คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 740/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การพิจารณาของศาลตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายนั้น อาจพิจารณาได้จากสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั่นเอง ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องออกนั่งพิจารณาฟังพยานหลักฐานอะไรอีกก็ได้
เจ้าหนี้ให้เงินตามจำนวนในเช็คแก่ลูกหนี้ไปแลกกับเช็คที่ลูกหนี้ออกให้ลงวันออกล่วงหน้าไว้ แต่วันที่ลงในเช็คเป็นวันภายหลังวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เช็คนี้จึงเพิ่งเกิดมูลหนี้ขึ้นภายหลังวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด ต้องด้วยข้อจำกัดมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 94 เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้ในฐานเป็นผู้ทรงเช็คหาได้ไม่และจะขอรับชำระหนี้จำนวนนี้ในฐานเป็นหนี้กู้ยืมในเมื่อไม่ได้ทำสัญญากู้ยืมต่อกัน เพียงแต่ลูกหนี้ออกเช็คให้เจ้าหนี้ไว้เป็นหลักฐานเช่นนี้ก็ไม่ได้ เพราะเช็คไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืม (อ้างฎีกาที่ 1595/2503) จึงเป็นหนี้ที่จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 ต้องด้วยข้อจำกัดมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา94 อีก

ย่อยาว

คดี 3 สำนวนนี้ เป็นเรื่องเจ้าหนี้แต่ละสำนวนขอรับชำระหนี้ในคดีล้มละลาย เนื่องจากศาลแพ่งสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้ง 2 เด็ดขาดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2505 ต่อมาพิพากษาให้จำเลยทั้ง 2 ล้มละลายแล้ว มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้หลายราย แต่เป็นคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาเฉพาะ 3 ราย 3 สำนวนนี้เท่านั้น คือ

1. รายนายแจ้ง พาณิชย์ปฐม ขอรับชำระหนี้รวม 624,375 บาทเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอความเห็นต่อศาลแพ่งว่า สมควรให้ได้รับชำระหนี้เพียง 211,875 บาท ศาลแพ่งมีคำสั่งแก้ให้ได้รับชำระหนี้เต็มตามคำขอ

2. รายนายบุญยัง แสนสมรส ขอรับชำระหนี้เงินกู้ 2 คราว ๆ แรกทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย 10,175 บาท คราวหลัง 50,000 บาทกับจำเลยทั้ง 2 ยืมเงินไปออกเช็คล่วงหน้าให้ไว้ 2 ฉบับ ๆ หนึ่ง50,000 บาท อีกฉบับหนึ่ง 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย 814.64 บาท รวมทั้งสิ้น 150,989.64 บาท เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอความเห็นต่อศาลแพ่งว่า สมควรให้ได้รับชำระหนี้เพียง 10,175 บาท (ต้นเงินและดอกเบี้ยคราวแรก) ส่วนหนี้นอกนั้นเชื่อว่าเป็นหนี้สมยอม และโดยเฉพาะหนี้เงินยืมตามเช็ค 2 ฉบับรวม 90,000 บาท มูลหนี้เพิ่งเกิดขึ้นภายหลังวันพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 94 กับเช็คไม่ใช่หลักฐานการกู้ยืม เงินยืมจำนวนนี้ย่อมจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันไม่ได้ จึงต้องห้ามมิให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ ศาลแพ่งมีคำสั่งแก้ให้ได้รับชำระหนี้เงินกู้คราวหลัง 50,000 บาท นอกนั้นเห็นชอบ

3. รายขุนโชติธนการ ยื่นคำขอรับชำระหนี้และขอถอนบางส่วนคงเหลือหนี้เงินกู้กับหนี้ตามเช็ค 2 ฉบับ รวม 403,341 บาทเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอความเห็นว่า สมควรให้ได้รับชำระหนี้เฉพาะเงินกู้และดอกเบี้ยรวม 162,569.45 บาท ส่วนหนี้ตามเช็ค2 ฉบับ รวม 240,164 บาทเห็นว่าเป็นหนี้สมยอม ศาลแพ่งมีคำสั่งแก้ให้ได้รับชำระหนี้ตามเช็ค 2 ฉบับ ด้วยนอกนั้นเห็นชอบ

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์เฉพาะรายนายแจ้งและขุนโชติธนการ ขอให้เป็นไปตามความเห็นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือให้ศาลแพ่งพิจารณาฟังพยานหลักฐานต่อไปแล้วมีคำสั่งใหม่

