คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7379/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นชี้สองสถานกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ โดยไม่มีคู่ความโต้แย้งในการกำหนดประเด็นดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นก้าวล่วงไปวินิจฉัยว่าจำเลยในฐานะตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนกระทำต่อโจทก์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 708,751.78 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 664,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2555 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 เมษายน 2556) ไม่เกิน 44,751.78 บาท ตามคำขอโจทก์ กับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในชั้นนี้ โดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2555 จำเลยจัดงานแถลงข่าวกิจกรรม การประกวด คูล แอนด์ คิวท์ บาย จีแพค ที่โรงภาพยนตร์ในเครือของโจทก์ภายในศูนย์การค้าเอสพลานาด รัชดา ระหว่างการจัดเวทีและสถานที่ในการแถลงข่าว อุปกรณ์ส่วนหนึ่งของเวทีไปเกี่ยวถูกจอภาพยนตร์ เป็นเหตุให้จอภาพยนตร์ของโจทก์ฉีกขาดได้รับความเสียหาย โจทก์แจ้งรายการค่าเสียหายให้จำเลยทราบ โดยมีนายนรา เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับทราบใบแจ้งรายการค่าเสียหายดังกล่าว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ที่ว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยนอกประเด็นนั้นชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดว่า ผู้ที่ทำให้จอภาพยนตร์ของโจทก์ฉีกขาดเสียหายนั้นคือ เจ้าหน้าที่ฝ่ายจัดงานของจำเลย จึงฟ้องคดีบังคับให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายดังกล่าว ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่า สภาพแห่งข้อหาเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยร่วมรับผิดในการกระทำละเมิดของผู้ที่มีนิติสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับจำเลย หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้กระทำละเมิดต่อโจทก์ไม่ แม้ว่าความรับผิดในผลแห่งละเมิดอันเกิดจากการกระทำของบุคคลอื่น กฎหมายจะบัญญัติไว้หลายกรณี แต่เมื่อศาลชั้นต้นทำการชี้สองสถานโดยกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า บุคคลที่ทำให้จอภาพยนตร์ของโจทก์เสียหายเป็นลูกจ้างของจำเลยหรือไม่ ย่อมทำให้ประเด็นข้อพิพาทถูกจำกัดเหลือเพียงความรับผิดของนายจ้างที่ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ลูกจ้างได้กระทำไปในทางการที่จ้างเท่านั้น เมื่อคู่ความมิได้โต้แย้งการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นดังกล่าว คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทให้ศาลต้องวินิจฉัยถึงความเกี่ยวพันของจำเลยกับผู้ที่กระทำละเมิดต่อโจทก์ว่าเป็นนายจ้างลูกจ้างกันหรือไม่ เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยในส่วนนี้ว่า บุคคลที่ทำให้จอภาพยนตร์ของโจทก์จะเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของจำเลยหรือไม่ ก็มิใช่ประเด็นชี้ขาดข้อพิพาทในคดีที่จะทำให้คดีเสร็จไป เพราะยังคงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับความรับผิดของจำเลยว่ากระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า แม้ไม่อาจชี้ชัดว่าบุคคลใดเป็นผู้ทำให้จอภาพยนตร์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่เมื่อความเสียหายของโจทก์เกิดขึ้นจากการจัดงานในกิจกรรมของจำเลยซึ่งจำเลยเป็นผู้สนับสนุนหลักและเห็นได้โดยชัดแจ้งว่าจัดขึ้นเพื่อประโยชน์ของจำเลย ถือว่าจำเลยเป็นตัวการต้องร่วมรับผิดกับตัวแทนในผลแห่งละเมิดซึ่งตัวแทนได้กระทำไปในกิจการของตัวการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 427 แสดงว่าศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักที่จะรับฟังว่า ผู้ที่ทำให้จอภาพยนตร์ของโจทก์ได้รับความเสียหายนั้นคือลูกจ้างของจำเลยนั่นเอง ซึ่งโจทก์มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำวินิจฉัยในส่วนนี้ ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถนำสืบให้รับฟังได้ตามที่ฟ้อง ทั้งประเด็นข้อพิพาทข้อนี้เป็นข้อสำคัญและภาระการพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างนี้ตกแก่โจทก์ โจทก์จึงต้องแพ้คดี การที่ศาลชั้นต้นก้าวล่วงไปวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยในฐานะตัวการต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตัวแทนกระทำต่อโจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย คดีไม่จำต้องวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นตามฎีกาของโจทก์อีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share