แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สิบตำรวจตรี ว. เบิกความในชั้นศาลว่า ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ แต่ในบันทึกการจับกุม ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพฐานรับของโจรก็ตาม ข้อแตกต่างดังกล่าวหาใช่ข้อสาระสำคัญแห่งคดีไม่
เวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปแม้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขายให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบ คือสิบตำรวจตรี ว.ผู้สืบสวนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายที่ถูกแปลงสภาพให้ผิดไปจากเดิมที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อทราบจากจำเลยที่ 1 ว่ารับซื้อรถของกลางจากจำเลยที่ 2 สิบตำรวจตรี ว. ก็ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 2 ให้การว่ารับซื้อรถของกลางมาจากจำเลยที่ 3 และเมื่อสิบตำรวจตรี ว.ตามไปจับกุมจำเลยที่ 3 ได้จำเลยที่ 3 ก็ยอมรับสารภาพอีกว่ารับซื้อรถของกลางมาจากผู้มีชื่อ จึงเห็นได้ว่าการที่สิบตำรวจตรี ว. สามารถติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากจะอาศัยข้อมูลการสืบสวนทางหนึ่งแล้วยังได้อาศัยข้อมูลจากจำเลยแต่ละคนเป็นอย่างมากอีกต่างหาก พยานโจทก์จึงไม่ใช่มีเพียงคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เท่านั้นแต่ยังมีคำเบิกความของสิบตำรวจตรี ว.มาประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 อีกด้วยจึงเป็นพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2538 เวลากลางคืนก่อนเที่ยงถึงเวลากลางวัน เวลาใดไม่ปรากฏชัด มีคนร้ายหลายคนร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ หมายเลขทะเบียน ลพบุรี ต-3253 หมายเลขตัวรถ เอ็น เอส 150 พี-0001911เลขเครื่องยนต์ เอ็น เอส 150 พี อี 0001911 ราคา 62,000 บาท ของจ่าโทสงกรานต์ อินทะโชติ ผู้เสียหายไป ต่อมาวันที่ 29 มีนาคม 2539 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับกุมจำเลยทั้งสามและยึดอะไหล่รถจักรยานยนต์จำนวน 22 รายการ ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องอันเป็นอะไหล่ของรถจักรยานยนต์ผู้เสียหายส่วนหนึ่งเป็นของกลางทั้งนี้ในวันเวลาและสถานที่ดังกล่าว จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย หรือมิฉะนั้นระหว่างวันและเวลาข้างต้นจำเลยทั้งสามได้ร่วมกันรับเอารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวไว้จากคนร้าย โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ต่อมาระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม 2538 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง ถึงวันที่ 29 มีนาคม 2539 เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยที่ 1ปลอมเอกสารโดยขูดลบหมายเลขตัวรถเลขที่ เอ็น เอส 150 พี-0001911 ที่ใช้กับรถจักรยานยนต์คันของผู้เสียหายออกแล้วตอกเลขตัวรถใหม่เป็น เอ็น เอส 150-034056 เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่พบเห็นหลงเชื่อว่าหมายเลขตัวรถที่จำเลยที่ 1 ได้จัดทำขึ้นนั้นเป็นตัวรถที่ใช้กับรถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียนอ่างทอง ง-6677 โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น กรมการขนส่งทางบก ผู้เสียหายและประชาชน ภายหลังจากจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำตัวรถที่ปลอมขึ้นมาใช้กับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง-6677 ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นกรมการขนส่งทางบกผู้เสียหายและประชาชนจำเลยที่ 3 เป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 752/2539 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี สำหรับของกลางผู้เสียหายได้รับคืนไปแล้วขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264,268, 335, 357 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์อะไหล่ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 62,000 บาท แก่ผู้เสียหาย และนับโทษจำเลยที่ 3 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 752/2539 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 3 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 264 วรรคแรก, 357 วรรคแรก จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91ฐานปลอมเอกสาร จำคุก 3 ปี ฐานรับของโจร จำคุก 4 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1มีกำหนด 7 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 4 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี 8 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 2 ปี 8 เดือน สำหรับจำเลยที่ 3 ให้นับโทษต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 752/2539 ของศาลจังหวัดสิงห์บุรี ให้จำเลยทั้งสามคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์อะไหล่ที่ยังไม่ได้คืนจำนวน 29,385 บาท แก่ผู้เสียหาย ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า ในวันเวลาเกิดเหตุมีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า จำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ โจทก์มีสิบตำรวจตรีวิโรจน์ มะยมหิน เป็นพยานเบิกความว่า ได้สืบทราบว่าจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์นำรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาดัดแปลง จึงนำหมายค้นไปตรวจค้นที่บ้านของจำเลยที่ 1 พบรถจักรยานยนต์ 1 คัน หมายเลขทะเบียน อ่างทอง ง-6677 และอะไหล่รถจักรยานยนต์คันนี้มีการแก้ไขหมายเลขตัวถัง จึงได้ยึดรถจักรยานยนต์และอะไหล่ดังกล่าวเป็นของกลางพร้อมทั้งแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจรปลอมและใช้เอกสารปลอม จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าซื้อรถจักรยานยนต์มาจากจำเลยที่ 2 ในราคา 7,000 บาท โดยทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมา แล้วนำชิ้นส่วนมาดัดแปลงแก้ไขหมายเลขตัวถังใหม่เพื่อให้ตรงกับเลขตัวถังของรถตนสิบตำรวจตรีวิโรจน์กับพวกติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ แจ้งข้อหาว่าลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรว่าซื้อรถจักรยานยนต์มาจากจำเลยที่ 3 และได้ขายต่อให้จำเลยที่ 1 สิบตำรวจตรีวิโรจน์กับพวกจึงไปติดตามจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ และแจ้งข้อหาว่าลักทรัพย์หรือรับของโจร จำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจรว่าได้ซื้อรถจักรยานยนต์มาจากนายน้อยในราคา 3,000 บาท โดยทราบว่ารถดังกล่าวถูกลักมาจากศรีอรุณแมนชั่น ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี เจ้าพนักงานตำรวจจึงติดตามไปพบผู้เสียหายซึ่งพักอยู่ที่ศรีอรุณแมนชั่น ทราบว่าเมื่อรถจักรยานยนต์หายไป ผู้เสียหายไปแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองลพบุรี เห็นว่า สิบตำรวจตรีวิโรจน์เป็นเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอบ้านแพรก จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ขณะเกิดเหตุได้รับราชการอยู่ที่ศูนย์ป้องกันการโจรกรรมรถยนต์และรถจักรยานยนต์ตำรวจภาค 1 กรุงเทพมหานคร ไม่เคยรู้จักกับผู้เสียหายซึ่งพักอยู่ที่ศรีอรุณแมนชั่น อำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี คนละจังหวัดกัน ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่สิบตำรวจตรีวิโรจน์จะได้ข้อมูลจากผู้เสียหายก่อนที่จะไปสืบจับคนร้าย ประกอบกับผู้เสียหายเบิกความสอดคล้องกับพยานปากนี้ว่าหลังจากเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1 