คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยว่าอย่างไร มีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไร และจำเลยกระทำการใดอันถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ส่วนจะเป็นสัญญาประเภทใด ต้องยกกฎหมายใดมาปรับแก่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัยเมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามสัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาตัวแทนซึ่งเป็นสัญญาแบบหนึ่งที่สามารถใช้บังคับได้ จึงมีปัญหาว่าศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาถึงความรับผิดตามสัญญาตัวแทนหรือไม่ แสดงว่ามีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา 9 วรรคสอง ศาลแรงงานกลางจึงต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ก่อนจะวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ โดยจำเลยได้รับการบรรจุเข้าทำงานเป็นพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์ ต่อมาจำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็นพนักงานส่งเสริมการขาย มีหน้าที่ติดต่อลูกค้าเจ้าของรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ให้เข้าทำประกันวินาศภัยกับโจทก์โดยโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยสามารถเก็บค่าเบี้ยประกันภัยจากลูกค้าได้ จำเลยต้องรับผิดชอบนำเบี้ยประกันภัยชำระให้โจทก์ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่แจ้งโจทก์รับประกันวินาศภัย ซึ่งจำเลยได้แจ้งนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ประเภทต่าง ๆ เข้าประกันวินาศภัยกับโจทก์หลายครั้ง โจทก์ได้ออกกรมธรรม์คุ้มครองรถยนต์และรถจักรยานยนต์ดังที่จำเลยแจ้ง แต่เมื่อถึงกำหนดที่จำเลยจะต้องนำส่งเบี้ยประกันภัยตามที่โจทก์ได้ออกกรมธรรม์คุ้มครองไปโดยหักผลตอบแทนให้แล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่นำส่งเบี้ยประกันภัยแก่โจทก์หลายรายการ ซึ่งเมื่อคิดยอดหนี้ทั้งหมดแล้ว คงเหลือยอดหนี้ที่แท้จริงเป็นเงินค่าเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้น 13,000,000 บาท ครั้นวันที่ 28 เมษายน 2542 จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์บางส่วนเป็นเงิน 1,000,000 บาท ส่วนที่เหลืออีก 12,000,000 บาท จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงโอนกิจการเกี่ยวกับโต๊ะสนุกเกอร์พร้อมอุปกรณ์ใช้หนี้ดังกล่าว ซึ่งมีมูลค่า 4,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 2 มิถุนายน 2542 หากผิดนัดยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ 4,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 เป็นต้นไป และจำเลยยังตกลงโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 17700 ตำบลคอหงส์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยปลอดภาระจำนองหรือภาระหนี้สินใด ๆ กำหนดมูลค่า 8,000,000 บาท ให้แก่โจทก์ภายในวันที่ 3 มกราคม 2543 หากไม่สามารถดำเนินการได้จำเลยตกลงชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 8,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะทำการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ ครั้นเมื่อถึงกำหนดโอนกิจการและโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยผิดนัดโดยมิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามหนังสือรับสภาพหนี้ ทั้งมิได้ชำระเงินแก่โจทก์แต่อย่างใด จำเลยจึงต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 12,000,000 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามข้อตกลงในหนังสือรับสภาพหนี้จากต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์ คิดเป็นดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง 1,102,191.78 บาท รวมเป็นต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องทั้งสิ้น 13,102,191.78 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 13,102,191.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 12,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จสิ้นแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า ขณะเกิดมูลหนี้คดีนี้ขึ้นนั้น จำเลยไม่ได้เป็นลูกจ้างโจทก์ เพราะแม้เดิมจำเลยจะเคยเป็นพนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุของโจทก์ แต่ต่อมาจำเลยได้ออกจากการเป็นลูกจ้างโจทก์โดยทำงานเป็นตัวแทนนายหน้าประกันวินาศภัยของโจทก์ มีหน้าที่หาลูกค้าเข้าทำประกันวินาศภัยกับโจทก์ โดยไม่มีเงินเดือนหรือรายได้ประจำที่ได้รับจากโจทก์ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดภายใต้คำสั่งของโจทก์ เพียงแต่จำเลยหาลูกค้ามาได้จำนวนเท่าใด จำเลยก็จะได้รับค่าบำเหน็จนายหน้าหรือค่าคอมมิสชันร้อยละ 25 จากเบี้ยสุทธิภายหลังจากที่จำเลยนำส่งค่าเบี้ยประกันภัยเรียบร้อยแล้วเท่านั้น จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องขึ้นโดยถูกบังคับขู่เข็ญให้ลงชื่อยอมรับสภาพหนี้จากบุคคลผู้มีชื่อกลุ่มหนึ่งโดยไม่ได้ตรวจสอบยอดหนี้ว่าถูกต้องหรือไม่ ผู้ลงชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้แทนโจทก์ก็กระทำการโดยไม่ได้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรหรือมิได้เป็นกรรมการของบริษัทโจทก์แต่อย่างใด ยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถูกต้อง เนื่องจากโจทก์ยังมิได้นำจำนวนเงินที่จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ไว้แล้วมาหักออกจากยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ โดยหากตรวจสอบยอดหนี้คงค้างกันจริงแล้ว