แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยแบ่งบรรจุฝิ่นเป็นห่อเพื่อความสะดวกแก่การจำหน่าย ทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานผลิตฝิ่นตามความหมายของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 แต่เมื่อฝิ่นที่จำเลยผลิตเป็นจำนวนเดียวกับฝิ่นที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการที่จำเลยแบ่งบรรจุฝิ่นเป็นห่อก็เพื่อสะดวกในการจำหน่ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 16, 17, 68, 69, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง, 68 วรรคสอง, 69 วรรคสาม (ที่ถูก มาตรา 69 วรรคสาม ตอนต้น) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานผลิตฝิ่น จำคุก 40 ปี และปรับ 400,000 บาท ฐานมีฝิ่นไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 9 ปี รวมจำคุก 49 ปี และปรับ 400,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 24 ปี 6 เดือน และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กักขังแทนค่าปรับได้เกิน 1 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยฐานผลิตฝิ่น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่จำเลยแบ่งบรรจุฝิ่นโดยนำมาบรรจุเป็นห่อเป็นการผลิตฝิ่นหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4 บัญญัติว่า “ผลิต” หมายความว่า เพาะ ปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป สังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ และให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพซึ่งศาลพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานต่อไปตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 13 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่าจำเลยบรรจุฝิ่นใส่ห่อ รวม 49 ห่อ เช่นนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการแบ่งบรรจุเพื่อความสะดวกแก่การจำหน่าย ทำให้ยาเสพติดให้โทษนั้นแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่จะเกิดอันตรายแก่สังคมอย่างร้ายแรง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานผลิตฝิ่นตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ฝิ่นที่จำเลยผลิตเป็นจำนวนเดียวกับฝิ่นที่จำเลยมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และการที่จำเลยแบ่งบรรจุฝิ่นเป็นห่อก็เพื่อสะดวกในการจำหน่ายเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
อนึ่งที่ศาลชั้นต้นลงโทษปรับจำเลยฐานผลิตฝิ่นโดยปรับ 400,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าระวางโทษปรับตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษปรับจำเลย ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษปรับให้เป็นไปตามระวางโทษที่กฎหมายกำหนดได้ เพราะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 212 ประกอบมาตรา 215 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 16 วรรคหนึ่ง, 68 วรรคสอง ด้วย การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานผลิตฝิ่นซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 20 ปี และปรับ 400,000 บาท เมื่อลดโทษให้กึ่งหนึ่งแล้ว คงจำคุก 10 ปี และปรับ 200,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกิน 1 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์