แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานข้อ 47(4) ที่ระบุกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยว่าฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้าง ได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้ว ซึ่งหนังสือเตือนนั้นต้องมีผลบังคับไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือนนั้น เป็นกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเอาไว้ว่ามิให้บังคับกันเกินไปกว่า 1 ปี เท่านั้น หาได้บังคับเป็นการตายตัวว่าจะต้องบังคับกันเป็นเวลา 1 ปีโดยเด็ดขาดไม่ นายจ้างและลูกจ้างจึงตกลงกันวางระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับใช้ กำหนดระยะเวลาของการเตือนเป็นหนังสือให้มีผลบังคับต่ำกว่า หรือน้อยกว่า 1 ปี ก็ได้ ไม่เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) จึงย่อมใช้บังคับได้ การที่จำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์ เรื่องการขาดงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 แล้วโจทก์ขาดงาน เมื่อวันที่ 6 และ 7 พฤษภาคม 2540 อีก แต่เมื่อหนังสือเตือน ของจำเลยฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 สิ้นผลบังคับตามข้อตกลง เกี่ยวกับสภาพการจ้างที่โจทก์จำเลยตกลงกันตามข้อกำหนด ในคู่มือสภาพการจ้างไปแล้ว กรณีถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิด ซ้ำคำเตือนจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุนี้จึงต้องจ่าย ค่าชดเชยแก่โจทก์ ตามคู่มือสภาพการจ้างของจำเลยมีขั้นตอนที่จะเลือก ลงโทษพนักงานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น จำเลยมีบันทึก การลงโทษโจทก์ระบุให้สั่งพักการทำงานโจทก์เป็นเวลา 5 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 24 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2540 เท่านั้น หาได้มีข้อความใดระบุว่าให้ลงโทษโดยการเตือน เป็นหนังสือด้วย แม้ข้อความในตอนท้ายของบันทึกดังกล่าว แม้จะมีข้อความในลักษณะห้ามมิให้โจทก์ฝ่าฝืนและกระทำผิดอีก จึงไม่มีผลเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือ ดังนี้ เมื่อการลงโทษ โจทก์เป็นการลงโทษพักงาน 5 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างแล้วจะถือว่าจำเลยได้ลงโทษโจทก์โดยการตักเตือนเป็นหนังสือ รวมอยู่ด้วยอีกไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้าง ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานจำเลยไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่ออกหนังสือรับรองการทำงานให้โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยเป็นเงิน 78,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เมื่อวันที่ 23 และ 24 กรกฎาคม2539 โจทก์ขาดงานโดยไม่แจ้งให้จำเลยทราบอันเป็นการลาที่ผิดระเบียบจำเลยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือแล้ว ต่อมาวันที่ 3 และ 4 กุมภาพันธ์2540 โจทก์ขาดงานโดยผิดระเบียบอีก วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยจึงออกหนังสือเตือนและสั่งพักงานเป็นเวลา 5 วัน จากนั้นวันที่ 6และ 7 พฤษภาคม 2540 โจทก์ขาดงานโดยผิดระเบียบอันเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซึ่งนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์เคยทำหนังสือยอมรับว่าทำผิดระเบียบและรับเงินช่วยเหลือจากจำเลยจำนวน 39,498 บาทโดยเข้าใจว่าโจทก์จะไม่นำคดีมาฟ้อง แต่โจทก์กลับฟ้องจำเลยเป็นคดีต่อศาลโดยไม่มีมูลที่จะฟ้องได้ และการที่โจทก์อ้างว่าจำเลยเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยและไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำงานให้ไม่เป็นความจริง การกระทำดังกล่าวเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง ทำให้จำเลยเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณทางทำมาหาได้ จำเลยขอเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จำนวน 4,000,000 บาท ขอให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์คืนเงิน39,498 บาท