จำเลยคงค้างโจทก์ไม่เกินจำนวน 8,000,000 บาท เท่านั้น และยอดคงค้างดังกล่าวก็เป็นยอดหนี้ที่ยังมิได้หักค่าบำเหน็จนายหน้าร้อยละ 25 คิดเป็นเงินอีกจำนวน 2,000,000 บาท ให้แก่จำเลยหลังจากที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามฟ้องแล้วโจทก์ได้ส่งคนไปเก็บเงินจากลูกค้าที่เป็นห้างขายรถต่าง ๆ ทั่วภาคใต้ได้เงินมาอีกประมาณ 3,000,000 บาทเศษ ซึ่งโจทก์ต้องนำยอดเงินดังกล่าวหักออกจากหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย จำเลยพร้อมโอนกิจการเกี่ยวกับโต๊ะสนุกเกอร์พร้อมอุปกรณ์ให้โจทก์ในมูลหนี้ 4,000,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยินยอมรับมอบเอง โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 เป็นต้นไป และหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วประมาณเดือนพฤษภาคม 2542 โจทก์ก็ได้เข้าอาศัยใช้ประโยชน์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 17700 โดยขึ้นป้ายเป็นที่ทำการสาขาของโจทก์ประจำอำเภอหาดใหญ่ตลอดมาจนบัดนี้โดยโจทก์ไม่ได้เสียค่าเช่าให้แก่จำเลย ซึ่งหากจำเลยให้บุคคลอื่นเช่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวแล้วจะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 50,000 บาท จนถึงบัดนี้จำเลยมีสิทธิจะได้ค่าเช่าเป็นเงินรวม 1,200,000 บาท ทั้งยังเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถปิดประกาศขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเพื่อนำเงินชดใช้หนี้แก่โจทก์ได้ ทำให้จำเลยขาดประโยชน์ หากโจทก์ยินยอมรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจำเลยก็พร้อมที่จะโอนให้โจทก์ได้ทันที โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลแรงงานกลางพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยแล้วรับฟังข้อเท็จจริงและวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการรับประกันวินาศภัย เดิมจำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุแล้วได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยฝ่ายอุบัติเหตุด้านการตลาดและฝ่ายส่งเสริมการขาย ต่อมาวันที่ 12 มกราคม 2539 โจทก์แต่งตั้งจำเลยเป็นตัวแทนขายประกันวินาศภัยโดยทำหน้าที่หาลูกค้าเจ้าของรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าทำประกันวินาศภัยโจทก์ โดยโจทก์ตกลงจ่ายค่าตอบแทนการขายประกันวินาศภัยให้จำเลยเพียงอย่างเดียว ไม่มีการจ่ายเงินเดือนให้อีก จำเลยไม่ต้องลงเวลาเข้าออกทำงานและไม่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์ กรณีถือได้ว่านับแต่วันที่ 12 มกราคม 2539 โจทก์และจำเลยได้ตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทำงานให้โจทก์ในฐานะลูกจ้างกับนายจ้างตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ขายประกันวินาศภัยและเก็บเงินค่าเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยส่งให้แก่โจทก์ แล้วได้รับผลตอบแทนโดยคำนึงถึงผลสำเร็จของงานขายประกันวินาศภัยในทำนองเป็นบำเหน็จตัวแทน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 803 ขณะเกิดมูลหนี้ค่าเป็นประกันภัยค้างส่งที่จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ตามฟ้องอยู่ในระหว่างที่จำเลยเป็นตัวแทนขายประกัน แล้วศาลแรงงานกลางวินิจฉัยต่อไปว่า เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกร้องโดยอ้างสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวโดยอ้างความสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างลูกจ้างในขณะทำหนังสือรับสภาพหนี้มาเป็นหลักแห่งข้อหา จำเลยจึงไม่จำต้องรับผิดชำระเงินหรือดอกเบี้ยตามฟ้อง เห็นว่าโจทก์บรรยายฟ้องถึงข้อตกลงตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยว่ามีข้อตกลงอย่างไร โจทก์และจำเลยมีสิทธิและหน้าที่ต่อกันอย่างไร และจำเลยกระทำการใดอันถือว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ กับมีคำขอบังคับอันเป็นการบรรยายฟ้องถึงข้อเท็จจริงที่เป็นสภาพแห่งข้อหาข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับแล้ว ส่วนสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเป็นสัญญาประเภทใด ต้องแยกกฎหมายใดมาปรับแก่ข้อเท็จจริงนั้นเป็นหน้าที่ของศาลที่จะวินิจฉัย เมื่อศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยมิใช่เป็นนายจ้างลูกจ้างกันตามสัญญาจ้างแรงงานแต่เป็นสัญญาตัวแทนซึ่งเป็นสัญญาแบบหนึ่งที่สามารถใช้บังคับได้ จึงมีปัญหาว่าศาลแรงงานกลางมีอำนาจพิจารณาพิพากษาถึงความรับผิดตามสัญญาตัวแทนหรือไม่ แสดงว่ามีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแรงงานตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 หรือไม่ ซึ่งเป็นอำนาจของอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางเป็นผู้วินิจฉัยตามมาตรา 9 วรรคสอง ศาลแรงงานกลางจึงต้องส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ ก่อนจะวินิจฉัยถึงความรับผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง หากคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะใช้สิทธิฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไปภายใต้บทบัญญัติแห่งอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ตามฟ้องโดยยังไม่ดำเนินการดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ยกขึ้นอุทธรณ์ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางส่งสำนวนให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อนว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลแรงงานหรือไม่ แล้วดำเนินการต่อไป

Share