คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พฤติการณ์ที่ผู้ตายพาโจทก์ไปมอบตัวตามโรงเรียนต่าง ๆเหมือนบิดากับบุตรโดยทั่วไปได้ปฏิบัติกัน และปฏิบัติต่อโจทก์อย่างโจทก์เป็นบุตรโดยให้โจทก์ใช้นามสกุลของผู้ตายและเป็นผู้อุปถัมภ์ค่าเล่าเรียน เครื่องแต่งตัว เครื่องเล่าเรียน ถือได้ว่าผู้ตายได้รับรองโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 แล้ว ผู้ตายกับ ฉ. สมรสกันก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 พ.ศ. 2477 ซึ่งตามพระราชบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519มาตรา 4 บัญญัติว่า บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4และมาตรา 5แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477ดังนั้น การแบ่งสินสมรสของผู้ตายกับ ฉ. จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย บทที่ 68 หาใช่แบ่งคนละส่วนเท่ากันตามมาตรา 1533 ไม่ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีสินเดิมด้วยกัน เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายสินสมรสต้องแบ่งเป็นสามส่วนเป็นของผู้ตายสองส่วน อีกส่วนหนึ่งเป็นของ ฉ. แม้คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2527 วินิจฉัยถึงสิทธิของ ฉ.ซึ่งฟ้องขอเพิกถอนการโอนที่ดินแปลงอื่นและเรียกที่ดินคืนจากจำเลยในคดีดังกล่าวว่า ฉ. มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวครึ่งหนึ่งแต่ไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงไม่ใช่คำพิพากษาที่แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่า ฉ. มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ที่จะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมายันโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งมรดกจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายจำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทไม่อาจจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกผู้ตายที่ได้รับการรับรองจากผู้ตายแล้ว ผู้ตายมีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก 6 คน ที่ดินมีโฉนดหลายแปลงและสิ่งปลูกสร้าง เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับนางเฉลิม คิดเป็นเงิน 3,638,000 บาท ที่ดินดังกล่าวเป็นส่วนของนางเฉลิม เสียหนึ่งในสาม คิดเป็นเงิน 1,212,666 บาทส่วนที่เหลือคิดเป็นเงิน 2,425,334 บาท จึงเป็นกองมรดกของผู้ตายซึ่งโจทก์มีสิทธิจะได้รับหนึ่งในหกส่วนคิดเป็นเงิน 404,223.33 บาทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นมรดกรายนี้ได้ให้บุคคลอื่นเช่าสามารถเก็บค่าเช่าได้เดือนละ 20,000 บาท จึงขอให้บังคับจำเลยแบ่งโอนโฉนดที่ดินในกองมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกให้แก่โจทก์ หนึ่งในหกส่วน หากจำเลยไม่แบ่ง ให้โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากแบ่งไม่ได้ก็ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 404,223.33 บาท กับแบ่งรายได้จากค่าเช่าทรัพย์มรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกให้แก่โจทก์ หนึ่งในหกส่วนของค่าเช่าทุก ๆเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่บุตร ของผู้ตาย ที่ดินพิพาทตามฟ้องเป็นสินสมรสของนางเฉลิม และผู้ตาย ทรัพย์ที่ศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการโอนนั้นตกเป็นกองมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกและนางเฉลิม คนละกึ่งหนึ่ง สินสมรสของนายเฉลิม จึงมิใช่มีเพียงหนึ่งในสามส่วนตามฟ้อง ขณะผู้ตายถึงแก่กรรมมีทายาททั้งหมด 6 คน หากโจทก์มีสิทธิได้รับก็เพียงหนึ่งในเจ็ดส่วนคิดเป็นเงินเพียง 259,857 บาทเศษ ส่วนทรัพย์สินอันเป็นมรดกที่ให้ผู้อื่นเช่าคงมีรายได้ประมาณเดือนละ 10,000 บาท หักค่าใช้จ่ายแล้วมีรายได้ไม่ถึงเดือนละ20,000 บาทตามฟ้อง โจทก์มิได้ฟ้องคดีภายใน 1 ปี นับแต่เจ้ามรดกถึงแก่กรรม คดีขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกแบ่งมรดกในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ปลูกในที่ดินตามฟ้องเฉพาะส่วนที่ตกเป็นกองมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกให้แก่โจทก์หนึ่งในเจ็ดส่วน หากแบ่งไม่ได้ก็ให้ใช้เงินจำนวน 346,476 