แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเรือเดินทะเลของจำเลยที่ 1 มารับตู้ลำเลียงอันบรรจุสินค้าแล้ว ณ ท่าเรือสัตหีบแต่องค์การ ร.ส.พ. จำเลยที่ 2 เป็นผู้ผูกขาดการขนส่งสินค้าเข้าไปในบริเวณท่าเรือตลอดจนการให้บริการด้านการท่าเรือ จำเลยที่ 1 จึงจ้างจำเลยที่ 2 ให้จัดรถทำการลากจูงตู้ลำเลียงของจำเลยที่ 1 ไปบรรทุกสินค้าและลากจูงไปยังท่าเรือสัตหีบแต่การตกลงรับขนส่งของทั้งในช่วงทางบกและทางทะเลจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับติดต่อและตกลงกับเจ้าของสินค้าผู้ส่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทจากกรุงเทพมหานครผ่านท่าเรือสัตหีบไปให้แก่บริษัท ท. ที่ท่าเรือฮ่องกงดังนี้ จำเลยที่ 1เป็นผู้ขนส่งในช่วงทางบกด้วย
การรับขนส่งสินค้าซึ่งแบ่งการขนส่งออกได้เป็นทอด ๆ การจ้างให้ผู้อื่นทำการขนส่งแทนในทอดใดทอดหนึ่งโดยให้ผู้นั้นไปรับค่าจ้างจากผู้จ้างได้โดยตรงนั้นไม่ทำให้ผู้รับขนพ้นความรับผิดสำหรับการขนส่งทอดนั้น ๆ ไปได้ตาม มาตรา 617 และ มาตรา 618
แม้จะฟังว่าสินค้าถูกคนร้ายลักไปในระหว่างที่พนักงานของจำเลยที่ 2 ลากจูงตู้ลำเลียงจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขนส่งก็ยังต้องรับผิดในการที่สินค้าสูญหายตามมาตรา 617 และ มาตรา 618 อยู่นั่นเอง
การควบคุมดูแลรักษาสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้ลำเลียงไม่จำเป็นต้องมีกุญแจหรือเครื่องมืออื่นใดในเมื่อจำเลยที่ 2 วางใจว่าการปิดประตูตู้แล้วผนึกด้วยตราของจำเลยที่ 1 และตราของเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้นเป็นการเพียงพอจำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งคนหนึ่งด้วยในการขนส่งสินค้ารายนี้
ตาม มาตรา 618 นั้น มิได้บัญญัติว่าต้องเป็นการร่วมกันทำการขนส่งดังนั้นการที่จะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ จึงไม่เป็นปัญหา
จำเลยที่ 1 รับจ้างขนสินค้ารายพิพาทจากคลังสินค้าของผู้ส่งไปยังท่าเรือสัตหีบแล้วขนส่งโดยทางเรือทะเลไปให้ผู้รับตราส่ง ณ ท่าเรือฮ่องกงได้จ้างจำเลยที่ 2 ลากจูงตู้ลำเลียงซึ่งบรรจุสินค้าแล้ว จากคลังสินค้าของผู้ส่งไปยังท่าเรือสัตหีบ ต่อแต่นั้นจำเลยที่ 1 จึงใช้เรือเดินทะเลของตนขนส่งตู้ลำเลียงดังกล่าวไปยังท่าเรือปลายทางอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความใน มาตรา 618 แล้ว
แม้ไม่ได้ความชัดว่าสินค้าหายไปในระหว่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 กันแน่นั้น ก็ไม่เป็นข้อขัดข้องที่จะบังคับตามมาตรา 618
ใบกำกับของและใบตราส่งนั้น ตามกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำให้แก่กัน จำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ที่จำเลยที่ 1 จ้างให้ทำการขนส่งทอดหนึ่งในการขนส่งหลายทอดอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำเอกสารดังกล่าวให้แก่กันไว้ก็ได้
ย่อยาว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 245,869.88 บาท กับดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้เงินจำนวนดังกล่าวและดอกเบี้ยแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ฎีกาข้อ 2 จำเลยที่ 1 คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับขนร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่า ไม่มีเอกสารหรือพยานหลักฐานใดที่ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างบริษัทลักกี้เท็กซ์จำกัด ขนสินค้าในช่วงทางบก จำเลยที่ 1 มิได้มีวัตถุประสงค์ในการรับขนทางบกด้วย ไม่มียานพาหนะในการขนถ่ายสินค้าทางบก ตู้ลำเลียงของจำเลยที่ 1 ก็เป็นเพียงภาชนะใส่ของเท่านั้น การที่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 