แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ใบตราส่งมีข้อความปรากฏชัดในด้านหน้าว่า ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาที่อยู่ด้านหลังนี้ ขอให้ผู้ส่งของรับทราบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย ผู้ส่งของอาจเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดได้โดยแจ้งมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้นและชำระเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น ย่อมทำให้ผู้ส่งของทราบดีว่าตนมีทางเลือก 2 ทาง คือ จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดที่มีอยู่ชัดในด้านหลังใบตราส่งหรือจะเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดโดยต้องเสียเงินเพิ่มก็ได้ และปรากฏว่าด้านหน้าใบตราส่งมีช่องสำหรับการแจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง แต่ในช่องดังกล่าวมีข้อความว่า “เอ็นวีดี”(NVD) ซึ่งหมายถึง การไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง โดยมีการแจ้งเฉพาะน้ำหนักสินค้าและมีการคิดค่าระวางตามน้ำหนักที่แจ้ง ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมเท่ากับเป็นการเลือกยอมรับข้อจำกัดความรับผิดหลังใบตราส่ง ถือว่าผู้ส่งของแสดงความตกลงด้วยโดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทเอ็น เอส อิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ (1993) จำกัดได้สั่งซื้อสินค้าเครื่องเชื่อมลวดทองอัตโนมัติจากบริษัทเอเอสเอ็ม เทคโนโลยีสิงคโปร์ พีทีอี จำกัด ซึ่งอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ จำนวน 4 เครื่องผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทเบอร์ลิงตัน แอร์ เอ็กซเพรส พีทีอี จำกัด ให้ทำการขนส่งสินค้าทางอากาศ และบริษัทเบอร์ลิงตัน แอร์ เอ็กซเพรส พีทีอี จำกัดได้มอบหมายให้จำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าทางอากาศอีกทอดหนึ่ง เมื่อเครื่องบินบรรทุกสินค้ามาถึงประเทศไทยปรากฏว่าลังไม้ที่บรรจุสินค้า 2 ลังชำรุดเครื่องเชื่อมลวดทองอัตโนมัติ 2 เครื่องเสียหายคิดเป็นเงิน 3,821,664บาท โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าดังกล่าวจากบริษัทเอ็น เอส อิเล็กทรอนิกส์กรุงเทพฯ (1993) จำกัด และโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บริษัทเอ็นเอส อิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ (1993) จำกัด แล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องคดีขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องรวมเป็นเงิน 3,910,400.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 3,821,664 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย เพราะจำเลยไม่มีภูมิลำเนาหรือมีสาขาในประเทศไทย ฟ้องเคลือบคลุม ความเสียหายของสินค้าไม่ได้เกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลย ค่าเสียหายตามฟ้องสูงเกินควร ในด้านหลังใบตราส่งสินค้ามีข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ไม่เกินจำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้า 1 กิโลกรัม และคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 3,821,664 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 22 มกราคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ต้องไม่เกิน88,736.64 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าเครื่องเชื่อมลวดทองอัตโนมัติ จำนวน 4 เครื่อง น้ำหนักรวม 3,462 กิโลกรัมไว้จากบริษัทเอ็น เอส อิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ (1993) จำกัด ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 สินค้าดังกล่าวผู้เอาประกันได้ซื้อจากบริษัทเอเอสเอ็ม เทคโนโลยีสิงคโปร์ พีทีอี จำกัด ในประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ โดยผู้ขายได้ว่าจ้างบริษัทเบอร์ลิงตันแอร์ เอ็กซเพรส พีทีอี จำกัดเป็นผู้จัดการขนส่ง และบริษัทดังกล่าวมอบหมายให้จำเลยขนส่งสินค้าทางอากาศจากประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์มายังประเทศไทยปรากฏว่าสินค้า2 เครื่อง ได้รับความเสียหายไม่สามารถใช้การได้ คิดเป็นค่าเสียหายจำนวน3,821,664 บาท ตามเอกสารหมาย จ.10 โจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัทเอ็น