และยึดรถจักรยานยนต์กับอะไหล่รถจักรยานยนต์ของกลางได้แล้ว ผู้เสียหายไปดูของกลางที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอไชโย จังหวัดอ่างทอง ผู้เสียหายจำได้ว่ารถคันของกลางมีรอยตำหนิและมีการขูดลบหมายเลขตัวถังเดิมซึ่งตรงกับหมายเลขตัวถังรถของผู้เสียหายแล้วตอกหมายเลขตัวถังใหม่ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกับข้อมูลที่สิบตำรวจตรีวิโรจน์ยืนยันว่าได้จากจำเลยที่ 1 จึงน่าเชื่อว่าสิบตำรวจตรีวิโรจน์ได้ข้อมูลจากจำเลยที่ 1 ว่าได้ซื้อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากจำเลยที่ 2 แล้วนำสืบเชื่อมโยงไปถึงจำเลยที่ 3 ที่ซื้อรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายมาจากนายน้อยแล้วได้นำรถมาขายให้จำเลยที่ 2 ในราคาที่ถูกกว่าปกติ โดยทราบว่าเป็นรถที่ถูกลักมาจากจังหวัดลพบุรี แสดงให้เห็นว่าหากจำเลยทั้งสามไม่รับสารภาพตามความเป็นจริง สิบตำรวจตรีวิโรจน์ไม่มีทางที่จะสืบต่อไปจนพบผู้เสียหายซึ่งอยู่คนละจังหวัด ทั้งคำรับสารภาพชั้นจับกุมก็เชื่อมโยงกันอย่างเป็นเหตุเป็นผลเป็นขั้นเป็นตอนเริ่มตั้งแต่คนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปจากศรีอรุณแมนชั่น จนไปขายให้จำเลยที่ 1 แล้วนำไปดัดแปลงเป็นรถของจำเลยที่ 1 สิบตำรวจตรีวิโรจน์ไม่รู้จักจำเลยที่ 3 มาก่อน ไม่มีสาเหตุที่จะปรักปรำจำเลยที่ 3 ให้ต้องรับโทษเชื่อว่าสิบตำรวจตรีวิโรจน์เบิกความไปตามความเป็นจริง และหากจำเลยที่ 2 ไม่รับสารภาพชั้นจับกุมก็คงไม่สามารถนำไปสู่การจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ เมื่อจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมก็สามารถเชื่อมโยงไปสู่แหล่งที่มาของสถานที่ลักทรัพย์คือศรีอรุณแมนชั่นและได้พบตัวผู้เสียหายโดยผู้เสียหายตามไปตรวจสอบรถจักรยานยนต์ของกลางและยืนยันว่าเป็นของตนจริงดังกล่าวมาแล้วข้างต้น จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมด้วยความสมัครใจเช่นกัน ที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า สิบตำรวจตรีวิโรจน์เบิกความในชั้นศาลว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ แต่ในบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย ป.จ.2 (ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร จึงเป็นการแตกต่างกันในสาระสำคัญนั้น เห็นว่าข้อแตกต่างดังกล่าวหาใช่ข้อสาระสำคัญแห่งคดีไม่ ดังนั้น แม้คดีนี้โจทก์จะไม่มีประจักษ์พยานยืนยันว่าจำเลยที่ 3 นำรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปขายให้จำเลยที่ 2 ก็ตาม แต่จากพยานแวดล้อมกรณีที่โจทก์นำสืบคือสิบตำรวจตรีวิโรจน์ผู้สืบสวนจับกุมจำเลยที่ 1 ได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลางของผู้เสียหายที่ถูกแปลงสภาพให้ผิดไปจากเดิมที่บ้านจำเลยที่ 1 เมื่อทราบจากจำเลยที่ 1ว่ารับซื้อรถของกลางจากจำเลยที่ 2 สิบตำรวจตรีวิโรจน์ก็ติดตามจับกุมจำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 2 ก็ให้การว่ารับซื้อรถของกลางมาจากจำเลยที่ 3 และเมื่อสิบตำรวจตรีวิโรจน์ตามไปจับกุมจำเลยที่ 3 ได้ จำเลยที่ 3 ก็ยอมรับสารภาพอีกว่ารับซื้อรถของกลางมาจากนายน้อย จึงเห็นได้ว่าการที่สิบตำรวจตรีวิโรจน์สามารถติดตามจับกุมจำเลยทั้งสามได้พร้อมรถจักรยานยนต์ของกลาง นอกจากจะอาศัยข้อมูลจากการสืบสวนทางหนึ่งแล้วยังได้อาศัยข้อมูลจากจำเลยแต่ละคนเป็นอย่างมากอีกต่างหาก พยานโจทก์จึงไม่ใช่มีเพียงคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 3 เท่านั้นแต่ยังมีคำเบิกความของสิบตำรวจตรีวิโรจน์มาประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 3 อีกด้วย จึงเป็นพยานหลักฐานเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 ได้กระทำความผิดฐานรับของโจรรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย
พิพากษายืน