คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3876/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 7,000,000 บาท แต่ถูกโจทก์และ น. ฉ้อฉลให้ทำสัญญากู้ยืมเงิน 16,000,000 บาท เป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธินำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว
หนังสือสัญญาจำนองที่ดินถูกอ้างในฐานะเพียงหลักฐานในการกู้ยืมตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้น มิใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 20,972,002.70 บาท (ที่ถูก 20,729,002.70) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 16,000,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากไม่ชำระให้ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาด นำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 15,625,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 9 มิถุนายน 2553) ต้องไม่เกิน 4,729,002.70 บาท ตามขอ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 30 โฉนดที่ดินเลขที่ 92006 และโฉนดที่ดินเลขที่ 92007 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง รวม 3 แปลง ทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสองออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 10,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสองที่ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินครบจำนวนตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมนั้นเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ที่จำเลยทั้งสองนำสืบอ้างว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียง 7,000,000 บาท แต่ถูกโจทก์และนายนพดล ฉ้อฉลให้ทำสัญญากู้ยืมเงิน 16,000,000 บาท เป็นการนำสืบโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนเงินที่กู้จากโจทก์ว่าไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าว ถือว่าเป็นการนำสืบถึงความไม่สมบูรณ์แห่งหนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคท้าย ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธินำสืบได้ ไม่ต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินระบุไว้ชัดเจนว่านายฐนนท์สรณ์ โดยจำเลยที่ 1 ผู้รับมอบอำนาจ และจำเลยที่ 1 เป็นผู้กู้ สอดคล้องกับเอกสารการรับเงินกู้ที่ระบุว่านายฐนนท์สรณ์ โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ได้รับเงินตามสัญญากู้ไปจากโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองกล่าวอ้างลอย ๆ ว่าจำเลยที่ 1 มิได้กู้เงินตามสัญญากู้เงิน จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 3,000,000 บาท ส่วนเงินกู้ 6,000,000 บาท นั้น หนังสือสัญญาจำนองที่ดิน ข้อ 3 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ 16,000,000 บาท ไปแล้ว ซึ่งรวมถึงเงิน 6,000,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับด้วย จำเลยทั้งสองเพียงแต่นำสืบต่อสู้ลอย ๆ ว่า ถูกโจทก์และนายนพดลฉ้อฉลว่าจะนำเงินไปเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแก่บริษัทแอสคอน ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด โดยจำเลยทั้งสองไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตน พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ 16,000,000 บาท โดยได้รับเงินเป็นแคชเชียร์เช็ค 7,000,000 บาท กับเงินสดอีก 6,000,000 บาท ส่วนอีก 3,000,000 บาท จำเลยที่ 1 รับไปแล้วตามสัญญากู้ จำเลยที่ 1 ชำระให้แก่โจทก์แล้ว 975,000 บาท เมื่อหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินแล้ว คงเหลือต้นเงินค้างชำระ 15,625,000 บาท จำเลยทั้งสองจึงต้องร่วมกันรับผิดชำระต่อโจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า เนื้อความในบันทึกต่อท้ายสัญญาจำนอง สาระสำคัญเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อไม่ปิดอากรแสตมป์จึงรับฟังไม่ได้ นั้น เห็นว่า หนังสือสัญญาจำนองที่ดินถูกอ้างในฐานะเพียงหลักฐานในการกู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 อย่างหนึ่งเท่านั้นมิใช่เป็นลักษณะแห่งตราสารการกู้ยืมเงินอันจะพึงต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 118 แต่อย่างใด ศาลจึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share