คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2704/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482ก่อนถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 นั้นผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามข้อบังคับที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดไว้ หากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าห้ามมิให้รับพิจารณาคำร้องขอคืนเงินอากร แต่มาตรา 19 วรรคท้าย ที่บัญญัติขึ้นใหม่โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ข้อ 18 มิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้พิจารณาคำขอคืนเงินอากรในกรณีที่มิได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนไว้ แสดงว่าการขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19ที่บัญญัติขึ้นใหม่นี้กฎหมายมิได้ถือเอาการปฏิบัติตามข้อบังคับของอธิบดีกรมศุลกากรโดยถูกต้องครบถ้วนเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาคืนเงินอากรให้แก่ผู้นำเข้าเหมือนที่เคยบัญญัติไว้เดิม ดังนั้น หากโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 19(ก)ถึง(ง) แล้ว จำเลยจะยกเอาเหตุที่โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรโดยใช้แบบพิมพ์ผิดไปจากแบบที่อธิบดีของจำเลยได้กำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์หาได้ไม่ แม้โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 ง. ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 แทนที่จะยื่นคำขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 แต่โจทก์ก็ยื่นคำขอดังกล่าวภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศ ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอคืนเงินอากรภายในกำหนดเวลาตามเงื่อนไขในมาตรา 19(ง) แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,922,242.40 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยรับชำระค่าภาษีต่าง ๆ จากโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 34,840.02 บาท รวมเป็นเงิน1,957,082.42 บาท ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 1,922,242.40 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ผู้นำเข้าจะขอเงินอากรคืนต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ 27/2523 ด้วยคือต้องใช้แบบที่ 226 ยื่นคำร้องขอคืนอากรเมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบที่ 226 คืนเงินอากรตามมาตรา 19ภายในเวลาหกเดือนนับแต่วันส่งของนั้นกลับออกไปต่อเจ้าหน้าที่จำเลยโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรคืนตามมาตรา 19 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,922,242.40บาท พร้อมดอกเบี้ยจำนวน 34,840.02 บาท รวมเป็นเงิน1,957,082.42 บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,922,242.40 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่าสินค้าที่โจทก์ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศ เป็นสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ ซี.055-00070/1 พ.ศ. 2525 และเลขที่ ซี.055-00208/11พ.ศ. 2525 หลังจากโจทก์ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศแล้ว โจทก์จะต้องยื่นเรื่องขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 แต่โจทก์ใช้แบบที่ 226 ง.ต่อมาเมื่อเกินระยะเวลาหกเดือนแล้วโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอคืนเงินอากรจาก แบบที่ 226 ง. มาเป็นแบบที่ 226 คงมีปัญหาในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า การที่โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรโดยใช้แบบพิมพ์ผิดไปจากแบบที่อธิบดีของจำเลยกำหนดไว้จะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องคืนเงินอากรให้แก่โจทก์ตามมาตรา 19แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่โดยข้อ 18แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515ได้กำหนดเงื่อนไขในการคืนอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำของเข้าในกรณีที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว แต่ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร รวม 4 ประการ คือ (ก) ระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร ของนั้นมิได้ใช้ประโยชน์ด้วยประการใด ๆเว้นแต่เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งของนั้นกลับออกไป และมิได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณะใด ๆ (ข) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปทางท่าเรือหรือที่สำหรับการส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า(ค) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า และ(ง) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป และมาตรา 19 วรรคท้าย บัญญัติว่า “อธิบดีมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการพิสูจน์ของการส่งของกลับออกไป การจัดทำและยื่นเอกสารต่าง ๆ การคำนวณเงินอากรที่พึ่งคืนให้ และวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการขอคืนเงินอากรนี้” แต่พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 วรรคท้าย ก่อนถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 ดังกล่าว บัญญัติว่า”ให้อธิบดีมีอำนาจออกข้อบังคับศุลกากรว่าด้วยวิธีการพิสูจน์ของการส่งของกลับออกไป การยื่นสมุดเอกสารต่าง ๆ การคำนวณเงินอากรที่พึงคืนให้ และวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอคืนเงิน และห้ามมิให้รับพิจารณาคำร้องขอคืนเงินอากรรายใด ๆเว้นไว้แต่จะได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วตามข้อบังคับที่กล่าวนั้น”จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่า การยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ก่อนถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329นั้น ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามข้อบังคับที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดไว้ หากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าห้ามมิให้รับพิจารณาคำร้องขอคืนเงินอากรแต่มาตรา 19 วรรคท้าย ที่บัญญัติขึ้นใหม่โดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 มิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้พิจารณา คำขอคืนเงินอากรในกรณีที่มิได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนไว้ แสดงว่าการขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ที่บัญญัติขึ้นใหม่นี้ กฎหมายมิได้ถือเอาการปฏิบัติตามข้อบังคับของอธิบดีกรมศุลกากรโดยถูกต้องครบถ้วนเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาคืนเงินอากรให้แก่ผู้นำเข้าเหมือนที่เคยบัญญัติไว้เดิมดังนั้น หากโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 9(ก) ถึง (ง) แล้ว จำเลยจะยกเอาเหตุที่โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรโดยใช้แบบพิมพ์ผิดไปจากแบบที่อธิบดีของจำเลยได้กำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์หาได้ไม่ แม้โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 ง.ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 แทนที่จะยื่นคำขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 แต่โจทก์ก็ยื่นคำขอดังกล่าวภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศถือได้ว่าโจทก์ได้ขอคืนเงินอากรภายในกำหนดเวลาตามเงื่อนไขในมาตรา 19(ง)แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องให้แก่โจทก์
พิพากษายืน

Share