร่วมทราบแหล่งผลิตกางเกงยีนของจำเลยที่ 1 จึงไปแจ้งความที่กองปราบปรามและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจ ค้นห้างจำเลยที่ 1 และจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมยึดกางเกงยีนติดเครื่องหมายการค้า JACKSONG มีรูปกีตาร์อยู่ข้างหน้าป้ายผ้าเครื่องหมายการค้า JACKSONG ซึ่งตัวอักษร G ปัดด้วยด้ายสีขาวและกางเกงยีนยี่ห้อแจ๊คสัน 1 ตัว เป็นของกลาง จากทางนำสืบดังกล่าวเป็นการนำสืบให้เห็นว่า จำเลยทั้งสองได้เลียนเครื่องหมายการค้าJACKSON ซึ่งเขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่มีรูปกีตาร์ของโจทก์ร่วม โดยเพิ่มอักษรตัวพิมพ์ใหญ่ตัว G อีก 1 ตัว ท้ายคำว่า JACKSON เป็น JACKSONGและดัดแปลงรูปกีตาร์ให้แตกต่างจากของโจทก์ร่วมเพียงเล็กน้อยเมื่อปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมยังมิได้รับการจดทะเบียน จึงมีผลเท่ากับโจทก์และโจทก์ร่วมอ้างว่าจำเลยทั้งสองเลียนเครื่องหมายการค้ายังมิได้จดทะเบียนของโจทก์ร่วม ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาดังกล่าวแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมที่บรรยายว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่อาจทำให้ฟังว่าจำเลยทั้งสองได้เลียนเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วมจำหน่ายและเสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมจึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสองตามฟ้องได้
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วม.

Share