บาทพร้อมกับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้แบ่งเงินค่าเช่าทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะแบ่งมรดกเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า แม้นาวาเอกหลวงพินิจกลไกจะไม่ใช่ผู้แจ้งการเกิดของโจทก์ก็ตาม แต่ได้มีการแจ้งนามสกุลของโจทก์ว่าสุวรรณสโรช และมีนาวาเอกหลวงพินิจกลไกเป็นบิดาในแบบมอบตัวของโรงเรียนจำนงค์ วิทยาปรากฏว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้แจ้งว่าโจทก์เป็นบุตรและอยู่อาศัยอยู่บ้านเดียวกัน และจะเป็นผู้อุปถัมภ์ค่าเล่าเรียน เครื่องแต่งตัว เครื่องเล่าเรียน ให้พอใช้สอยถูกต้องตามระเบียบและข้อบังคับของโรงเรียน และด้านหลังใบมอบตัวของโรงเรียนผะดุงศิษย์พิทยาระบุว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกเป็นผู้ปกครองและเป็นบิดาของโจทก์ เห็นว่าพฤติการณ์ที่นาวาเอกหลวงพินิจกลไกพาโจทก์ไปมอบตัวตามโรงเรียนต่าง ๆ เหมือนบิดากับบุตรโดยทั่วไปปฏิบัติกัน และปฏิบัติต่อโจทก์อย่างโจทก์เป็นบุตรของตนเช่นนี้ถือได้ว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกได้รับรองโจทก์ซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายว่าเป็นบุตรของตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 แล้ว
มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกจำนวนเท่าไร เห็นว่า พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 มาตรา 4 บัญญัติว่า บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่ไม่กระทบกระเทือนถึงบทบัญญัติ มาตรา 4 และ มาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติบรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พุทธศักราช 2477 ดังนั้นการแบ่งสินสมรสของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกกับนางเฉลิม ซึ่งสมรสกันก่อนวันใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 เดิม จึงต้องแบ่งตามกฎหมายลักษณะผัวเมียบทที่ 68 หาใช่แบ่งให้คนละส่วนเท่ากันตามมาตรา 1533 ไม่ ไม่ปรากฏว่านาวาเอกหลวงพินิจกลไกและนางเฉลิมมีสินเดิม จึงต้องฟังว่าทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีสินเดิมด้วยกัน เมื่อนาวาเอกหลวงพินิจกลไกถึงแก่กรรม สินสมรสต้องแบ่งเป็นสามส่วนเป็นของนาวาเอกหลวงพินิจกลไกสองส่วนอีกหนึ่งส่วนเป็นของนางเฉลิมที่จำเลยอ้างว่าตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2527 ได้พิพากษาให้นางเฉลิม มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินครึ่งหนึ่งแล้ว ที่ดินแปลงอื่นที่ได้มาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1221/2527 นางเฉลิม จึงมีกรรมสิทธิ์ครึ่งหนึ่งด้วย เพราะการได้มาของที่ดินดังกล่าวได้มาในลักษณะเดียวกันกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 566/2527 เห็นว่า คำพิพากษาศาลฎีกาที่566/2527 วินิจฉัยถึงสิทธิของคู่ความในคดีดังกล่าวโดยไม่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท คำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวไม่ใช่คำพิพากษาที่แสดงหรือวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทว่านางเฉลิม มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทครึ่งหนึ่ง จึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145(2) ที่จะนำคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวมายันแก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ ดังนั้นสองในสามส่วนของที่ดิน 19 แปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องจึงเป็นมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก โจทก์มีสิทธิได้รับหนึ่งในเจ็ดส่วนของทรัพย์มรดกดังกล่าว
จำเลย ฎีกาประการสุดท้ายว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องหลังจากเจ้ามรดกถึงแก่กรรมเป็นเวลาถึง 6 ปี จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 นั้น เห็นว่า โจทก์ฟ้องจำเลยขอแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนาวาเอกหลวงพินิจกลไก จำเลยตกอยู่ในฐานะผู้ครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาททั้งหลายเท่านั้น จำเลยไม่อาจจะยกอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
พิพากษายืน.

Share