คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7376/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1 ข้อความที่ว่า “บิดาเป็นคนต่างด้าว” นั้น คำว่า “บิดา” หมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อความที่ว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” คำว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย”หมายถึงผู้ที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทยแต่เดินทางเข้ามาเพื่อพักอาศัยในราชอาณาจักรไทย เมื่อ ล.มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งหกเพราะมิได้จดทะเบียนสมรสกับ จ. มารดาโจทก์ทั้งหก และ จ.เป็นคนเกิดในราชอาณาจักรไทย แม้จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของ คณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) และกลายเป็นคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จ.ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) โจทก์ทั้งหกจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายและในขณะเกิดบิดาหรือมารดาเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ดังนั้นการที่ จ.ถูกถอนสัญชาติไทยไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ข้อ 1(3) ไปด้วย และไม่ทำให้โจทก์ที่ 6 ซึ่งเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ใช้บังคับเข้ากรณีไม่ได้สัญชาติไทยตามข้อ 2 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 10บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติพ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วยและขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เกิด จ. ยังไม่ถูกถอนสัญชาติไทย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นผู้เกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามบทบัญญัติมาตรา 7(1) ดังกล่าว และพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 11 บัญญัติให้นำบทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย แม้เป็นผลให้ จ.ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7(2) ประกอบมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง กลายเป็นบุคคลที่ถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามมาตรา 7 ทวิวรรคสาม แต่บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม ก็ต้องใช้บังคับกับ จ. ตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 ใช้บังคับเป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่โจทก์ที่ 6 เกิด ขณะโจทก์ที่ 6 เกิด จ.ยังไม่ถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วย คนเข้าเมือง ตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม อีกทั้ง ล.บิดาโจทก์ที่ 6 เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดา ล.เป็นคนสัญชาติญวนซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ล. จึงมิใช่ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม เมื่อถือไม่ได้ว่าในขณะโจทก์ที่ 6เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้สมรสกับมารดาหรือมารดาของโจทก์ที่ 6 เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 76 ทวิ วรรคหนึ่ง โจทก์ที่ 6 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ดังนั้น โจทก์ทั้งหกไม่เสียสัญชาติไทยเพราะประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า นางจุดเกิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อพ.ศ. 2488 ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนายเสียน เมื่อพ.ศ. 2505 โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสมีบุตรด้วยกัน 6 คน คือโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานีและเป็นคนสัญชาติไทย นับแต่ พ.ศ. 2499 ตลอดมาจำเลยที่ 1 อ้างว่าบุตรหลายของคนญวนอพยพเป็นคนต่างด้าวประเภทคนญวนอพยพ ตั้งแต่พ.ศ. 2514 จำเลยทั้งสามร่วมกันกล่าวอ้างว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5เป็นคนต่างด้าวประเภทคนญวนอพยพนับแต่วันที่ 30 กันยายน 2518ตลอดมา จำเลยทั้งสามร่วมกันกล่าวอ้างว่า โจทก์ที่ 6 เป็นบุคคลเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 และจำเลยทั้งสามร่วมกันเพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านญวนอพยพ เลขที่ 39/5 ถนนชวาลาในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งหกในเรื่องสัญชาติ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งหกเป็นคนสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพ เลขที่ 39/5 ถนนชวาลาในตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
จำเลยทั้งสามให้การว่า นายเลียนบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งหก และนางจุด มารดาของโจทก์ทั้งหก เป็นคนต่างด้าวสัญชาติญวน ซึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จึงถูกถอนสัญชาติไทย ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ลงวันที่13 ธันวาคม 2515 และโจทก์ที่ 6 ก็มีสัญชาติญวนตามบิดามารดาจำเลยทั้งสามไม่ได้เป็นผู้เพิ่มชื่อโจทก์ทั้งหกลงในทะเบียนบ้านคนญวนอพยพ แต่โจทก์ทั้งหกทราบดีว่าตนเองมีสัญชาติญวน จึงสมัครใจไปแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ให้ใส่ชื่อโจทก์ทั้งหกไว้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์ทั้งหกมีสัญชาติไทย ให้จำเลยทั้งสามร่วมมือกันถอนชื่อโจทก์ทั้งหกออกจากทะเบียนบ้านญวนอพยพเลขที่ 39/5 ถนนชวาลาใน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงคงฟังยุติตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 โดยคู่ความมิได้โต้เถียงกันว่า โจทก์ทั้งหกเป็นบุตรนางจุด เล กับนายเลียน เล ซึ่งมิได้จดทะเบียนสมรสกัน นางจุด เล เกิดที่จังหวัดนครพนม เมื่อ พ.ศ. 2488 บิดาและมารดาของนางจุด เล เป็นคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองโจทก์ทั้งหกเกิดที่จังหวัดอุบลราชธานี โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5เกิดหลังวันที่ 4 สิงหาคม 2508 แต่ก่อนวันที่ 14 ธันวาคม 2515โจทก์ที่ 6 เกิดหลังวันที่ 13 ธันวาคม 2515 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งหกมีสัญชาติไทยหรือไม่ จำเลยทั้งสามฎีกาว่านายคาง เหงียน (ที่ถูกเป็นนายกง เล หรือนายตื้อ เสียน)และนางเตียด เล ซึ่งเป็นบิดาและมารดาของนางจุด เล มารดาโจทก์ทั้งหกเป็นบุคคลต่างด้าวสัญชาติญวน แม้นางจุด เล จะเกิดในราชอาณาจักรไทย นางจุด เล ก็ถูกถอนสัญชาติไทยโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 นางจุด เล มิใช่สัญชาติไทยและมิได้จดทะเบียนสมรสกันกับนายเสียน เล บิดาโจทก์ทั้งหก โจทก์ทั้งหกจึงถูกถอนสัญชาติไทยด้วย ในปัญหานี้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ได้บัญญัติไว้ในข้อ 1 มีความว่า ให้ถอนสัญชาติไทยของบรรดาบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าว หรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และในขณะที่เกิดบิดาหรือมารดานั้นเป็น (1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย (2)ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราวหรือ (3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่นและบทบัญญติ ต่อไปในข้อ 2 มีความว่า บุคคลตามข้อ 1 ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยเมื่อประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับแล้วไม่ได้สัญชาติไทยเว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาเห็นสมควรและสั่งเฉพาะรายเป็นประการอื่น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความที่ว่า “บิดาเป็นคนต่างด้าว” นั้น คำว่า “บิดา”ย่อมหมายถึงบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อความที่ว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง” คำว่า “ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย” ย่อมมีความหมายถึงผู้ที่มิได้มีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรไทย แต่เดินทางเข้ามาเพื่อพักอาศัยในราชอาณาจักรไทย ดังนั้น เมื่อนายเสียน เล มิใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์ทั้งหกเพราะมิได้จดทะเบียนสมรสกับนางจุด เล และนางจุด เล มารดาโจทก์ทั้งหกเป็นคนเกิดในราชอาณาจักรไทย แม้จะถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) และกลายเป็นคนต่างด้าวซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรไทยต่อมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนางจุด เล ก็ไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) โจทก์ทั้งหกจึงไม่ใช่เป็นบุคคลที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาเป็นคนต่างด้าวหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวแต่ไม่ปรากฏบิดาที่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ในขณะเกิดบิดาหรือมารดาเป็นผู้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง การที่ นางจุด เลถูกถอนสัญชาติไทยไม่ทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ถูกถอนสัญชาติไทยตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337 ข้อ 1(3) ไปด้วย และไม่ทำให้โจทก์ที่ 6 ซึ่งเกิดภายหลังที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 337ใช้บังคับเข้ากรณีไม่ได้สัญชาติไทยตามข้อ 2 ของประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาคดีของศาลฎีกาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัตินี้ได้บัญญัติในมาตรา 4 ให้แก้ไขเพิ่มเติมความในมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 และบัญญัติในมาตรา 5 ให้เพิ่มข้อความในมาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508ข้อความของพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ตามที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 4 และมาตรา 5 มีดังนี้
มาตรา 7 บุคคลดังต่อไปนี้ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด
(1) ผู้เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร
(2) ผู้เกิดในราชอาณาจักร ยกเว้นบุคคลตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง
มาตรา 7 ทวิ ผู้เกิดในราชอาณาจักรไทย โดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าว ย่อมไม่ได้รับสัญชาติไทย ถ้าในขณะที่เกิดบิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้มีการสมรสกับมารดาหรือมารดาของผู้นั้นเป็น
(1) ผู้ที่ได้รับการผ่อนผันให้พักอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยเป็นกรณีพิเศษเฉพาะราย
(2) ผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่ในราชอาณาจักรไทยเพียงชั่วคราว หรือ
(3) ผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง
ในกรณีที่เห็นสมควรรัฐมนตรีจะพิจารณาและสั่งเฉพาะรายให้บุคคลตามวรรคหนึ่งได้สัญชาติไทยก็ได้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
ให้ถือว่าผู้เกิดในราชอาณาจักรไทยซึ่งไม่ได้สัญชาติไทยตามวรรคหนึ่งเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเว้นแต่จะมีการสั่งเป็นอย่างอื่นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ปัญหาจึงมีอีกว่าโจทก์ทั้งหกเสียสัญชาติไทยเพราะบทบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สำหรับกรณีของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เนื่องจากพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535มาตรา 10 บัญญัติให้บทบัญญัติมาตรา 7(1) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย และในขณะที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 เกิด นางจุด เล มารดาของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ยังไม่ถูกถอนสัญชาติไทย โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 จึงเป็นผู้เกิดโดยมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 5 ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามบทบัญญัติมาตรา 7(1) ดังกล่าวส่วนกรณีของโจทก์ที่ 6 พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2535 มาตรา 11 บัญญัติให้บทบัญญัติ มาตรา 7 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับกับผู้เกิดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย การให้มีผลใช้บังคับดังกล่าวแม้เป็นผลให้นางจุด เล ซึ่งเป็นบุคคลที่ไม่ได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7(2) ประกอบมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่ง กลายเป็นบุคคลที่ถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสามแต่บทบัญญัติมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม ก็ต้องใช้บังคับกับนางจุด เลตั้งแต่วันที่พระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535ใช้บังคับเป็นต้นไป ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่โจทก์ที่ 6 เกิด ขณะที่โจทก์ที่ 6 เกิด นางจุด เล ยังไม่ถูกถือว่าเป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม อีกทั้งปรากฏจากคำเบิกความของนายเสียน เล บิดาโจทก์ที่ 6 ซึ่งเบิกความเป็นพยานจำเลยทั้งสามว่า นายเสียน เล เกิดในราชอาณาจักรไทยที่จังหวัดมุกดาหาร โดยบิดานายเสียน เล เป็นคนสัญชาติญวนซึ่งเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวนายเสียน เล จึงไม่ใช่เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคสาม อีกเช่นกัน เมื่อถือไม่ได้ว่าขณะโจทก์ที่ 6เกิด บิดาตามกฎหมายหรือบิดาซึ่งมิได้สมรสกับมารดาหรือมารดาของโจทก์ที่ 6 เป็นผู้ที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองตามมาตรา 7 ทวิ วรรคหนึ่งโจทก์ที่ 6 จึงได้สัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 7(2) แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 มาตรา 4 โจทก์ทั้งหกไม่เสียสัญชาติไทยเพราะการประกาศใช้พระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
พิพากษายืน

Share