คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6383/2550

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อนได้
แม้ผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องสอดเข้ามาในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (1) แต่สิทธิที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกโจทก์และจำเลยโต้แย้งนี้ ปรากฏว่าก่อนยื่นคำร้องสอดผู้ร้องได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยคดีนี้ต่อศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกันกับที่อ้างในคำร้องสอดว่า จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกในการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่า จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกทำสัญญาเช่าหรือไม่ คำร้องสอดจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมบ้านเลขที่ 176 ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร และขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการให้โจทก์เป็นผู้ทำการรื้อถอนโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 78,000 บาท แก่โจทก์ และค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยรับว่าเป็นผู้เช่าที่ดินของโจทก์ตามฟ้องและยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมบ้านเลขที่ 176 ดังกล่าวรวมทั้งขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2546 หากจำเลยผิดนัดยอมให้โจทก์เข้าทำการรื้อถอนได้ทันทีโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนให้โจทก์ 100,000 บาท และจำเลยยินยอมชำระค่าเสียหาย 60,000 บาท แก่โจทก์โดยแบ่งชำระเป็นงวด งวดละเดือน เดือนละ 20,000 บาท เริ่มชำระงวดแรกภายในวันที่ 12 มีนาคม 2546 หากผิดนัดยินยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีและค่าเสียหายวันละ 3,000 บาท จนกว่าโจทก์จะทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสร็จสิ้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดอ้างว่า จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกในการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร ผู้ร้องกับพวกได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยขอให้บังคับโจทก์และจำเลยไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยผู้เช่าเป็นผู้ร้องกับพวกและให้โจทก์ไปจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทให้ผู้ร้องกับพวกมีกำหนด 5 ปี ตามคดีหมายเลขดำที่ 208/2546 ของศาลชั้นต้น โจทก์และจำเลยสมรู้ร่วมคิดกันฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาทก่อนที่คดีหมายเลขดำที่ 208/2546 จะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เพื่อยังให้ได้รับความรับรองและคุ้มครองตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ
ศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องสอดของผู้ร้องแล้วเห็นว่า ผู้ร้องขอเข้ามาในคดีนี้โดยอ้างสิทธิว่าจำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องในการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ ขอให้โจทก์จำเลยเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาเช่าที่ดินพิพาท ถ้าศาลรับคำร้องสอดไว้โจทก์จำเลยก็ต้องให้การแก้คำร้องสอด คำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้อง และผู้ร้องอยู่ในฐานะโจทก์ ทั้งสิทธิที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกโจทก์จำเลยโต้แย้งนี้ ผู้ร้องได้ฟ้องโจทก์จำเลยแล้วคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา คำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) และผู้ร้องไม่เป็นคู่ความในคดีจึงไม่มีสิทธิร้องขอเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความ ค่าคำร้องให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า คำร้องสอดของผู้ร้องเป็นฟ้องซ้อนกับคดีหมายเลขดำที่ 208/2546 ของศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ในชั้นอุทธรณ์ผู้ร้องได้ยกประเด็นปัญหานี้ขึ้นอุทธรณ์ด้วย แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยให้ นั้น เห็นว่า ปัญหาเรื่องฟ้องซ้อนหรือไม่เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ผู้ร้องชอบที่จะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหานี้ก่อน และเห็นว่า ผู้ร้องยื่นคำร้องสอดอ้างว่า ผู้ร้องกับพวกแต่งตั้งจำเลยให้เป็นตัวแทนทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ซึ่งเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาเพื่อประกอบกิจการร้านอาหาร แต่จำเลยมีปัญหาขัดแย้งกับผู้ร้องและพวก ผู้ร้องกับพวกได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 208/2546 ของศาลชั้นต้น ขอให้บังคับจำเลยทั้งสอง (โจทก์และจำเลยคดีนี้) ไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงคู่สัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 (จำเลยคดีนี้) ผู้เช่ากับจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ผู้ให้เช่าเป็นโจทก์ทั้งสี่ (ผู้ร้องกับพวก) ผู้เช่ากับจำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ผู้ให้เช่า และให้จำเลยที่ 2 (โจทก์คดีนี้) ดำเนินการจดทะเบียนการเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 5 ปี โจทก์และจำเลยจึงได้สมรู้ร่วมคิดกันฟ้องคดีนี้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานต่อสู้คดีหมายเลขดำที่ 208/2546 ของศาลชั้นต้น และนำหมายบังคับคดีไปบังคับให้ผู้ร้องกับพวกต้องรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างร้านอาหารรวมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท ซึ่งจะเป็นผลเสียหายแก่ผู้ร้อง เพราะผู้ร้องมิได้เป็นบริวารของจำเลย ผู้ร้องจึงมีสิทธิเรียกร้องเกี่ยวเนื่องด้วยการบังคับตามคำพิพากษา ดังนี้ เห็นได้ว่า แม้ผู้ร้องมีสิทธิที่จะร้องเข้ามาในชั้นบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (1) แต่สิทธิที่ผู้ร้องอ้างว่าถูกโจทก์และจำเลยโต้แย้งนี้ ปรากฏว่าก่อนยื่นคำร้องสอดผู้ร้องได้ยื่นฟ้องโจทก์และจำเลยคดีนี้เป็นจำเลยทั้งสองในคดีหมายเลขดำที่ 208/2546 ของศาลชั้นต้น คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณา โดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกันกับที่อ้างในคำร้องสอดว่า จำเลยเป็นตัวแทนของผู้ร้องกับพวกในการทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์เพื่อปลูกสร้างอาคารประกอบกิจการร้านอาหารมีกำหนด 5 ปี เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้วให้สิ่งปลูกสร้างทั้งหมดตกเป็นของโจทก์ จึงมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยอย่างเดียวกันว่าจำเลยเป็นตัวแทนผู้ร้องกับพวกทำสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาหรือไม่ คำร้องสอดของผู้ร้องจึงเป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share