มีสัญญาต่อกันนั้นก็เป็นไปตามระเบียบของทางราชการที่จำเลยที่ 1 จะต้องให้จำเลยที่ 2 ลากจูงตู้ลำเลียงของจำเลยที่ 1 ไป ขนถ่ายลงเรือเดินสมุทรของจำเลยที่ 1 ต่อไปจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้าเข้าตู้ลำเลียงและการขนส่งตู้ลำเลียงไปยังท่าเรือสัตหีบ สินจ้างในการลากจูงตู้ลำเลียงสินค้านั้นผู้ขายสินค้าก็จ่ายให้แก่จำเลยที่ 2 โดยตรง จำเลยที่ 1 คิดค่าระวางการขนส่งเฉพาะการขนส่งทางทะเลเท่านั้น ข้อนี้ได้ความจากคำพยานโจทก์และพยานจำเลยว่า จำเลยที่ 1ดำเนินกิจการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยวิธีบรรจุสินค้าเข้าในตู้ลำเลียง เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 1 มารับตู้ลำเลียงอันบรรจุสินค้าแล้ว ณ ท่าเรือน้ำลึกที่สัตหีบแต่การขนส่งสินค้าเข้าไปในบริเวณท่าเรือสัตหีบตลอดจนการให้บริการด้านการท่าเรือนั้น จำเลยที่ 2 เป็นผู้ผูกขาด จำเลยทั้งสองจึงมีสัญญาต่อกันโดยจำเลยที่ 1จ้างให้จำเลยที่ 2 จัดรถทำการลากจูงตู้ลำเลียงของจำเลยที่ 1 ไปบรรทุกสินค้าและลากจูงตู้ลำเลียงซึ่งบรรทุกสินค้าแล้วไปยังท่าเรือสัตหีบ แต่การตกลงรับขนส่งของทั้งในช่วงทางบกและทางทะเลจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับติดต่อและตกลงกับเจ้าของสินค้าผู้ส่ง ดังจะเห็นได้จากใบตราส่งหมาย จ.14 และ จ.15 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำให้ไว้แก่บริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด ผู้ส่ง ซึ่งแสดงว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้ารายพิพาทนี้จากกรุงเทพมหานครผ่านท่าเรือสัตหีบไปให้แก่บริษัทเท็กซ์ไทล์ อัลไลแอนซ์ จำกัด ที่ท่าเรือฮ่องกง ดังนี้ จำเลยที่ 1 จะโต้เถียงว่าตนมิได้เป็นผู้ขนส่งในช่วงทางบกด้วยหาได้ไม่ ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าตนมิได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุสินค้าเข้าตู้ลำเลียงนั้น ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ก็มิได้เกี่ยวข้องกับการบรรจุเหมือนกัน แต่ตู้ลำเลียงเป็นของจำเลยที่ 1 ซ้ำจำเลยที่ 1 ยังมอบตราผนึกของตนให้คนของผู้ส่งสินค้านำไปผนึกประตูตู้ลำเลียงเมื่อบรรจุสินค้าเสร็จแล้วด้วย เป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 1 ไว้วางในใจพนักงานของผู้ส่งสินค้าในการนำสินค้าบรรจุเข้าตู้ลำเลียง ทั้งนี้เพราะเห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ศุลกากรควบคุมอยู่นั่นเอง จำเลยที่ 1 จะยกเอาเรื่องการบรรจุสินค้ามาเป็นข้อแก้ตัวหาได้ไม่ ส่วนที่บริษัทผู้ส่งสินค้าได้จ่ายค่าลากจูงตู้ลำเลียงให้แก่จำเลยที่ 2 โดยตรงนั้น ก็ได้ความจากคำพยานจำเลยที่ 2 ว่า เนื่องจากสินค้ารายพิพาทนี้ไม่ใช่สินค้าของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องเป็นผู้จ่ายค่าลากจูงตู้ลำเลียงเปล่าจากสถานีพักของจำเลยที่ 1 ที่สำโรงไปยังคลังสินค้าของบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด กับค่าลากจูงตู้ลำเลียงซึ่งบรรจุสินค้าแล้วจากคลังสินค้าดังกล่าวกลับมายังสำโรง โดยจำเลยที่ 1 สั่งให้จำเลยที่ 2 ไปเก็บเงินสำหรับการลากจูงช่วงนั้นจากบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด โดยตรง แต่ค่าลากจูงช่วงจากสำโรงไปยังท่าเรือสัตหีบนั้น จำเลยที่ 1 ก็ยังต้องจ่ายให้จำเลยที่ 2 อยู่ อย่างไรก็ดี การรับขนส่งสินค้าซึ่งแบ่งการขนส่งออกได้เป็นทอด ๆ การจ้างให้ผู้อื่นทำการขนส่งแทนในทอดใดทอดหนึ่งโดยให้ผู้นั้นไปรับค่าจ้างจากผู้จ้างได้โดยตรงนั้นไม่ทำให้ผู้รับขนพ้นความรับผิดสำหรับการขนส่งทอดนั้น ๆ ไปได้ ทั้งนี้ตามมาตรา 617และมาตรา 618 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำเลยที่ 1 ฎีกาเป็นข้อสุดท้ายว่า