คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5581/2530

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกำนันและนายทะเบียนตำบลรู้ว่าห. ซึ่งเป็นลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ 249 มิใช่บ้านเลขที่ 363 เมื่อจำเลยที่ 1 มาแจ้งขอย้ายชื่อ ห. จากทะเบียนบ้านเลขที่ 159 ไปอยู่บ้านเลขที่ 363 จำเลยที่ 3ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17เป็นเท็จ จำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบลในเอกสารดังกล่าว จึงเป็นการลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จจำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่าจำเลยที่ 1 แจ้งย้ายที่อยู่ของ ห. ซึ่งจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และยังรับแจ้งในฐานะนายทะเบียนตำบล เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162(1),157 ในฟ้องเดียวกันโจทก์อาจบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามกรอกข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 162 และบรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสารกรอกข้อความในเอกสารร่วมกันปลอมลายมือชื่อ ห. โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 84, 91, 137, 144, 157, 161, 162, 264, 265,267, 268 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2502 มาตรา 13 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4
จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้องบางข้อปฏิเสธบางข้อ จำเลยที่ 2 ชั้นแรกให้การปฏิเสธ ต่อมาให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดตามฟ้อง จำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 84, 91, 264, 265, 267, 268 สำหรับจำเลยที่ 3 ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารสำหรับจำเลยที่ 1 เป็นความผิดสองกรรม จำเลยที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1), 157 ลงโทษตามมาตรา 157
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยที่ 3โดยตลอดแล้วมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดตาฟ้องข้อ (ก) หรือไม่ โจทก์มีนายสาย เล็กอรุณ ปลัดอำเภอศรีสัชนาลัย ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับงานด้านทะเบียนราษฎร์ เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยที่ 3 ได้รับแต่งตั้งเป็นกำนันตำบลบ้านตึกและนายทะเบียนตำบลบ้านตึกเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2523 ตามคำสั่งของจังหวัดสุโขทัยเอกสารหมายจ.8 จ.9 จำเลยที่ 3 มีหน้าที่รับแจ้งย้ายเข้าย้ายออกซึ่งเป็นกรณีอยู่นอกเขตเทศบาล ตรวจสอบสำเนาทะเบียนบ้านที่มีผู้ย้ายออกกรอกใบแจ้งย้ายที่อยู่ทั้ง 3 ตอน มอบใบแจ้งย้าย (ท.ร.17)ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ให้กับผู้แจ้ง โดยให้ผู้แจ้งเซ็นชื่อรับในตอนที่ 3 นายทะเบียนจะต้องลงรายการในสำเนาทะเบียนบ้านและลงลายมือชื่อรับรอง จากนั้นนายทะเบียนจะต้องส่งสำเนาทะเบียนบ้าน ใบแจ้งการย้ายหรือ ท.ร.17 ตอนที่ 3 ไปยังอำเภอ ตามสำเนาระเบียบสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร์กรมการปกครองว่าด้วยการจัดทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2516 เอกสารหมาย จ.5 นายหงษ์ แก้วมรกตพยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่า ย้ายออกจากบ้านจำเลยที่ 1เลขที่ 159 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย ตามเอกสารหมาย จ.4 ไปอยู่ที่บ้านเลขที่ 249 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตึกอำเภอศรีสัชนาลัย ตามเอกสารหมาย จ.10 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518จำเลยที่ 3 เคยไปมาหาสู่กับพยาน จำเลยที่ 3 ไปในฐานะกำนันตำบลบ้านตึกตรวจตราความสงบภายในหมู่บ้านและโจทก์มีนายฮุ่ย ยาใจผู้เคยเป็นสารวัตรกำนันตำบลบ้านตึกคู่มากับจำเลยที่ 3 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 3 รู้จักนายหงษ์ดี นายหงษ์ไม่ได้อยู่บ้านตามสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 363 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตึกอำเภอศรีสัชนาลัย ตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.1 แต่ได้อยู่บ้านเลขที่ 249 หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัยจำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ทำสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมายจ.1 การกรอกข้อความใน ท.