คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1354/2563

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามภาพสเก็ตซ์คนร้ายเป็นภาพของคนวัยหนุ่มซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายบอกพันตำรวจโท ธ. ว่าคนร้ายเป็นชายฉกรรจ์ แต่ภาพของจำเลยขณะถ่ายภาพขอมีบัตรประชาชนอายุ 51 ปี เป็นวัยกลางคนค่อนไปทางชรามีลักษณะต่างวัยกันมาก นอกจากนี้ผู้เสียหายก็เบิกความตอบคำถามค้านด้วยว่า ในการชี้ภาพนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดปกติหากผู้เสียหายสามารถจดจำคนร้ายได้ชัดเจนและสามารถยืนยันได้อย่างแน่นอนจริง พยานหลักฐานโจทก์มีลักษณะขัดแย้งกันและเป็นพิรุธในหลายจุด เมื่อประมวลวิเคราะห์เข้าด้วยกันแล้ว ยังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอและเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 309, 313 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 4, 63, 64 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 4, 6, 9, 10, 13, 52 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ และนับโทษจำเลยคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยที่ 99 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.41/2560 ของศาลอาญา
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหาย 126,900 บาท
จำเลยให้การคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และยกคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคสอง (เดิม), 313 (2) (3) วรรคหนึ่ง (เดิม) พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ.2551 มาตรา 6 (1) (เดิม), 9 วรรคหนึ่ง, 10 วรรคหนึ่ง, 52 วรรคหนึ่ง (เดิม) พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง, 64 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปโดยมีอาวุธและใช้กำลังประทุษร้ายข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใด หรือจำยอมต่อสิ่งใดโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนผู้ถูกข่มขืนใจต้องกระทำการนั้น หรือจำยอมต่อสิ่งนั้น ฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ฐานร่วมกันค้ามนุษย์โดยได้กระทำร่วมกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกันใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้ายหรือหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี ฐานสมคบตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ จำคุก 2 ปี ฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนกฎหมาย จำคุก 3 ปี ฐานร่วมกันให้คนต่างด้าวเข้าพักอาศัยหรือกระทำด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม จำคุก 1 ปี รวมจำคุก 26 ปี ให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษจำคุกของจำเลยที่ 99 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ คม.41/2560 ของศาลอาญา ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายเป็นเงิน 126,900 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า นายมูฮัมหมัด ผู้เสียหายเป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติโรฮีนจา สัญชาติเมียนมา เกิดที่รัฐยะไข่ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ขณะอายุ 10 ปี ได้ย้ายไปอยู่ที่รัฐชิติกัมหรือมองสิดันต์ สาธารณรัฐประชาชนบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2557 พันตำรวจโทธนูศิลป์ กับพวกจับกุมนายอนัส จำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2656/2558 ของศาลชั้นต้น ขณะขับรถกระบะ หมายเลขทะเบียน บค 7557 สตูล มีนางมยุรี และผู้เสียหายนั่งอยู่ในรถด้วย