นายบุญยังเจ้าหนี้ขอให้ได้รับชำระหนี้ตามเช็ค 2 ฉบับด้วย

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์และนายบุญยังฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาวินิจฉัยฎีกาของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จะลงเอาว่านายแจ้งและขุนโชติธนการเจ้าหนี้สมยอมกับจำเลยนั้นผิวเผินไม่สมที่จะเป็นไปได้ และเห็นว่าตามพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 107 มิได้บัญญัติให้ศาลต้องพิจารณาด้วยวิธีใด และก่อนเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เสนอความเห็นว่าจะโต้แย้งคำขอรับชำระหนี้รายใดหรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ต้องเรียกเจ้าหนี้ลูกหนี้และบุคคลใดมาสอบสวนในเรื่องหนี้สินเป็นสำนวนการสอบสวนขึ้นแล้วจึงทำความเห็นส่งสำนวนมาศาลตามมาตรา 105 และตามมาตรา 6 กระบวนคดีล้มละลายหมายความว่ากระบวนพิจารณาซึ่งบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะกระทำต่อศาลหรือต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตั้งแต่เริ่มคดีจนถึงคดีสิ้นสุดฉะนั้น การพิจารณาของศาลตามมาตรา 107 นั้น ซึ่งอาจพิจารณาได้จากสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั่นเอง ไม่จำเป็นที่ศาลจะต้องออกนั่งพิจารณาฟังพยานหลักฐานอะไรก็ได้ และสำหรับคดีนี้ ข้อโต้แย้งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อาศัยเพียงเหตุผลในสำนวนการสอบสวนของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เท่านั้น ไม่มีหลักฐานอย่างใดอีกเลย ทั้งลูกหนี้เจ้าหนี้อื่นก็ไม่ติดใจโต้แย้งแล้วจะให้ศาลพิจารณาฟังพยานหลักฐานหรือถ้อยแถลงของคู่ความฝ่ายใดต่อไปอีกเล่า ศาลแพ่งสั่งชอบแล้ว

และวินิจฉัยฎีกาของนายบุญยังเจ้าหนี้ว่า หนี้ตามเช็คฉบับหนึ่งเงิน 50,000 บาท ลงวันที่ 4 มีนาคม 2505 อีกฉบับหนึ่งเงิน 40,000 บาท ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2505 ทั้ง 2 ฉบับ แม้จะสืบเนื่องมาจากเจ้าหนี้ให้เงินตามจำนวนในเช็คแก่ลูกหนี้ไปแลกกับเช็คที่ลูกหนี้ออกให้โดยลงวันล่วงหน้าไว้ เมื่อถึงกำหนดวันในเช็คยังไม่ชำระเงิน ลูกหนี้ก็ออกเช็คลงวันล่วงหน้าให้ไว้ใหม่ปฏิบัติกันเช่นนี้หลายครั้ง จนครั้งสุดท้าย คือ เช็ค 2 ฉบับนี้ก็ดีเช็คแต่ละฉบับที่ลูกหนี้ออกให้เจ้าหนี้ไว้จะเกิดมูลแห่งหนี้ต่อกันต่อเมื่อถึงวันที่ลงในเช็คแล้ว ก่อนนั้นขึ้นไป ยังหาเกิดมูลแห่งหนี้ต่อกันตามเช็คนั้นไม่ และเช็คฉบับเดิมที่ออกฉบับใหม่เปลี่ยนให้แล้วก็ย่อมปราศจากมูลแห่งหนี้ไปทันที เช็ค 2 ฉบับนี้ลงวันภายหลังวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แม้จะส่งมอบเช็คให้แก่เจ้าหนี้ก่อนวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เจ้าหนี้ผู้ทรงเช็คก็ยังหามีสิทธิเรียกเงินตามเช็คนั้นได้ไม่ จำเป็นต้องรอจนกว่าจะถึงวันที่ลงในเช็คแล้ว จึงจะมีสิทธิเรียกเงินตามเช็คได้เช็ค 2 ฉบับนี้จึงเพิ่งเกิดมูลหนี้ขึ้นภายหลังวันศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมเป็นหนี้ที่ต้องด้วยข้อจำกัดมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระได้ตามมาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 เจ้าหนี้จะขอรับชำระหนี้โดยอาศัยมูลหนี้ตามเช็ค 2 ฉบับนี้ คือ ขอรับชำระหนี้ในฐานเป็นผู้ทรงหาได้ไม่ และการขอรับชำระหนี้จำนวนนี้ ในฐานเป็นหนี้กู้ยืม เพียงแต่ลูกหนี้ออกเช็คให้เจ้าหนี้ไว้เป็นหลักฐานเช่นนี้ เช็คมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1595/2503 ฉะนั้น เจ้าหนี้จะได้ให้ลูกหนี้กู้ยืมเงินจำนวนนี้ไปจริงหรือไม่ก็ตาม ก็ย่อมเป็นหนี้ที่เจ้าหนี้จะฟ้องร้องให้บังคับคดีไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 และก็ย่อมเป็นหนี้ที่ต้องด้วยข้อจำกัดมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระได้ตามมาตรา 94 ที่กล่าวนั้นอีก จึงพิพากษายืน

Share