ร.17 กำนันจะต้องเป็นผู้กรอกเอง หรือมิฉะนั้นก็ต้องมอบหมายให้สารวัตรกำนันเป็นผู้กรอกข้อความให้ข้อความที่กรอกด้วยหมึกสีดำใน ท.ร.17 เอกสารหมาย จ.2 เป็นข้อความที่กรอกขึ้นโดยลายมือของจำเลยที่ 3 ศาลฎีกาเห็นว่านายสายกับนายหงษ์ ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 3เชื่อว่าเบิกความตามความจริง ส่วนนายฮุ่ยเป็นคนที่มีสาเหตุกับจำเลยที่ 3 แต่ก็ร้องเรียนเรื่องการกระทำของจำเลยที่ 3จนทำให้มีการฟ้องจำเลยที่ 3 จึงเบิกความมีเหตุผลมีส่วนของความจริงอยู่การที่จำเลยที่ 3 รู้จักกับนายหงษ์มานานจำเลยที่ 3 ย่อมจะรู้ว่านายหงษ์ซึ่งเป็นปลูกบ้านของตนอยู่บ้านเลขที่ 249 มิใช่บ้านเลขที่ 363 เมื่อจำเลยที่ 1 มาแจ้งขอย้ายชื่อนายหงษ์จากทะเบียนบ้านเลขที่ 159 ไปอยู่บ้านเลขที่ 363 ตามเอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 3 ย่อมรู้ได้ทันทีว่าข้อความในใบแจ้งการย้ายที่อยู่ ท.ร.17 เอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 เป็นเท็จจำเลยที่ 3 ลงชื่อในฐานะนายทะเบียนตำบล จึงเป็นการลงชื่อรับรองเป็นหลักฐานอันเป็นเท็จ ที่จำเลยที่ 3 นำสืบอ้างว่าไม่ทราบว่านายหงษ์มีสำเนาทะเบียนบ้านต่างหากกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้แต่ต้นเลยโดยจำเลยที่ 3 ไปให้การกับคณะกรรมการสอบสวนว่านายหงษ์ได้ย้ายออกจากบ้านเลขที่ 249 ไปตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2518 แล้ว และจำเลยที่ 1เป็นผู้ลักเอาแบบฟอร์มการย้ายที่อยู่หรือ ท.ร.17 ไป แล้วปลอมลายมือชื่อจำเลยที่ 3 ในฐานะนายทะเบียนตำบล แต่ในชั้นสอบสวนจำเลยที่ 3 ให้การว่า มอบใบขอย้ายที่อยู่ หรือ ท.ร.17 ให้จำเลยที่ 1 ไปกรอกข้อความเอง จำเลยที่ 3 ลงชื่อในเอกสารดังกล่าวในฐานะนายทะเบียนตำบล ดังปรากฏตามสำเนาบันทึก ป.ค.14 ลงวันที่8 พฤศจิกายน 2526 ในเอกสารหมาย จ.6 และบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ.21 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 3 จึงกลับไปกลับมาเป็นพิรุธ เห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีเหตุผลสอดคล้องต้องกันมีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ ส่วนพยานจำเลยที่ 3 ไม่อาจฟังหักล้างพยานโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ทำเอกสารรับรองเป็นหลักฐานว่า จำเลยที่ 1 แจ้งย้ายที่อยู่ของนายหงษ์ ซึ่งจำเลยที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าเป็นเท็จ และยังกระทำการรับแจ้งในฐานะเป็นนายทะเบียนตำบลตามเอกสารหมายจ.1, จ.2 และ จ.3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ การกระทำของจำเลยที่ 3 เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162(1), 157 ตามฟ้องข้อ (ก) จริง
ส่วนที่จำเลยที่ 3 ยกข้อต่อสู้ในชั้นฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องโจทก์ข้อ (ก) บรรยายถึงการกระทำของจำเลยที่ 3 อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และ 157 ขัดแย้งกันเป็นฟ้องเคลือบคลุม อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยจำเลยที่ 3 ยกขึ้นกล่าวอ้างได้นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 3 กระทำผิดแต่ละบทโดยฟ้องข้อเดียวกันโจทก์ประสงค์ให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานกรอกข้อความอันเป็นเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 162 และในขณะเดียวกันบรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความในเอกสาร และร่วมกันปลอมลายมือชื่อนายหงษ์ แก้วมรกต โดยอาศัยโอกาสที่จำเลยที่ 3 เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็นการร่วมกันเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และโดยทุจริตเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นและประชาชนซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157จึงเป็นฟ้องเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว ฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share