คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8905/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่สามารถสืบให้สมตามประเด็นข้อพิพาทที่ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ไปจริงหรือไม่ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน และจำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองอีกด้วย เพราะตาม ป.พ.พ.มาตรา 702 บัญญัติว่า “อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า ผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง” เมื่อการจำนองมิได้เป็นการประกันการชำระหนี้กู้ยืม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง เนื่องจากจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานอันเป็นหนี้กู้ยืม เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนี้ประธาน จำเลยก็หาจำต้องรับผิดในหนี้อุปกรณ์ต่อโจทก์ด้วยไม่
หนี้ประธานในกรณีที่จำเลยจดทะเบียนจำนองนั้นเป็นหนี้การประกันดอกเบี้ยเงินกู้ยืม เมื่อหนี้ประธานยังมิได้มีกำหนดจำนวนที่แน่นอน ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดในหนี้จำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้เนื่องจากยังไม่ปรากฏหนี้อันเป็นที่แน่ชัดว่ามีจำนวนค้างชำระ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 5,064,791.59 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 3,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 40634 ตำบลตลาดขวัญ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี และทรัพย์สินอื่น ๆ ของจำเลยออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยไถ่ถอนจำนองเป็นเงิน 3,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 สิงหาคม 2545) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 40634 ตำบลตลาดขวัญ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า บันทึกข้อตกลงที่จำเลยมอบที่ดินแปลงพิพาทไว้แก่โจทก์พร้อมหลักฐานการโอนลอยที่ดินเพื่อประกันความเสียหายในส่วนดอกเบี้ยที่นายมีชัยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์แล้วยังค้างชำระประมาณ 3,000,000 บาท ก่อนจำเลยทำหนังสือสัญญาจำนอง จำเลยมอบโฉนดที่ดินจำนองพร้อมใบโอนลอยไว้เป็นหลักฐานเพื่อประกันหนี้เงินกู้ยืมของนายมีชัยที่ค้างชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยจึงไม่ได้กู้ยืมเงินและไม่ได้รับเงินกู้ยืมตามฟ้อง สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่สมบูรณ์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน
ปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยต้องรับผิดตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 3,500,000 บาท โดยทำสัญญาจำนองเป็นประกันการกู้ยืมเงิน ดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ สัญญาจำนองทำไว้แก่โจทก์เป็นการประกันหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมระหว่างนายมีชัยกับโจทก์เท่านั้น ประเด็นข้อพิพาทจึงมีว่า จำเลยกู้ยืมเงิน 3,500,000 บาท หรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดตามสัญญาจำนองแก่โจทก์หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง บัญญัติว่า คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยที่เป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น โจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ แต่ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกู้ยืมเงิน ทางพิจารณาได้ความจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์จึงไม่สามารถสืบให้สมตามประเด็นข้อพิพาท จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน เพราะข้อเท็จจริงมิได้ความตามประเด็นที่โจทก์กล่าวในคำฟ้อง เมื่อจำเลยมิได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 702 บัญญัติว่า อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลหนึ่งเรียกว่าผู้จำนอง เอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนอง เป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง เมื่อการจำนองมิได้เป็นการประกันการชำระหนี้กู้ยืม จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจำนอง เนื่องจากจำนองเป็นหนี้อุปกรณ์ของหนี้ประธานอันเป็นหนี้กู้ยืม เมื่อจำเลยไม่ต้องรับผิดตามหนี้ประธาน จำเลยก็หาจำต้องรับผิดในหนี้อุปกรณ์ต่อโจทก์ด้วยไม่
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินตามฟ้องเพื่อประกันหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของนายมีชัยต่อโจทก์ กรณีจึงฟังได้ว่าโจทก์ผู้รับจำนองเป็นเจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่จำเลยจำนองที่ดินเป็นประกัน สัญญาจำนองจึงมีมูลหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ เมื่อจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าหนี้ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอันเป็นหนี้ประธานได้มีการชำระกันแล้วหรือไม่ และข้อเท็จจริงฟังได้ตามฟ้องว่าโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้จำนองภายในเวลาอันสมควรแล้วโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองเอาแก่จำเลยตามสัญญาจำนองได้นั้น เห็นว่า หนี้ประธานในกรณีที่จำเลยจดทะเบียนจำนองนั้นเป็นหนี้การประกันดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของนายมีชัยที่มีต่อโจทก์ ภาระการนำสืบหนี้ประธานนั้นตกโจทก์ โจทก์จำต้องสืบให้ได้ว่านายมีชัยเป็นหนี้ในส่วนที่เป็นดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินต่อโจทก์เพียงใด ซึ่งทางพิจารณาโจทก์มิได้นำสืบว่านายมีชัยเป็นหนี้เฉพาะดอกเบี้ยการกู้ยืมเงินต่อโจทก์เพียงใด จึงยังไม่ปรากฏหนี้ประธานอันเป็นจำนวนที่แน่นอน เมื่อหนี้ประธานยังมิได้มีกำหนดจำนวนที่แน่นอน ศาลย่อมมิอาจพิพากษาให้จำเลยรับผิดในหนี้จำนองอันเป็นหนี้อุปกรณ์ได้ เนื่องจากยังไม่ปรากฏหนี้อันเป็นที่แน่ชัดว่ามีจำนวนค้างชำระเพียงใด ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมและบังคับจำนองนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share