แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้กำจัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิให้รับมรดกของ ว. และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 สภาพแห่งข้อหาเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามกฎหมาย ที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของ ว. และจะต้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ตามฟ้องหรือไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ขอให้กำจัดโจทก์ที่ 2 มิให้รับมรดกของ ว. และให้โจทก์ที่ 2 ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจาณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้
ส่วนที่โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของ ว. และตั้งโจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกแทน จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 1 จัดการมรดกโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว โจทก์ทั้งสองไม่เหมาะที่จะเป็นผู้จัดการมรดกและฟ้องแย้งขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกซึ่งยังไม่แน่นอนว่า ศาลจะเพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่ ฟ้องแย้งในส่วนนี้จึงเป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไข ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้เช่นเดียวกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนจำเลยที่ 1 จากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์ และมีคำสั่งแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์แทน ให้กำจัด จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิให้รับมรดกของนายวิบูลย์และให้เพิกถอน นิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 5
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้การและฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้อง และขอให้กำจัดโจทก์ที่ 2 มิให้รับมรดกให้โจทก์ที่ 2 ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 608,954.54 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นัยแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้ตั้งจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิบูลย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำให้การของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แต่ไม่รับฟ้องแย้งเพราะไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้กำจัดจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 มิให้รับมรดกของนายวิบูลย์ เปี่ยมทิพย์มนัส และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินทรัพย์มรดกระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ดังนั้นสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณามีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 จะต้องถูกกำจัดมิให้ รับมรดกของนายวิบูลย์และจะต้องเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 5 ตามฟ้องหรือไม่ แต่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ที่ขอให้กำจัดโจทก์ที่ 2 มิให้รับมรดกของนายวิบูลย์และให้โจทก์ที่ 2 ชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาว่ามีเหตุตามกฎหมายที่โจทก์ที่ 2 จะต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายวิบูลย์ และต้องชดใช้เงินแก่จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องแย้งหรือไม่ ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคสุดท้ายเช่นเดียวกัน คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ไม่รับฟ้องแย้งนั้น ศาลฎีกาเห็นด้วยในผล
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ.