คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 738/2535

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้โจทก์จะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฯ แต่การที่โจทก์ให้จำเลยใช้บริการ โทรศัพท์ แล้วคิดค่าบริการตามอัตราที่โจทก์กำหนดย่อมถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ค้ารับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันพึงจะได้รับจากการนั้น ตาม ป.พ.พ.มาตรา 165(7) ซึ่งโจทก์จะต้องเรียกร้องเอาค่าบริการ ภายใน 2 ปีเมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้บริการเกิน 2 ปี คดีจึงขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้เช่าโทรศัพท์หมายเลข 436287จำเลยได้ใช้บริการโทรศัพท์หมายเลขดังกล่าวและชำระค่าใช้บริการตลอดมา ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2525 ถึงเดือนกันยายน 2525 และเดือนธันวาคม 2525 ถึงเดือนสิงหาคม 2527 จำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าและค่าใช้บริการโทรศัพท์รวมเป็นเงิน 90,016 บาท จำเลยผิดเงื่อนไขในสัญญา โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าและงดให้บริการโทรศัพท์แก่จำเลยพร้อมทั้งหักเงินประกันจำนวน 1,500 บาท ชำระหนี้ไปจำเลยยังคงต้องชำระหนี้โจทก์เป็นเงิน 88,516 บาท ขอให้บังคับให้จำเลยชำระค่าเช่า ค่าใช้บริการโทรศัพท์และดอกเบี้ยเป็นเงิน101,793 บาทพร้อมดอกเบี้ย จากต้นเงิน 88,516 บาท แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ชำระค่าเช่า ค่าใช้บริการตลอดมาไม่เคยค้างชำระแต่อย่างใด คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 900 บาท พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า หนี้ค่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวขาดอายุความแล้วหรือไม่และหนี้ดังกล่าวมีจำนวนเท่าใด ปัญหาแรกเรื่องอายุความนั้นโจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 ไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการค้าหากำไรการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของโจทก์จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน โจทก์จึงมิใช่ผู้ค้ารับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาสินจ้างอันจะทำให้มีสิทธิเรียกร้องค่าใช้บริการเพียง 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้โจทก์จะเป็นนิติบุคคลจัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2497 มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการและนำมาซึ่งความเจริญของกิจการโทรศัพท์ เพื่อประโยชน์แห่งรัฐและประชาชน และกิจการบางอย่างโจทก์จะต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าโจทก์จะเป็นผู้ค้าไม่ได้ เมื่อดูตามมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า โจทก์มีอำนาจดำเนินกิจการได้หลายประการ เช่น มีอำนาจซื้อ เช่า ให้เช่า ให้เช่าซื้อ ยืม ให้ยืม จัดหา จำหน่าย ทำการแลกเปลี่ยน โอนและรับโอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งที่ดิน หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ให้บริการต่าง ๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์กำหนดอัตราค่าเช่าค่าดำเนินธุรกิจต่าง ๆ และค่าบริการอื่น ๆ ของกิจการโทรศัพท์ซึ่งผู้ดำเนินกิจการเช่นนี้นับว่าเป็นผู้ค้านั่นเอง การที่โจทก์ให้จำเลยใช้บริการโทรศัพท์แล้วคิดค่าบริการตามอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นย่อมถือได้ว่า โจทก์เป็นผู้ค้ารับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันพึงจะได้รับจากการนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(7) ซึ่งโจทก์จะต้องเรียกร้องเอาค่าบริการภายใน 2 ปี เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกค่าใช้บริการคดีนี้เกิน 2 ปี จึงขาดอายุความ…คดีไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ค่าใช้บริการดังกล่าวมีจำนวนเท่าใดต่อไป…”
พิพากษายืน.

Share