คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7367/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้มีการตั้งเป็นประเด็นแห่งคดีไว้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามนัยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) บิดาโจทก์ถึงแก่ความตายไปแล้วก่อนโจทก์ฟ้อง การสมรสระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยได้ขาดจากกันเพราะเหตุบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501 แล้ว การสมรสนั้นจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะทายาทของบิดาคู่สมรสเดิมอันจะก่อให้เกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะ ทั้งตามคำฟ้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวแสดงว่าจำเลยได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ เช่น สิทธิในครอบครัว สิทธิในมรดกของบิดาโจทก์ผู้ตายหรือสิทธิอื่นใด ซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ถือว่าตามฟ้องไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรของนายบุญหลงกับนางหยวก บิดามารดาของโจทก์ได้สมรสกันก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2478 ต่อมาเมื่อวันที่2 มีนาคม 2533 จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกับนายบุญหลงบิดาโจทก์โดยรู้อยู่แล้วว่านายบุญหลงมีนางหยวกมารดาโจทก์เป็นภรรยาและขณะจดทะเบียนสมรสนายบุญหลงมีอาการป่วยทางประสาททั้งเป็นโรคชราไม่สามารถกระทำสิ่งใดด้วยตนเองได้ และนายบุญหลงได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2533 จำเลยได้นำใบสำคัญการสมรสดังกล่าวแสดงต่อบุคคลอื่นทั่ว ๆ ไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายขอให้พิพากษาว่าใบสำคัญการสมรสเป็นโมฆะ ไม่มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย
จำเลยให้การว่า นางหยวกมิใช่ภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายบุญหลง และโจทก์มิใช่บุตรชอบด้วยกฎหมายของนายบุญหลงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายบุญหลงมานานประมาณ 40 ปี จึงได้จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2533ขณะจดทะเบียนสมรสนายบุญหลงมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการการสมรสระหว่างจำเลยกับนายบุญหลงเป็นอันสิ้นสุดลงนับแต่วันที่นายบุญหลงได้ถึงแก่กรรมก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลมีอำนาจที่จะยกข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยโดยมิได้มีการตั้งเป็นประเด็นแห่งคดีไว้ได้หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) บัญญัติว่า “ในคดีที่อาจยกข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นอ้างได้นั้น เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะยกข้อเหล่านั้นขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปก็ได้”ซึ่งตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการให้อำนาจศาลที่จะพิจารณาว่าเมื่อมีข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแล้ว ควรที่จะยกข้อกฎหมายนั้นขึ้นวินิจฉัยหรือไม่ก็ได้ แม้จะไม่ได้มีการยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจที่จะยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์ก็ได้ส่วนในปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1501บัญญัติว่า การสมรสย่อมสิ้นสุดลงด้วยความตาย การหย่าหรือศาลพิพากษาให้เพิกถอนเท่านั้น ฉะนั้นการสมรสที่จะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะเป็นทายาทของบิดาคู่สมรสเดิมอันจะก่อให้เกิดสิทธิหรืออำนาจที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าเป็นโมฆะได้ก็ต่อเมื่อการสมรสระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยยังคงมีอยู่ แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าบิดาโจทก์ได้ถึงแก่กรรมไปแล้วก่อนโจทก์ฟ้อง การสมรสระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลยได้ขาดจากกันเพราะเหตุบิดาโจทก์ถึงแก่ความตายตามมาตรา 1501แล้ว เมื่อการสมรสของบิดาโจทก์กับจำเลยขาดจากกันขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้การสมรสนั้นจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนหรือโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะทายาทของบิดาอันเป็นคู่สมรสเดิมแต่อย่างใด และตามคำฟ้องของโจทก์ก็มิได้กล่าวแสดงว่าจำเลยได้กระทำสิ่งใดอันเป็นการโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์เช่นสิทธิในครอบครัว สิทธิในมรดกของบิดาโจทก์ผู้ตายหรือสิทธิอื่นใดซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ถือว่าตามคำฟ้องไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share