ข้อเท็จจริงปรากฏชัดว่าสินค้าในตู้ลำเลียงรายนี้ได้สูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่จะนำตู้ลำเลียงลงเรือเดินสมุทรของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมด้วย ได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ถึงหากจะฟังว่าสินค้าผ้ารายนี้ถูกคนร้ายลักไปในระหว่างที่พนักงานของจำเลยที่ 2 ลากจูงตู้ลำเลียง จำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้รับจ้างขนส่งต่อบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด ก็ยังต้องรับผิดในการที่สินค้าผ้าสูญหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 617 และมาตรา 618อยู่นั่นเอง
ส่วนจำเลยที่ 2 นั้นฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า จำเลยที่ 2ต้องรับผิดร่วมด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 และมาตรา 618 โดยอ้างเหตุผลหลายประการ ประการแรก จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีหน้าที่แต่เพียงลากจูงตู้ของจำเลยที่ 1 ไปส่งยังที่หมายต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้ทราบ ไม่มีหน้าที่ที่จะต้องมีกุญแจหรือเครื่องมือสำหรับควบคุมดูแลรักษาทรัพย์สินที่บรรจุอยู่ในตู้ จำเลยที่ 2 เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการรับจ้างลากจูงตู้ตามสัญญาจ้างที่มีอยู่กับจำเลยที่ 1 เท่านั้น หากปรากฏว่าตู้ชำรุดหรือสูญหายไปหรือส่งไปไม่ถึงที่หมาย บริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด และจำเลยที่ 1 ย่อมจะปฏิเสธไม่ชำระค่าจ้างลากจูงตู้ให้จำเลยที่ 2 ที่บริษัทลักกี้เท็กซ์จำกัด ไม่ได้ปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างลากจูงนั้นแสดงว่าการลากจูงสำเร็จเรียบร้อยและพยานโจทก์ก็ยังเบิกความว่า จำเลยที่ 2 จะมาลากจูงตู้ไปก็ต่อเมื่อบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด แจ้งไปว่าสินค้าบรรจุอยู่ในตู้เรียบร้อยแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะขอตรวจดูของที่บรรจุอยู่ในตู้ จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งสินค้าของบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัดร่วมกับจำเลยที่ 1 ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองนำสืบนั้น มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 รับจ้างลากจูงแต่ตู้ลำเลียงเปล่า ๆ ซึ่งจะรับผิดเฉพาะความชำรุดหรือสูญหายอันจะเกิดแก่ตัวตู้ หากแต่รับจ้างลากจูงตู้ลำเลียงซึ่งบรรจุสินค้าแล้วด้วย ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้กล่าวเองในฎีกาว่า จำเลยที่ 2จะดูตราของจำเลยที่ 1 และตราของกรมศุลกากรเสียก่อน เพราะเป็นสินค้าที่ส่งออกนอกประเทศ ถ้ามีตรากำกับไว้ก็แสดงว่าบรรจุสินค้าเข้าตู้ไว้เสร็จเรียบร้อย จำเลยที่ 2 จะทำการลากจูงไป ถ้าไม่มีตราแสดงไว้ก็หมายความว่ายังบรรจุสินค้าเข้าตู้ไม่เรียบร้อย จำเลยที่ 2 ก็จะยังไม่ลากจูงไป ดังนี้ย่อมเห็นได้แล้วว่าจำเลยที่ 2 ก็เป็นผู้ขนส่งคนหนึ่งด้วยในการขนส่งสินค้าผ้ารายนี้ตามความในมาตรา 618 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การควบคุมดูแลรักษาสินค้าซึ่งบรรจุอยู่ในตู้ลำเลียงไม่จำเป็นต้องมีกุญแจหรือเครื่องมืออื่นใดในเมื่อจำเลยวางใจว่าการปิดประตูตู้แล้วผนึกด้วยตราของจำเลยที่ 1และตราของเจ้าหน้าที่ศุลกากรนั้นเป็นการมั่นคงเพียงพอ และการที่พยานโจทก์ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิที่จะขอตรวจดูของที่บรรจุอยู่ในตู้ก่อนที่จะลากตู้ไปนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิจัดคนไปควบคุมการบรรจุสินค้าซึ่งตนจะต้องรับผิดชอบในการขนส่งด้วย ฎีกาข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยที่ 2 อ้างเหตุประการที่ 2 