เอส อิเล็กทรอนิกส์ กรุงเทพฯ (1993) จำกัด ผู้เอาประกันเป็นเงิน 3,821,664 บาท ไปแล้ว และรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่ง ปรากฏตามใบรับช่วงสิทธิและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.17 และ จ. 18 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า ข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่งสินค้าที่ระบุไว้ในใบตราส่งเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ว่าจำเลยจะต้องรับผิดไม่เกินจำนวน20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัมนั้น มีผลใช้บังคับได้หรือไม่กรณีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 บัญญัติว่าใบรับ ใบตราส่ง หรือเอกสารอื่น ๆ ทำนองนั้นก็ดีซึ่งผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งนั้นถ้ามีข้อความยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งประการใด ท่านว่าความนั้นเป็นโมฆะเว้นแต่ผู้ส่งจะได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้นซึ่งปัญหาว่าผู้ส่งของได้ตกลงด้วยโดยชัดแจ้งหรือไม่นั้น นายธราธร ศรีสกุล ผู้จัดการฝ่ายขายของจำเลยพยานจำเลยเบิกความว่า ขั้นตอนการส่งสินค้าทางอากาศผู้ส่งสินค้าต้องจองพื้นที่บนเครื่องบินก่อน และจำเลยจะมอบแบบพิมพ์ใบตราส่งให้ผู้ส่งของกรอกข้อความ สำหรับใบตราส่งตามเอกสารหมาย จ. 6 จำเลยมอบแบบพิมพ์ให้บริษัทเบอร์ลิงตัน แอร์ เอ็กซเพรส พีทีอี จำกัดเป็นผู้พิมพ์ข้อความเอง และด้านหน้าใบตราส่งฉบับนี้ที่ช่องลายมือชื่อของผู้ส่งของหรือตัวแทนมีชื่อบริษัทเบอร์ลิงตัน แอร์ เอ็กซเพรส พีทีอีจำกัด ปรากฏอยู่สอดคล้องกับคำเบิกความพยานจำเลยดังกล่าวข้างต้น ทั้งในใบตราส่งนี้ยังมีข้อความปรากฏชัดในด้านหน้าว่า ตามเงื่อนไขแห่งสัญญาที่อยู่ด้านหลังนี้ ขอให้ผู้ส่งของรับทราบข้อสังเกตเกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้วย ผู้ส่งของอาจเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดได้โดยแจ้งมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น และชำระเงินเพิ่มเติมหากจำเป็น ข้อความดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ส่งของทราบดีว่าตนมีทางเลือก 2 ทาง คือ จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดที่มีอยู่ชัดในด้านหลังใบตราส่งหรือจะเพิ่มส่วนจำกัดความรับผิดโดยต้องเสียเงินเพิ่มก็ได้ และปรากฏว่าด้านหน้าใบตราส่งนี้มีช่องสำหรับการแจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง แต่ในช่องดังกล่าวมีข้อความว่า”เอ็นวีดี” (NVD) ซึ่งหมายถึง การไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งโดยมีการแจ้งเฉพาะน้ำหนักสินค้าและมีการคิดค่าระวางตามน้ำหนักที่แจ้งเท่านั้นการที่ผู้ส่งของระบุข้อความในช่องแจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งว่าไม่แจ้งราคามูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง ซึ่งทำให้ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มเติมดังกล่าวเท่ากับเป็นการเลือกที่จะยอมรับข้อจำกัดความรับผิดหลังใบตราส่งนั่นเองจึงถือว่าผู้ส่งของได้แสดงความตกลงด้วย โดยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งเป็นเงิน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัมแล้ว ข้อจำกัดความรับผิดดังกล่าวย่อมมีผลบังคับได้ไม่เป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 625 จำเลยจึงต้องรับผิดจำกัดเพียง 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อสินค้าหนัก 1 กิโลกรัม เมื่อสินค้าแต่ละเครื่องหนัก 865.5 กิโลกรัม และเสียหายโดยสิ้นเชิง 2 เครื่องรวมหนัก 1,731 กิโลกรัม จำเลยจึงต้องรับผิดเป็นเงิน 34,620ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น ซึ่งคิดเป็นเงินบาทในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามที่ผู้เอาประกันภัยใช้ในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.16 อัตรา 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25 บาทแล้วเป็นเงินจำนวน 865,500 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามา ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 865,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 22มกราคม 2539 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์