คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ต้องขังที่ก่อเหตุร้ายพาตัวประกันที่ถูกมัดไว้เป็นคู่ ๆ เดินออกมาโดยมีผู้ต้องขังคนหนึ่งถือลูกระเบิดมือพร้อมกับพูดขู่และชูลูกระเบิดมือทำท่าจะขว้างมายังกองอำนวยการที่จำเลยที่ 2 กับพวกอยู่ห่างเพียง 4-5 เมตรจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำ จึงมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานใช้อาวุธปืนยิงผู้ต้องขังดังกล่าวโดยก่อนมีคำสั่งได้ประชุมตกลงกันว่าให้ยิงได้ทีละนัดพร้อมทั้งกำหนด ให้เจ้าพนักงานแต่ละคนยิงผู้ต้องขังเป็นรายตัวไป มิใช่ว่า ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มผู้ก่อเหตุร้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของตัวประกันอย่างดีที่สุด และจำเป็นต้องสั่งการโดยฉับพลันเนื่องจากผู้ต้องขังชูลูกระเบิดมือทำท่าจะขว้างมายังจำเลยที่ 2 กับพวก การที่ลูกระเบิดมือของผู้ต้องขังเกิดระเบิดขึ้นและถูกตัวประกันถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การกระทำของจำเลยที่ 2 กับพวกจึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2479 มาตรา 17(1)(3),21เจ้าพนักงานเรือนจำไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของตนทั้งทางแพ่งหรือทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำไปโดยสุจริตและการกระทำนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหมวด 4 ไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นผู้ต้องขังหรือบุคคลอื่นก็ตาม ฉะนั้นแม้ตัวประกันถึงแก่ความตายเพราะการกระทำดังกล่าว จำเลยทั้งสิบก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายยงยุทธซึ่งรับราชการตำแหน่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ประจำอยู่ที่เรือนจำกลางชลบุรี จังหวัดชลบุรี สังกัดกรมราชทัณฑ์กระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 เป็นกรมในรัฐบาลและเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 2 ให้เป็นผู้คุมพิเศษ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์และอยู่ในบังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขณะที่นายยงยุทธปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเรือนจำ ผู้ต้องขังชายสำรวยกับพวกได้ร่วมกันจับตัวนายยงยุทธกับพวกไว้เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองในการหลบหนีออกจากเรือนจำ จำเลยที่ 2 ได้สั่งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10ยิงผู้ต้องขังที่ก่อความไม่สงบ เป็นเหตุให้ผู้ต้องขังที่ก่อความไม่สงบ ตัวประกัน 1 คน และนายยงยุทธถึงแก่ความตายการสั่งยิงของจำเลยที่ 2 เป็นการสั่งที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลและไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 2 สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นได้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ใช้อาวุธปืนยิงเข้าไปยังกลุ่มผู้ต้องขังและตัวประกันโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตของตัวประกันถือเป็นการจงใจทำให้นายยงยุทธถึงแก่ความตาย และโจทก์ได้รับค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 10ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสิบให้ร่วมกันใช้เงิน 515,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 ให้การร่วมกันว่า คืนเกิดเหตุผู้ต้องขังชายสำเริง กับพวกมีระเบิดมือเป็นอาวุธได้ร่วมกันจับกุมตัวนายยงยุทธกับพวกเป็นตัวประกัน และขู่เข็ญจำเลยที่ 2ให้สั่งเปิดประตูเรือนจำเพื่อหลบหนี หากไม่ปฏิบัติตามจะฆ่าตัวประกันและเผาเรือนจำ โดยกำหนดเวลาให้ 2 ชั่วโมง เมื่อครบกำหนดและผู้ตัองขังชายสำเริง กับพวกได้ควบคุมตัวประกันมาที่ประตูเรือนจำเพื่อใช้ระเบิดพังประตูและเผาเรือนจำ จำเลยที่ 2 เห็นว่า หากปล่อยให้ผู้ต้องขังชายสำเริงกับพวกกระทำเช่นนั้น เจ้าพนักงานเรือนจำและนักโทษอื่นในเรือนจำจำนวน 1,400 คน อาจเสียชีวิตได้จึงต้องสั่งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ยิงผู้ต้องขังชายสำเริง กับพวกเพื่อป้องกันภยันตรายที่จะเกิดต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยทั้งสิบเป็นเจ้าพนักงานเรือนจำตามกฎหมาย และใช้อำนาจภายใต้เงื่อนไขที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2497 มาตรา 17 โดยสุจริตจำเลยทั้งสิบจึงไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 21 และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 449 อีกทั้งนายยงยุทธถึงแก่ความตายเพราะถูกสะเก็ด ระเบิดของผู้ต้องขังชายสำเริง มิได้เกิดจากถูกกระสุนปืนของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ยิงเข้าใส่จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องสูงเกินไป ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่กรรมและไม่มีผู้ใดเข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะภายในกำหนด 1 ปี ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ต้องขังที่ก่อเหตุร้ายพาตัวประกันที่ถูกมัดไว้เป็นคู่ ๆ เดินออกมาโดย มีผู้ต้องขังคนหนึ่งถือระเบิดมือพร้อมกับพูดข่มขู่และทำท่าจะขว้างมายังกองอำนวยการที่จำเลยที่ 2 กับพวกอยู่ ห่างเพียง 4-5 เมตร จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการเรือนจำจึงมีคำสั่งให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 ยิงผู้ต้องขังดังกล่าว โดยก่อนมีคำสั่งได้ประชุมตกลงกันว่าให้ยิงได้ทีละนัด พร้อมทั้งกำหนดให้เจ้าพนักงานแต่ละคนยิงผู้ต้องขังเป็นรายตัวไป มิใช่ให้ยิงสุ่มเข้าไปในกลุ่มผู้ต้องขังที่ก่อเหตุร้าย แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ใช้ความระมัดระวังอย่างรอบคอบเพื่อความปลอดภัยของตัวประกันอย่างดีที่สุดและจำเป็นต้องสั่งการโดยฉับพลันเนื่องจากผู้ต้องขังทำท่าจะขว้างระเบิดมือมายังจำเลยที่ 2 กับพวก การที่ลูกระเบิดมือเกิดระเบิดขึ้นและถูกตัวประกันถึงแก่ความตาย ถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติโดยสุจริต การกระทำของจำเลยที่ 2ถึงที่ 10 จึงไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์
ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2497 มาตรา 17(1)(3), 21 เจ้าพนักงานเรือนจำไม่ต้องรับผิดในผลแห่งการกระทำของตนทั้งทางแพ่งหรือทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำโดยสุจริต และการกระทำนั้นเป็นไปตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหมวด 4 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าผู้ถูกกระทำจะเป็นผู้ต้องขังหรือบุคคลอื่นก็ตาม ฉะนั้นแม้ตัวประกันจะถึงแก่ความตายเพราะการกระทำดังกล่าวจำเลยทั้งสิบก็ไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
พิพากษายืน

Share