แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าว จึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงใด จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรพ.ศ. 2528 มาตรา 17 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 แม้ว่าการที่จำเลยอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ตาม โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระภาษีอากรจำนวน71,124,210.58 บาท กับเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของค่าภาษีที่ค้างจำนวน 25,560,653.08 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องข้อหาตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 6740010/5/100422 ถึง 100425, 100428 และ100430 ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 20 ถึง 25
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องข้อหาตามหนังสือแจ้งการประเมินเลขที่ 6740010/5/100422 ถึง 100425, 100428 และ 100430 หรือไม่เห็นว่า จำเลยที่ 1 อุทธรณ์การประเมินตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ยังมิได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวซึ่งคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจมีคำวินิจฉัยให้เพิกถอนหรือแก้ไขคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินได้ หนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่เพียงใด ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คดีของโจทก์ไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 8 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ค่าภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินย่อมถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธินั้น เห็นว่า แม้คดีของโจทก์จะไม่อยู่ในบังคับแห่งบทกฎหมายดังกล่าว แต่ก็ต้องอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 เมื่อหนี้ยังไม่แน่นอนจึงหาอาจถือว่าโจทก์ถูกโต้แย้งสิทธิแล้วได้ไม่ แม้ว่าการที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะไม่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงก็ตาม คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน