แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการฟ้องผู้คัดค้านในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษผู้คัดค้านข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกฟ้องข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลฎีกาพิพากษายืน โดยที่ พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย” มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องและทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น…” และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น…” การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ในอันที่จะขอให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้งห้ารายการตามคำร้องตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้งห้ารายการ ดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ได้
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้คำร้องว่า ผู้ร้องได้ยื่นฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีน 66 เม็ด น้ำหนัก 6.19 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านในความผิดฐานดังกล่าวมีกำหนด 6 ปี 8 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 771/2546 คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในระหว่างการดำเนินคดีอาญาสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ใช้อำนาจตามกฎหมายตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้าน และคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินได้มีคำสั่งให้ยึดและอายัดทรัพย์สินผู้คัดค้าน 5 รายการ คือเงิน 58,000 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0 9232 1474 สร้อยคอทองคำหนัก 45.8 กรัม สร้อยคอทองคำหนัก 15 กรัม และกรอบพระทองคำหนัก 3.8 กรัม เนื่องจากเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์สินดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 31
ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ประกาศในหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า การดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของผู้คัดค้าน ที่พนักงานเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่มีอยู่เกินฐานะและความเป็นอยู่ในการประกอบอาชีพและทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น เป็นเพียงข้อสันนิษฐานและข้อสงสัยที่ผู้ร้องไม่สามารถนำพยานหลักฐานมาชี้ชัดลงไปได้ว่า ผู้คัดค้านได้ทรัพย์สินทั้ง 5 รายการ มาโดยเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เงิน 58,000 บาท ที่เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบที่ตัวผู้คัดค้านนั้น ผู้คัดค้านได้มาจากการขายรถยนต์ 50,000 บาท ที่เหลืออีก 8,000 บาท เป็นรายได้จากการค้าขายปูแสม สร้อยคอพร้อมพระเลี่ยมทองก็ได้มาจากการค้าขายปูแสม ผู้คัดค้านมีรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 15,000 บาท ผู้คัดค้านประกอบอาชีพดังกล่าวมานานหลายปี ทรัพย์สินที่ผู้คัดค้านได้มาจึงไม่เกินฐานะและความสามารถในการประกอบอาชีพตามปกติ ขอให้ยกคำร้องและคืนทรัพย์สินให้แก่ผู้คัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินของผู้คัดค้านทั้ง 5 รายการ ตามคำร้องให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงิน 8,000 บาท สร้อยคอทองคำ 2 เส้น กรอบพระทองคำและโทรศัพท์เคลื่อนที่แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า ผู้คัดค้านถูกจับกุมพร้อมเมทแอมเฟตามีน 66 เม็ด และทรัพย์สิน 5 รายการ ผู้ร้องฟ้องผู้คัดค้านเป็นจำเลยโดยกล่าวหาว่า มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษผู้คัดค้านในความผิดฐานดังกล่าว จำคุก 6 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษผู้คัดค้านฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ยกฟ้องฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ภายหลังจับกุมผู้คัดค้านคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์สิน 5 รายการ คือ เงิน 58,000 บาท สร้อยคอทองคำลายลูกโซ่ สร้อยคอทองคำลายลูกโซ่ กรอบพระทองคำ และโทรศัพท์เคลื่อนที่ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาริบเงิน 50,000 บาท ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ส่วนเงิน 8,000 บาท สร้อยคอทองคำ 2 เส้น กรอบพระทองคำและโทรศัพท์เคลื่อนที่คืนให้ผู้คัดค้าน ผู้ร้องไม่ฎีกา ทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นอันยุติ
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านแต่เพียงว่า เงิน 50,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ เห็นว่า คดีอาญาที่โจทก์ฟ้องผู้คัดค้านในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษตามฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ยกฟ้องข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ความปรากฏต่อศาลฎีกาว่า ในคดีอาญาดังกล่าวศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3119/2551 โดยที่พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3 ให้บทนิยามคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หมายความว่า การผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติด และให้หมายความรวมถึง การสมคบ สนับสนุน ช่วยเหลือ หรือพยายามกระทำความผิดดังกล่าวด้วย” มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง และทรัพย์สินที่คณะกรรมการมีคำสั่งให้ยึดหรืออายัดตามมาตรา 22 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ก็ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น…” และมาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่ง นั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลริบทรัพย์สินนั้น…” การที่ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ว่า ผู้คัดค้านกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงมิได้อยู่ในความหมายของคำว่า “ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด” ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 ในอันที่จะขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง 5 รายการตามคำร้องตามมาตรา 29 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินทั้ง 5 รายการตามคำร้องซึ่งรวมถึงเงิน 50,000 บาท ดังกล่าวให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29, 31 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ริบเงิน 50,000 บาท ดังกล่าว ให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของผู้คัดค้านอีกต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนเงิน 50,000 บาท แก่ผู้คัดค้าน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2