แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำว่า “โต๊ะกัง” เดิมนายโต๊ะกัง แซ่ตั้ง ประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อนปี 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า “โต๊ะกัง” มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่า มีความหมายถึงร้านค้าทองคำ
ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ คำว่า “โต๊ะกัง” จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า “โต๊ะกัง” มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า “โต๊ะกัง” ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย
ปัญหาข้อพิพาทในคดีที่ พ. ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนถูกฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของ พ. เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” นั้น เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของ พ. แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่า พ. มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ในสำนวนแรกว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกโจทก์ในสำนวนหลังว่า โจทก์ที่ 2 ส่วนจำเลยทั้งเจ็ดซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกันทั้งสองสำนวนคงเรียกตามเดิม
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องขอให้ยกเลิกคำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 49/2540 และที่ 50/2540 และให้จำเลยทั้งเจ็ดรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งเจ็ดให้การทั้งสองสำนวนขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ข้อแรกว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองที่จดทะเบียนไว้คือ เครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกังเซ่งกี่” ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของนายไพบูลย์คือ เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” คำว่า “โต๊ะกังบุ้นกี่” และคำว่า “โต๊ะกังเยาวราช” จนทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้านั้น เห็นว่า คำว่า “โต๊ะกัง” นี้ เดิมนายโต๊ะกังประกอบกิจการร้านค้าทองคำรูปพรรณและใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” สำหรับสินค้าทองคำรูปพรรณของตนตั้งแต่ก่อน พ.ศ. 2457 โดยมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะนั้น และใช้ชื่อร้านค้าว่า “ตั้งโต๊ะกัง” ซึ่งนำมาจากชื่อของนายโต๊ะกังเอง โดยที่คำดังกล่าวมิได้มีความหมายว่าร้านค้าทองคำแต่อย่างใด ครั้นเมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ต่อมามีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำหลายรายนำคำว่า “โต๊ะกัง” มาใช้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของตนเนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่มีผู้รู้จักและเป็นที่นิยมโดยทั่วไป แต่ก็มิใช่ว่าผู้ประกอบการค้าทองคำทั่วไปนิยมใช้คำนี้เป็นชื่อหรือเครื่องหมายการค้าโดยเห็นว่ามีความหมายถึงร้านค้าทองคำ ประชาชนผู้ซื้อสินค้าทองคำจากผู้ประกอบกิจการดังกล่าวหรือซื้อทองคำที่มีเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” ย่อมสามารถพิจารณาเครื่องหมายการค้าเหล่านี้เพื่อแยกแยะความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แสดงให้เห็นว่าเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” นี้ยังคงมีความหมายบ่งเฉพาะที่ใช้แสดงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนกรณีที่มีผู้ประกอบกิจการค้าทองคำบางรายนำคำว่า “โต๊ะกัง” มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อหรือเครื่องหมายการค้านั้น เห็นได้ว่าผู้ประกอบกิจการค้าทองคำที่นำคำว่า “โต๊ะกัง” มาใช้ก็เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำที่ประชาชนรู้จักและนิยมเพื่อประโยชน์ทางการค้าของตนเท่านั้น และประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจได้ว่าร้านค้าทองคำที่ใช้ชื่ออันประกอบกับคำว่า “โต๊ะกัง” มีความเกี่ยวข้องกับกิจการร้านค้าทองคำของนายโต๊ะกังในทางใดทางหนึ่งได้ คำว่า “โต๊ะกัง” จึงเป็นคำที่ประดิษฐ์ขึ้นและมีลักษณะบ่งเฉพาะได้และมิใช่คำสามัญที่หมายถึงร้านค้าทองรูปพรรณดังที่โจทก์ทั้งสองอ้างมาในอุทธรณ์ เมื่อนายไพบูลย์นำคำว่า “โต๊ะกัง” มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนไว้ก่อนแล้ว และที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยว่าเครื่องหมายการค้าของนายไพบูลย์ดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป โจทก์ทั้งสองก็มิได้โต้แย้ง จึงรับฟังเป็นยุติได้เช่นนั้น การที่โจทก์ทั้งสองนำคำว่า “โต๊ะกัง” มาประกอบกับเครื่องหมายการค้าของตน จึงเป็นการนำเอาเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นซึ่งได้รับจดทะเบียนไว้ก่อนมาใช้เป็นส่วนสาระสำคัญอันมีลักษณะเด่น ประชาชนอาจสังเกตและจดจำได้ง่ายกว่าคำอื่นตลอดจนรูปที่โจทก์ทั้งสองนำมาประกอบ ทั้งคำว่า “โต๊ะกัง” ที่เขียนและอ่านออกเสียงได้เหมือนกันย่อมถือว่าเป็นจุดเด่นที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดได้ง่าย ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 นั้นชอบแล้ว
ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า นายไพบูลย์ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” “โต๊ะกังเยาวราช” และ “โต๊ะกังบุ้นกี่” ถูกห้างหุ้นส่วนจำกัดตั้งโต๊ะกังกับพวกฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตั้งแต่ปี 2537 เนื่องจากเครื่องหมายการค้าของนายไพบูลย์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “โต๊ะกัง” นายไพบูลย์จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสองได้นั้น เห็นว่า ปัญหาข้อนี้เป็นข้อพิพาทระหว่างนายไพบูลย์กับโจทก์ในคดีดังกล่าว เมื่อยังไม่ปรากฏว่าศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายไพบูลย์แล้ว ย่อมไม่อาจถือได้ว่านายไพบูลย์มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งสอง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ.