แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้กำจัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิให้รับมรดกของ ว. และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 สภาพแห่งข้อหาเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ว. และจะต้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ตามฟ้องหรือไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ที่ขอให้กำจัดโจทก์ที่ 2 มิให้รับมรดกของ ว. และให้โจทก์ที่ 2ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. และตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จัดการมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่เหมาะที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและฟ้องแย้งขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งยังไม่แน่นอนว่าศาลจะเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ฟ้องแย้งในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิบูลย์ เปี่ยมทิพย์มนัส โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรของนายวิบูลย์กับโจทก์ที่ 1 นายวิบูลย์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม2525 ศาลแพ่งมีคำสั่งตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 439/2526 ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์ จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของนายวิบูลย์กับโจทก์ที่ 1 นับตั้งแต่ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกจำเลยที่ 1 มิได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและรายงานการจัดการทรัพย์มรดกเพิ่งจัดทำครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2538 มีการปกปิดทรัพย์มรดกไว้หลายรายการไม่นำเงินรายได้มาแบ่งให้แก่ทายาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ได้ร่วมกันโอนทรัพย์มรดกให้แก่จำเลยที่ 1 และโอนให้บุคคลภายนอกคือจำเลยที่ 5และคนอื่น ๆ รวมทั้งปิดบังทรัพย์มรดกทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์และมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์แทนให้กำจัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิให้รับมรดกของนายวิบูลย์และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 5
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและฟ้องแย้งทำนองเดียวกันว่านับตั้งแต่ศาลแพ่งมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์เปี่ยมทิพย์มนัส เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2526 จำเลยที่ 1 ได้จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและได้จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทโดยถูกต้องตามกฎหมายและด้วยความเป็นธรรมตลอดมา ทั้งนี้โดยความเห็นชอบของทายาททุกคนรวมทั้งโจทก์ทั้งสองด้วย จำเลยที่ 1 ได้มอบเงินจากกองมรดกให้แก่โจทก์ที่ 1 เป็นรายเดือนและรายปีหลายครั้งรวมเป็นเงิน 6,698,500บาท เงินจำนวนนี้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งคนละ608,954.54 บาท แต่โจทก์ที่ 2 ได้ใช้กลอุบายหลอกล่อเอาเงินทั้งหมดไปจากโจทก์ที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้รับส่วนแบ่ง โจทก์ที่ 1อายุมากแล้ว มีอาการหลงลืม อ่านภาษาไทยไม่ออก ส่วนโจทก์ที่ 2มีความประพฤติเสื่อมเสียชอบเล่นการพนัน ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดกขอให้ยกฟ้อง และฟ้องแย้งขอให้กำจัดโจทก์ที่ 2 มิให้รับมรดก ให้โจทก์ที่ 2ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 608,954.54 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4แต่ไม่รับฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้หรือไม่เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้กำจัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิให้รับมรดกของนายวิบูลย์ เปี่ยมทิพย์มนัส และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ดังนั้นสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายวิบูลย์และจะต้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ตามฟ้องหรือไม่ แต่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ที่ขอให้กำจัดโจทก์ที่ 2 มิให้รับมรดกของนายวิบูลย์และให้โจทก์ที่ 2 ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์ที่ 2 จะต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายวิบูลย์ และต้องชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4ตามฟ้องแย้งหรือไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคสุดท้าย
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์และตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์แทน ซึ่งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1จัดการมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว สำหรับโจทก์ทั้งสองไม่เหมาะที่จะเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ และฟ้องแย้งขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์ เห็นว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ที่ขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์ก็ต่อเมื่อศาลเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์ตามฟ้องแล้ว ซึ่งยังไม่แน่นอนว่าศาลจะเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองหรือไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคสุดท้ายเช่นเดียวกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล”
พิพากษายืน