คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2547

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 30 และ 31 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 29, 30, 48, 50, 89 และ 272 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย มิได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ของจำเลยเพราะเหตุสินทรัพย์ของจำเลยมีลักษณะไม่ครบถ้วนตามที่พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 31 บัญญัติไว้ การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าวจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับคณะกรรมการดังกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. 2544 มาตรา 30 และ 31 มาใช้ในการวินิจฉัยคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ว่า การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ในสภาวะที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นการพ้นวิสัย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และจำเลยได้รับการรับรองคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 และ 219 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดหรือไม่ และ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้ระบุให้ จ. มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้เท่านั้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบ ทั้งยังฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า จ. มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีใด ๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 แล้วว่า พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของ สถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2475 ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับได้ในคดีทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคท้าย อีกทั้ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. 2523 เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีก็ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ขัดต่อพ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475
ป.พ.พ. มาตรา 733 เป็นเพียงบทสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณี หาใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปไม่ แต่เกี่ยวแก่คู่กรณีโดยเฉพาะ และหาได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไป หรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใดไม่ จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้รับจำนองและผู้จำนองอาจตกลงกันเป็นประการอื่นจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ย่อมกระทำได้ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับตามกฎหมายหาตกเป็นโมฆะไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ๔,๖๙๘,๖๖๖.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี จากต้นเงิน ๔,๒๐๑,๘๑๕.๙๔ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระขอให้บังคับจำนองยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีวัตถุประสงค์ดำเนินกิจการธนาคารพาณิชย์ นายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ระบุว่าให้ฟ้องและดำเนินคดีกับจำเลย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่เคยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ ไม่เคยทำสัญญา กู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์และไม่ได้เป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด ประกาศกำหนดอัตราดอกเบี้ยของโจทก์ขัดต่อ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ และกฎหมายที่ให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเช่นนั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญและ พ.ร.บ. ดังกล่าว ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่มีผลบังคับใช้ ข้อตกลงเกี่ยวกับการบังคับจำนองที่ว่า หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงิน ไม่พอชำระ จำเลยจะยอมชำระส่วนที่ขาดจนครบ ก็ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนเช่นกัน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน ๒,๙๖๖,๒๑๓.๗๗ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘ ต่อปี จนกว่า จะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ ๗๘๖๓ และ ๘๔๕๕ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอให้บังคับชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยแก่โจทก์จนครบ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ ๒,๐๐๐ บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยชำระตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี
จำเลยอุทธรณ์
ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จำเลยยื่นคำร้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย ขอให้รับโอนสินทรัพย์ของจำเลยในคดีนี้ ซึ่งมีลักษณะตามมาตรา ๓๑ (๑), (๓) แห่ง พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ แล้ว ขอให้ศาลจำหน่ายคดีจากสารบบความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตาม คำร้องไม่ต้องด้วย พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๓ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๓๐ วรรคหก เนื่องจากศาลมีคำพิพากษาแล้ว ให้ยกคำร้อง ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว และให้ส่งความเห็นตามคำร้องของจำเลยไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙, ๓๐, ๔๘, ๕๐, ๘๗ และ ๒๗๒ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ มีคำสั่งว่า บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยไม่ยอมรับโอนสินทรัพย์ในคดีเรื่องนี้ของโจทก์โดยอ้างว่าไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีเรื่องนี้ได้ กรณีจึงมิใช่มีข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดที่ศาลยุติธรรมจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๖ คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง อันจะต้องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัย ให้ยกคำร้อง
ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ ๑๐,๐๐๐ บาท
