แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า มารดาโจทก์ยกบ้านพิพาทให้โจทก์ จำเลยเป็นพี่เขยของโจทก์อยู่ในบ้านพิพาทในฐานะผู้อาศัย โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยต่อไป จึงบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปแต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร จำเลยให้การว่ามารดาโจทก์ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมยกบ้านพิพาทให้โจทก์ หนังสือสัญญาให้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยไม่ได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าการยกบ้านพิพาทให้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร แต่ก็เป็นการปฏิเสธว่าโจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาท เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์และ ย.ภริยาจำเลย บิดาโจทก์ถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรม ย.ภริยาจำเลยครอบครองบ้านพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกที่ยังมิได้แบ่งตามกฎหมาย และจำเลยอยู่ในบ้านพิพาทโดยอาศัยสิทธิของ ย.โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ดังนี้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างบิดากับมารดาโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคำฟ้องคำให้การมิใช่วินิจฉัยนอกประเด็น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2529 นางพยอม ทองแสงมารดาโจทก์ได้ยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 848/1 ถนนพระรามที่ 5แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ให้โจทก์ โจทก์จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านดังกล่าวโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยเป็นพี่เขยของโจทก์ และอาศัยอยู่ในบ้านดังกล่าวในฐานะผู้อาศัย บัดนี้โจทก์ไม่มีความประสงค์ให้จำเลยอยู่อาศัยในบ้านของโจทก์อีกต่อไปโจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านของโจทก์หลายครั้ง แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกจากบ้านของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นพี่เขยโจทก์ จำเลยกับภริยาซึ่งเป็นพี่สาวโจทก์และบริวารมิได้อยู่บ้านเลขที่ 848/1 ในฐานะผู้อาศัยตามฟ้องโจทก์ แต่จำเลยและภริยามีส่วนร่วมในการสร้างบ้านเลขที่848/1 กล่าวคือในปี 2501 นายกมลบิดาโจทก์ได้ซื้อสิทธิการเช่าที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจากนายถนอม สุขสวัสดิ์ ในราคา 5,000 บาทจำเลยในฐานะบุตรเขยของนายกมลได้ร่วมออกเงินซื้อด้วย ต่อมาปี 2514 จำเลยกับบิดาโจทก์ได้ร่วมกันลงทุนต่อเติมบ้านดังกล่าวใหม่เป็นบ้านไม้สองชั้นกั้นห้องและเปลี่ยนเป็นหลังคากระเบื้องเมื่อต่อเติมแล้วโจทก์จึงได้ย้ายเข้ามาอยู่ จำเลยเป็นผู้ลงทุนกั้นห้องให้แก่โจทก์ จำเลยมีส่วนร่วมในการออกค่าต่อเติมดัดแปลงและรับโอนสิทธิการเช่ามาตั้งแต่ต้น หนังสือยกเรือนให้โจทก์ไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมาย มารดาโจทก์ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมยกเรือนให้แก่โจทก์ และโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยออกจากบ้านดังกล่าวมาก่อน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นสินสมรสของนายกมลกับนางพยอมบิดามารดาโจทก์นางยุพดีภริยาจำเลยซึ่งเป็นบุตรจึงมีสิทธิรับมรดกในส่วนของนายกมลอยู่ด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การนั้นเห็นว่า จำเลยต่อสู้ในคำให้การว่า นางพยอมมารดาโจทก์ไม่มีสิทธิทำนิติกรรมยกบ้านพิพาทให้โจทก์ หนังสือสัญญาให้เรือนไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยไม่ได้กล่าวแสดงโดยชัดแจ้งในคำให้การว่าการที่มารดาโจทก์ยกบ้านพิพาทให้โจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไรก็ตาม แต่ก็เป็นการปฏิเสธว่า โจทก์มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายซึ่งประเด็นเรื่องกรรมสิทธิ์บ้านพิพาทนี้ข้อเท็จจริงก็ได้ความเป็นยุติว่าบ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายกมลกับนางพยอมบิดามารดาโจทก์ และนางยุพดีภริยาของจำเลยเมื่อนายกมลถึงแก่ความตายไม่ได้ทำพินัยกรรมยกบ้านพิพาทในส่วนของตนให้แก่ทายาทคนใด ดังนี้ กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทส่วนของนายกมลจึงเป็นมรดกตกทอดแก่บรรดาทายาทของนายกมลรวมทั้งนางยุพดีมีสิทธิได้รับมรดกส่วนหนึ่งด้วย การที่นางพยอมยกบ้านพิพาทให้แก่โจทก์จึงมีผลให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนของนางพยอมเท่านั้นไม่คลุมไปถึงส่วนที่เป็นมรดกของนายกมลด้วย ปรากฏว่านางยุพดีอยู่อาศัยในบ้านพิพาทมาตลอด เป็นการครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปันตามกฎหมาย ถือว่านางยุพดีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในบ้านพิพาทตามส่วนของตนคนหนึ่ง จำเลยเป็นสามีของนางยุพดีได้อาศัยสิทธิของนางยุพดีอยู่อาศัยในบ้านพิพาท โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นวินิจฉัยว่า บ้านพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างบิดามารดาโจทก์ เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นในคำฟ้องและคำให้การนั่นเอง หาได้วินิจฉัยนอกประเด็นไม่
พิพากษายืน