แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความผิดฐานเป็นผู้แทนของนิติบุคคลต้องรับโทษตาม ป.รัษฎากร มาตรา 90/5 นั้น หากโจทก์สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลรู้เห็นด้วยในการกระทำความผิดของนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับโทษในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว คดีนี้โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นด้วยในการยื่นแบบแสดงรายการดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7), 90/5 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/4 (7) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 5 กระทง ให้ปรับจำเลยที่ 1 กระทงละ 100,000 บาท รวมปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 500,000 บาท และให้จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 1 ปี คงจำคุกจำเลยที่ 2 ทั้งสิ้น 5 ปี หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 อีกบทหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลและเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ต่อกรมสรรพากร โดยแจ้งความประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคำนวณจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อในแต่ละเดือนภาษี ขณะเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยใช้ใบกำกับภาษี 227 ฉบับ ในการคำนวณภาษีสำหรับเดือนภาษีมีนาคม เมษายน กรกฎาคม 2540 และตุลาคม 2542 และจำเลยที่ 1 โดยนายปิยฉัตร เป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) โดยใช้ใบกำกับภาษี 53 ฉบับ ในการคำนวณภาษีสำหรับเดือนภาษีกันยายน 2542
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า พยานโจทก์ผู้ทำการตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่จำเลยที่ 1 ยื่นสำหรับเดือนภาษีมีนาคม เมษายน กรกฎาคม 2540 เดือนภาษีกันยายนและตุลาคม 2542 เป็นเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร เบิกความสอดคล้องต้องกันไม่มีพิรุธแต่อย่างใด ทั้งไม่ปรากฏว่ามีผลประโยชน์ในทางคดีขัดแย้งกับจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีเหตุต้องระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลยทั้งสองให้ต้องรับโทษทางอาญา เชื่อว่าเบิกความไปตามข้อเท็จจริงที่ตนได้ประสบพบเห็นเหตุการณ์และทราบข้อความจริงมาด้วยตนเอง การที่เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรตรวจสอบแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ที่จำเลยที่ 1 ยื่นดังกล่าวมาแล้วข้างต้น พบว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบเพื่อให้จำเลยที่ 1 พิสูจน์ที่มาของใบกำกับภาษีว่าได้มาอย่างไร แต่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถพิสูจน์การได้มาของใบกำกับภาษี เนื่องจากไม่มีหลักฐานการซื้อสินค้าและการชำระราคามาแสดง กรมสรรพากรจึงมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.73.1) ให้จำเลยที่ 1 ทราบ เพื่อให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเพิ่มเติม เบี้ยปรับและเงินเพิ่ม จำเลยทั้งสองทราบแล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่อย่างใด ส่วนกรณีที่จำเลยทั้งสองต่อสู้ว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและไม่ทราบว่าเป็นใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากได้รับใบกำกับภาษี 280 ฉบับ จากนายกษิตและนายชัยวัล ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบด้านการเงินในการร่วมกันบริหารงานโครงการอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งจำเลยที่ 1 รับจ้างนั้น จำเลยทั้งสองมิได้นำนายกษิตและนายชัยวัลมาเบิกความสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งสองว่า การได้มาซึ่งใบกำกับภาษีเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและมีการซื้อสินค้าตามใบกำกับภาษีจริง จึงเป็นเพียงคำเบิกความที่เลื่อนลอยของจำเลยที่ 2 ปราศจากพยานหลักฐานอื่นใดมาอ้างอิงสนับสนุน พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงประกอบด้วยเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องและฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีตามฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.3 และข้อ 1.5 จำเลยที่ 2 จึงกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.3 และข้อ 1.5 ส่วนความผิดของจำเลยที่ 2 ฐานเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 นำใบกำกับภาษีซึ่งออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษีตามฟ้องข้อ 1.4 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่ฎีกา ความผิดฐานนี้จึงยุติไป
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ต้องรับโทษในฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มาตรา 90/5 หรือไม่ เห็นว่า แม้ตามแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ประจำเดือนภาษีกันยายน 2542 ของจำเลยที่ 1 ที่ยื่นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2542 มีลายมือชื่อของนายปิยฉัตรลงชื่อแทนในช่องผู้ประกอบการ โดยจำเลยที่ 2 มิได้ลงลายมือชื่อก็ตาม แต่ก็มิได้หมายความว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจะไม่ต้องรับโทษในกรณีที่นิติบุคคลนั้นกระทำความผิดเสียเลย หากโจทก์สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นด้วยในการกระทำความผิดของนิติบุคคล จำเลยที่ 2 ก็ต้องรับโทษในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 90/5 ได้ สำหรับคดีนี้ โจทก์นำสืบแต่เพียงว่า จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 เท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นด้วยในการยื่นแบบแสดงรายการ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานนี้ได้ เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวแล้วฎีกาข้ออื่นของจำเลยที่ 2 ในปัญหานี้จึงไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะข้อ 1.4 คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์