จำเลยฎีกาคำสั่งและคำพิพากษา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ว่า พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จำเลยยกเป็นข้อต่อสู้คดีได้ทุกขณะ ศาลจึงนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.ก. ดังกล่าวมาใช้บังคับแก่คดีเรื่องนี้ได้ คำร้องของจำเลยต้องด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง แล้วนั้น เห็นว่า ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง นั้น จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๓๐ และ ๓๑ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๙, ๓๐, ๔๘, ๕๐, ๘๗ และ ๒๗๒ นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏตามเอกสารท้ายคำร้องของจำเลยเองว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมิได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ของจำเลย เพราะเหตุสินทรัพย์ของจำเลยมีลักษณะไม่ครบถ้วนตามที่ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๓๑ บัญญัติไว้ การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าวจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับ คณะกรรมการดังกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ไม่เกี่ยวกับโจทก์ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำ พ.ร.ก. บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ มาตรา ๓๐ และ ๓๑ มาใช้ในการวินิจฉัยคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่ บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ในสภาวะที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจ เป็นการพ้นวิสัย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๕๐ และจำเลยยังมิได้ตกเป็นผู้ผิดนัดเพราะมีพฤติการณ์ที่จำเลยไม่ต้องรับผิด ทั้งจำเลยยังเป็นอันหลุดพ้นจากการชำระหนี้เนื่องจากการชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยเพราะพฤติการณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายหลัง ที่ได้ก่อหนี้และซึ่งจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๕ และ ๒๑๙ อีกด้วยนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น จึงถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและ ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๙ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่มีพยานยืนยันว่าโจทก์โดยนายบัณฑูร ล่ำซำ มอบอำนาจให้ นายจรูญ ไหคำ ฟ้องและดำเนินคดีแทน และตามหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ได้ระบุชื่อให้ฟ้องผู้ใด ณ ศาลใดนั้น เห็นว่า การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่ง ย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบิกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๐๒๑ และ ๑๐๒๒ จำเลยให้การเพียงแต่ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดมหาชน มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ มีนายบัณฑูร ล่ำซำ เป็นกรรมการผู้จัดการโดยลำพังคนเดียวมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ หรือไม่ จำเลยไม่ทราบและไม่รับรอง และต่อสู้ว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องมิได้ระบุว่าให้ นายจรูญ ไหคำ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มีอำนาจเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้ รวมทั้งมิได้ระบุข้อหาหรือ ความผิดฐานใด ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ เท่านั้น จำเลยมิได้ให้การยืนยันว่า นายบัณฑูรมิใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และมิได้มอบอำนาจให้นายจรูญมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์แต่ประการใด จึงไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบแสดงว่านายบัณฑูรเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และได้มอบอำนาจให้นายจรูญมีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ทั้งคำให้การดังกล่าวยังเป็นการฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่าให้นายจรูญมีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนิน คดีใด ๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ นายจรูญย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ เห็นว่า กรณีไม่มีปัญหาเรื่องการมอบอำนาจของโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาว่า พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ ในส่วนที่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิ คิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตลอดจนขัดต่อ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ นั้น เห็นว่า กรณีตามฎีกาของจำเลยในข้อนี้มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ ๕/๒๕๔๒ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๒ วินิจฉัยไว้แล้วว่า พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๓๕ ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว มีผลใช้ได้ในคดีทั้งปวงตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๒๖๔ วรรคท้าย ข้ออ้างที่ว่า พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ ในส่วนที่มีผลทำให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราที่เกินกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ๒๕๔๐ มาตรา ๓๐ จึงรับฟังไม่ได้ อีกทั้ง พ.ร.บ. ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ. ๒๕๒๓ เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดจากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมให้สูงกว่าร้อยละ ๑๕ ต่อปี ก็ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. ๒๔๗๕ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ข้อตกลงที่ให้โจทก์บังคับคดีจากทรัพย์สินอื่นได้หากบังคับทรัพย์จำนองขายทอดตลาดแล้วยังไม่พอชำระหนี้ อันเป็นข้อตกลงที่ให้ยกเว้น ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ ตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า บทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๓ เป็นเพียงบทบัญญัติสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณีเท่านั้น หาใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปไม่ แต่เกี่ยวแก่คู่กรณี โดยเฉพาะ และหาได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใดไม่ บทบัญญัติตามมาตรา ๗๓๓ แห่ง ป.พ.พ. จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคู่กรณีคือโจทก์ผู้รับจำนองและจำเลยผู้จำนองอาจตกลงกันเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา ๗๓๓ บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ ข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายหาตกเป็นโมฆะแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๑๐,๐๐๐ บาท แทนโจทก์.

Share