พร้อมยึดรถกระบะคันดังกล่าวและโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง เป็นของกลาง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำผิดตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาหรือไม่ เห็นว่า โจทก์นำสืบความเป็นมาเกี่ยวกับคดีนี้ว่าเริ่มจากการที่มีผู้นำตัวผู้เสียหายและกลุ่มชาวโรฮีนจาที่ต้องการไปทำงานที่ประเทศมาเลเซียไปควบคุมไว้และเรียกเงินตอบแทนจากญาติเป็นค่าไถ่ โดยกรณีของผู้เสียหายสามารถไถ่ตัวมาได้และเจ้าพนักงานตำรวจจับผู้ที่เกี่ยวข้องได้จึงมีการขยายผลเกี่ยวกับคนที่ควบคุมตัวผู้เสียหาย ผู้เสียหายยืนยันว่า จำเลยเป็นหนึ่งในคนร้ายที่ควบคุมตัวผู้เสียหายก่อนได้รับอิสรภาพ เจ้าพนักงานตำรวจจึงจับจำเลย ซึ่งข้อเท็จจริงในส่วนนี้ได้ความจากพันตำรวจโทธนูศิลป์ซึ่งทำการสืบสวนเกี่ยวกับขบวนการค้ามนุษย์ว่า ได้นำผู้เสียหายไปชี้ที่เกิดเหตุบริเวณที่ถูกกักขัง พบซองบรรจุยารักษาโรคที่มีอักษรเลือนราง เฉพาะในส่วนนามสกุลระบุว่า “ต๊ะดิน” ตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้แล้วพบว่า มีแต่นามสกุล “โต๊ะดิน” จึงมีการตรวจสอบจากทะเบียนราษฎร พบจำนวน 1,000 คน จำกัดเฉพาะในตำบลเกาะปูยู อำเภอเมืองสตูล จังหวัดสตูล เหลือ 200 คน เมื่อคัดแยกเป็นเฉพาะชายฉกรรจ์ตามคำบอกเล่าของผู้เสียหายได้จำนวน 60 คน แล้วจึงพิมพ์ภาพออกมาให้ผู้เสียหายชี้ภาพ ในขณะที่ผู้เสียหายเบิกความยืนยันว่า จำกลุ่มคนร้ายที่ควบคุมตัวได้ โดยเป็นชาวโรฮีนจา 8 คน และชาวไทย 8 คน จำเลยเป็นคนถือปืนยาวควบคุม แต่เมื่อมีการสอบคำให้การผู้เสียหายโดยร้อยตำรวจเอกศตวรรษ ก็ไม่มีการระบุชัดเจนเกี่ยวกับรายละเอียดของคนร้าย คงมีรายละเอียดแต่เพียงว่า คนควบคุมใช้อาวุธปืนเป็นอาวุธประจำกาย เมื่อมีการสอบสวนครั้งต่อมาโดยพันตำรวจโทชำนาญ จึงมีการระบุเกี่ยวกับคนร้ายที่เป็นคนไทย แต่ผู้เสียหายก็ให้การไว้ว่าไม่สามารถบอกตำหนิรูปพรรณได้ เพียงแต่กล่าวว่าหากพบเห็นอีกครั้ง สามารถจำได้ ในขณะที่สามารถบอกตำหนิรูปพรรณคนร้ายที่เป็นชาวโรฮีนจาได้ กรณีจึงไม่เป็นที่แน่นอนว่าเบาะแสที่มาของคนร้ายที่มีจำเลยรวมอยู่ด้วยนั้นเป็นผลมาจากการประมวลหาข้อเท็จจริงของพันตำรวจโทธนูศิลป์ดังที่กล่าวมาหรือมาจากข้อเท็จจริงในส่วนของผู้เสียหาย หากมีการจดจำคนร้ายได้แน่นอนชัดเจน พันตำรวจโทธนูศิลป์คงใช้เป็นข้อมูลในการสืบหาตัวคนร้ายหรือกำหนดขอบเขตเป้าหมายให้แคบลงกว่าการสืบสวนจากเบาะแสซองบรรจุยาดังกล่าว การสเก็ตซ์ภาพคนร้ายก็กระทำเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 ก่อนการชี้ภาพ เพียง 1 วัน ทั้ง ๆ ที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า มีการได้ตัวผู้เสียหายมาแล้วตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2557 ในการชี้ภาพ ผู้เสียหายก็เบิกความยืนยันว่าเป็นภาพจำเลย แต่ก็ปรากฏว่ามีลักษณะต่างวัยกันมาก โดยตามภาพสเก็ตซ์เป็นภาพของคนวัยหนุ่มซึ่งสอดคล้องกับที่ผู้เสียหายบอกพันตำรวจโทธนูศิลป์ว่าคนร้ายเป็นชายฉกรรจ์ แต่ภาพของจำเลยเป็นวัยกลางคน ค่อนไปทางชรา โดยขณะถ่ายภาพขอมีบัตรประชาชนอายุ 51 ปี นอกจากนี้ผู้เสียหายก็เบิกความตอบคำถามค้านด้วยว่า ในการชี้ภาพนั้นใช้เวลาหลายชั่วโมง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ผิดปกติหากสามารถจดจำคนร้ายได้ชัดเจนและสามารถยืนยันได้อย่างแน่นอน พยานหลักฐานโจทก์มีลักษณะขัดแย้งกันและเป็นพิรุธในหลายจุด เมื่อประมวลวิเคราะห์เข้าด้วยกันแล้ว กรณียังไม่มีน้ำหนักมั่นคงพอและเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยเป็นคนร้ายในคดีนี้หรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษากลับให้ยกฟ้อง และยกคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทน ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนแพ่งทั้งสามศาลให้เป็นพับ

Share