และใช้ค่าเสียหาย 4,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 4,039,498 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีแก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้ง ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ข้อกำหนดตามคู่มือสภาพการจ้างของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 ข้อ 11.5.1 ที่ระบุให้หนังสือเตือนทุกฉบับมีผลบังคับ 6 เดือน นับแต่วันที่เตือนขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ซึ่งเป็นกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัดจึงใช้บังคับไม่ได้ กรณีดังกล่าวต้องนำประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4)มาใช้บังคับ เมื่อจำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เรื่องการขาดงานในเดือนกรกฎาคม 2539 ตามเอกสารหมาย ล.1 ต่อมาวันที่ 6 และ 7 พฤษภาคม 2540 โจทก์ได้ขาดงานไปโดยไม่มีเหตุผลสมควรอีก ถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี ซ้ำอีก จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยนั้น เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ระบุกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างตามข้อ 47(4) ว่า ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมและนายจ้างได้ตักเตือนเป็นหนังสือแล้วซึ่งหนังสือเตือนนั้นต้องมีผลบังคับไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้รับทราบหนังสือเตือน ซึ่งข้อความดังกล่าวได้กำหนดอายุหรือระยะเวลาของการตักเตือนเป็นหนังสือไว้อย่างชัดเจนว่าต้องมีผลบังคับไม่เกิน 1 ปีอันเป็นกำหนดระยะเวลาขั้นสูงเอาไว้ว่ามิให้บังคับกันเกินไปกว่า 1 ปีเท่านั้น หาได้บังคับเป็นการตายตัวว่าจะต้องบังคับกันเป็นเวลา 1 ปีโดยเด็ดขาดไม่ ดังนั้น นายจ้างและลูกจ้างจะตกลงกันวางระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในส่วนที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กำหนดระยะเวลาของการเตือนเป็นหนังสือให้มีผลบังคับต่ำกว่าหรือน้อยกว่า1 ปี ก็ได้ ไม่เป็นการขัดต่อประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) ฉะนั้น คู่มือสภาพการจ้างของจำเลยข้อ 11.5.1 ย่อมใช้บังคับได้ เมื่อจำเลยออกหนังสือเตือนโจทก์เรื่องการขาดงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 แล้ว โจทก์ขาดงานเมื่อวันที่ 6 และ 7 พฤษภาคม 2540 ซึ่งเกินกว่า 6 เดือนหนังสือเตือนของจำเลยฉบับเดือนกรกฎาคม 2539 ย่อมสิ้นผลบังคับแล้วถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์โดยอาศัยเหตุนี้เพื่อไม่จ่ายค่าชดเชยดังที่จำเลยอ้างได้
จำเลยอุทธรณ์อีกข้อหนึ่งว่า จำเลยได้ลงโทษโจทก์โดยการพักงานตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งมีข้อความในลักษณะมิให้โจทก์ฝ่าฝืนและกระทำผิดอีก ย่อมถือได้ว่าเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือรวมอยู่ด้วยในฉบับเดียวกัน จึงมีผลเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(4) แล้ว การที่โจทก์ขาดงานโดยไม่มีเหตุอันสมควรในวันที่ 6 และ 7 พฤษภาคม 2540 อีก ถือว่าโจทก์ได้กระทำผิดซ้ำคำเตือนเป็นหนังสือ จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้นั้น เห็นว่า ตามเอกสารหมาย ล.4 ซึ่งเป็นบันทึกการลงโทษโจทก์ได้ระบุสั่งพักการทำงานเป็นเวลา 5 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้างระหว่างวันที่ 24 ถึง 28กุมภาพันธ์ 2540 เท่านั้น หาได้มีข้อความใดระบุว่าให้ลงโทษโดยการเตือนเป็นหนังสือด้วยแต่อย่างใดไม่ ส่วนข้อความในตอนท้ายของบันทึกการลงโทษเอกสารหมาย ล.4 ข้อ 4 แม้จะมีข้อความในลักษณะห้ามมิให้โจทก์ฝ่าฝืนและกระทำผิดอีก ก็ไม่มีผลเป็นการตักเตือนเป็นหนังสือ เพราะตามคู่มือสภาพการจ้างของจำเลยมีขั้นตอนที่จะเลือกลงโทษพนักงานเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเมื่อการลงโทษโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.4เป็นการลงโทษพักงาน 5 วัน โดยไม่ได้รับค่าจ้างแล้ว จะถือว่าจำเลยได้ลงโทษโจทก์โดยการตักเตือนเป็นหนังสือรวมอยู่ด้วยอีกไม่ได้
พิพากษายืน