ว่า การลากจูงของจำเลยที่ 2 เป็นการรับจ้างเฉพาะอย่าง จำเลยที่ 2 ไม่ล่วงรู้ถึงกิจการและการดำเนินงานตลอดจนรายได้ของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ร่วมทำการขนส่งและร่วมกันมีรายได้จากการขนส่งโดยตลอดระยะเวลาการทำงาน จึงไม่ใช่การร่วมขนส่ง ศาลฎีกาเห็นว่า การที่ศาลวินิจฉัยให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดด้วยนั้นก็โดยอาศัยมาตรา 618 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ท่านว่าผู้ขนส่งทั้งนั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในการสูญหาย บุบสลาย หรือส่งชักช้า” เมื่อกฎหมายก็มิได้บัญญัติว่าต้องเป็นการร่วมกันทำการขนส่ง ดังนั้นการที่จะถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมทำการขนส่งกับจำเลยที่ 1 หรื่อไม่ จึงไม่เป็นปัญหา
ในประการที่ 3 จำเลยที่ 2 อ้างว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับจ้างจำเลยที่ 1ให้ลากจูงตู้ลำเลียงของจำเลยที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมทำการขนส่งสินค้าที่บริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ขนส่งด้วยการขนส่งรายนี้จึงไม่ใช่การขนส่งหลายช่วงหรือหลายทอด ศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยที่ 1 รับจ้างขนสินค้าผ้ารายพิพาทจากคลังสินค้าของผู้ส่งไปยังท่าเรือสัตหีบแล้วขนส่งโดยทางเรือเดินทะเลจากท่าเรือสัตหีบไปให้ผู้รับตราส่ง ณท่าเรือที่ฮ่องกง ได้จ้างให้จำเลยที่ 2 ลากจูงตู้ลำเลียงซึ่งบรรจุสินค้าแล้วจากคลังสินค้าของผู้ส่งไปยังท่าเรือสัตหีบ ต่อแต่นั้นจำเลยที่ 1 จึงใช้เรือเดินทะเลของตนขนส่งตู้ลำเลียงดังกล่าวจากท่าเรือสัตหีบไปยังท่าเรือปลายทางอีกทอดหนึ่ง ดังนี้ ย่อมถือได้ว่าของนั้นได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความในมาตรา 618 แล้ว
ในประการที่ 4 จำเลยที่ 2 อ้างว่าสินค้ารายนี้ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าสูญหายไปในระหว่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ใดกันแน่ จะหายไปในระหว่างที่ตู้ลำเลียงอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เพื่อรอลงเรือหรือว่าสูญหายไปโดยไม่ได้บรรจุเข้าตู้ลำเลียงก็ไม่ได้ความชัด ได้พิเคราะห์พยานหลักฐานขอโจทก์และจำเลยที่ 1แล้วฟังได้ชัดว่าได้มีการบรรจุสินค้าผ้าเข้าตู้พิพาทครบถ้วนแล้ว เจ้าหน้าที่ศุลกากรจึงได้ผนึกตรา ส่วนข้อที่ว่าไม่ได้ความชัดว่าสินค้าหายไปในระหว่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 กันแน่นั้นไม่เป็นข้อขัดข้องที่จะบังคับตามมาตรา 618
จำเลยที่ 2 ฎีกาอ้างเหตุผลเป็นประการสุดท้ายว่า การขนส่งรายนี้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้เรียกเอาใบกำกับของจากบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัด หรือจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ออกใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 หรือบริษัทลักกี้เท็กซ์ จำกัดจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำการขนส่งเป็นอาชีพปกติ ถ้าเป็นผู้ขนส่งสินค้ารายนี้ก็คงจะไม่ปล่อยปละละเลยเช่นนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าใบกำกับของและใบตราส่งนั้นตามกฎหมายมิได้บังคับว่าต้องทำให้แก่กันจำเลยที่ 2 เป็นแต่เพียงผู้ที่จำเลยที่ 1 จ้างให้ทำการขนส่งทอดหนึ่งในการขนส่งหลายทอดอาจจะเห็นว่าไม่จำเป็นต้องทำเอกสารดังกล่าวให้แก่กันไว้ก็ได้ และการปล่อยปละละเลยของจำเลยที่ 2 ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย เช่น การบรรจุสินค้าเข้าตู้ลำเลียงนั้น จำเลยที่ 2 ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 คือไม่ได้จัดพนักงานให้ไปดูแลบ้างเลย”
พิพากษายืน