คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 739/2547

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นเงิน540,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดค่าปรับตามสัญญาให้ปรับจำเลยเป็นเงิน200,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ขอลดค่าปรับลงอีกโดยอุทธรณ์ว่าค่าปรับไม่ควรเกินสัญญาละ 50,000 บาท รวมสองสัญญาควรเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้งดหรือยกเว้นค่าปรับแก่จำเลย ดังนี้ ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกเว้นค่าปรับจึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
จำนวนเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินค่าปรับที่กำหนดจำนวนแน่นอนตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาโจทก์ไม่อาจฟ้องโดยกำหนดทุนทรัพย์ให้ต่ำกว่าที่ข้อสัญญาระบุไว้ได้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องตามทุนทรัพย์ที่กำหนดในศาลชั้นต้นโดยสุจริต เมื่อศาลล่างทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับตามสัญญาอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยเช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เต็มตามที่โจทก์ฟ้องจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว
โจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้เป็นทนายความแก้ต่างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดี ศาลมีอำนาจที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเสียค่าทนายความตามตาราง 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 161
โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นหนี้เงิน เมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2537 จำเลยทำสัญญาประกันตัวนายระดมพลแก้วประการ และนางสมัย เรือนทิศ ผู้ต้องหาจากความควบคุมของโจทก์โดยสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองให้โจทก์ตามกำหนดนัด หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินคนละ 270,000 บาท รวมเป็นเงิน 540,000 บาท ให้แก่โจทก์ และจำเลยนำ น.ส.3 เลขที่ 117มอบให้แก่โจทก์เพื่อยึดไว้เป็นหลักประกัน เมื่อครบกำหนดส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสอง จำเลยไม่สามารถส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองให้โจทก์ตามสัญญา ถือว่าจำเลยผิดสัญญาประกันต้องชดใช้เงินให้แก่โจทก์จำนวน 540,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 124,385 บาท โจทก์ทวงถามแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 664,385 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 540,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยทำสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปจากโจทก์จริง ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองหลบหนี จำเลยพยายามติดตามผู้ต้องหาทั้งสองจนกระทั่งพบแล้วนำตัวผู้ต้องหาทั้งสองส่งมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจ และพนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดกบินทร์บุรี ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาทั้งสองต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาทั้งสองแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2217/2538 ของศาลชั้นต้น ถือได้ว่าจำเลยได้บรรเทาความเสียหายบางส่วนแล้ว ที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาประกันสูงเกินส่วนที่จำเลยต้องรับผิดตามสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย โจทก์เสียหายไม่เกิน 10,000 บาท ขอให้ศาลลดค่าปรับให้แก่จำเลยด้วย

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2537 ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,000 บาท แทนโจทก์นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตาคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังยุติได้ว่า เมื่อวันที่4 เมษายน 2537 จำเลยทำสัญญาประกันตัวนายระดมพล แก้วประการ และนางสมัยเรือนทิศ ผู้ต้องหาคดีอาญาต่อโจทก์ โดยตกลงว่าถ้าผิดสัญญายอมใช้เงินคนละ 270,000 บาท ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสองแก่โจทก์ ในวันที่ 19สิงหาคม 2537 จำเลยติดตามพบผู้ต้องหาทั้งสองและนำตัวส่งมอบแก่เจ้าพนักงานตำรวจหลังผิดนัดผิดสัญญาดังกล่าว 9 เดือนเศษ และศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้ต้องหาทั้งสองแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2217/2538 ของศาลชั้นต้นมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในประการแรกว่า สมควรลดค่าปรับลงอีกหรือยกเว้นค่าปรับให้แก่จำเลยหรือไม่เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าปรับตามสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาเป็นเงิน 540,000 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลดค่าปรับตามสัญญาให้ปรับจำเลยเป็นเงิน200,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ขอลดค่าปรับลงอีกโดยอุทธรณ์ว่าค่าปรับไม่ควรเกินสัญญาละ 50,000 บาท รวมสองสัญญาควรเป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยมิได้อุทธรณ์ขอให้งดหรือยกเว้นค่าปรับแก่จำเลย ดังนี้ ที่จำเลยฎีกาขอให้ยกเว้นค่าปรับจึงไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยส่วนที่จำเลยฎีกาขอลดค่าปรับลงอีกนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้วินิจฉัยโดยพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีที่จำเลยติดตามตัวผู้ต้องหาทั้งสองนำมามอบแก่พนักงานสอบสวนหลังจากจำเลยผิดสัญญาแล้ว 9 เดือนเศษ และลดค่าปรับลงเหลือเป็นเงิน 120,000 บาท สูงกว่าที่จำเลยอุทธรณ์ขอเพียง 20,000 บาท เช่นนี้จึงนับว่าเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขลดค่าปรับให้แก่จำเลยอีก ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยควรรับผิดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์เท่ากับค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีหรือไม่ เห็นว่า จำนวนเงินค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลจะกำหนดให้คู่ความฝ่ายหนึ่งใช้แทนคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเป็นดุลพินิจของแต่ละศาลซึ่งจะกำหนดให้โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการสู้ความหรือการดำเนินคดีของคู่ความทั้งปวงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้เงินค่าปรับที่กำหนดจำนวนแน่นอนตามสัญญา กรณีเห็นได้ชัดแจ้งว่าโจทก์ไม่อาจฟ้องโดยกำหนดทุนทรัพย์ให้ต่ำกว่าที่ข้อสัญญาระบุไว้ได้ ถือได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องตามทุนทรัพย์ที่กำหนดในศาลชั้นต้นโดยสุจริต เมื่อศาลล่างทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจลดค่าปรับตามสัญญาอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยเช่นนี้ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยใช้ค่าขึ้นศาลแทนโจทก์เต็มตามที่โจทก์ฟ้องจึงเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า โจทก์ขอให้พนักงานอัยการเป็นทนายแก้ต่าง พนักงานอัยการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติ จึงไม่มีเหตุผลตามกฎหมายที่จะให้จำเลยชำระค่าทนายความแทนโจทก์นั้น เห็นว่าโจทก์แต่งตั้งพนักงานอัยการให้เป็นทนายความแก้ต่างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 61 เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายแพ้คดีศาลมีอำนาจที่จะให้จำเลยซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีเสียค่าทนายความตามมาตรา 6 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งให้แก่โจทก์ได้ตามมาตรา 161 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องชำระดอกเบี้ย อัตราร้อยละ 7.5 ของเงินเบี้ยปรับตามกฎหมายนั้น เห็นว่าโจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้เงินเมื่อจำเลยผิดนัดโจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ฎีกาทุกข้อของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน โจทก์ไม่ได้แก้ฎีกา จึงไม่กำหนดค่าทนายความชั้นฎีกาให้”

Share