คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1211/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาของข้าราชการไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศของจำเลยข้อ 3ระบุว่า เมื่อจำเลยสำเร็จการศึกษาหรือไม่ จำเลยจะรับราชการต่อไปในสังกัดกรมอาชีวศึกษาโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรและข้อ 4 ระบุว่า หากจำเลยผิดสัญญาในข้อ 3 หรือไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆจำเลยยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ สัญญาดังกล่าวมิใช่ว่าจำเลยต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้น ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการโจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยโอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญา จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ 4 แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยโอนไปรับราชการอื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามที่รับสภาพไว้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมจำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในสังกัดกรมโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและกระทรวงศึกษาธิการให้ไปศึกษาต่อในต่างประเทศในระดับปริญญาโท ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 และได้รับอนุมัติให้ขยายระยะเวลาศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกออกไปอีกจนถึงวันที่ 11 เมษายน 2533 โดยได้รับเงินเดือนเต็มจำเลยที่ 1 ทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะกลับมารับราชการในกรมโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการ หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน หากผิดสัญญายินยอมคืนเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่จำเลยที่ 1 ได้รับในระหว่างไปศึกษาหรือฝึกอบรมให้โจทก์ และเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ของเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายคืนโจทก์ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับแจ้งจากโจทก์ หากไม่ชำระให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปศึกษาต่อในต่างประเทศ 4 ปี 2 เดือน 26 วัน ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพ (พ.ช.ค.)ไปจากโจทก์จำนวน 196,395.53 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องกลับมารับราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ต่อไป หรือกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของเวลาที่ไปศึกษา คิดเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน22 วัน แต่จำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษากลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์นับแต่วันที่ 30 มกราคม 2533 ถึงวันที่ 14 พฤษภาคม 2538 เท่านั้น จากนั้นได้โอนย้ายไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ (กรมการฝึกหัดครูเดิม) อันเป็นการผิดสัญญาเพราะโจทก์ไม่ได้ให้ความยินยอมในการโอนย้ายโดยปราศจากเงื่อนไข คงเหลือเวลาที่จำเลยที่ 1 ต้องปฏิบัติราชการชดใช้ทุนให้โจทก์ตามสัญญาอีก 3 ปี 2 เดือน 6 วัน ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายคืนเงินเดือนและเงินเพิ่มช่วยค่าครองชีพให้โจทก์เป็นเงิน 73,743.59 บาท และเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า ของเงินที่ต้องจ่ายคืนโจทก์เป็นเงิน 73,743.59 บาท รวมเป็นเงินจำนวน 147,487.18 บาท ก่อนโอนย้ายเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์โดยยินยอมชำระเงินจำนวน 132,356.60 บาท (ที่ถูกคือ 147,487.18 บาท) โดยมีจำเลยที่ 3เป็นผู้ค้ำประกัน ต่อมาวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2538 จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินงวดแรกตามหนังสือรับสภาพหนี้จำนวน 66,356.60 บาท แก่โจทก์ คงค้างชำระต้นเงินอยู่อีก 81,130.58 บาทคิดเป็นดอกเบี้ยค้างชำระถึงวันฟ้อง 24,372.49 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 105,502.04 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน81,130.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ได้ลาไปศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยทำสัญญาไว้ต่อโจทก์ ตามสัญญาดังกล่าวมิใช่ให้จำเลยที่ 1ต้องกลับมารับราชการได้แต่เฉพาะที่กรมโจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 1 อาจเข้ารับราชการในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรก็ได้ จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ จากนั้นเมื่อปี 2538 จำเลยที่ 1 ได้โอนย้ายไปรับราชการที่สำนักงานสภาพสถาบันราชภัฏกระทรวงศึกษาธิการ ในสังกัดเดียวกับโจทก์โดยได้รับความยินยอมในการโอนย้ายจากโจทก์และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏแล้ว และจำเลยที่ 1 ยังคงรับราชการอยู่ต่อไปจนถึงปัจจุบันโดยยังมิได้ลาออกจากราชการซึ่งถือว่าเป็นการใช้หนี้โจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญา ที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ต่อโจทก์เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 ก่อนโอนย้ายไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏด้วยการยินยอมชดใช้เงินให้โจทก์จำนวน 132,356.60 บาทและในวันทำหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ 1 ได้ใช้เงินจำนวน 66,366.60 บาท ให้โจทก์ไปแล้วนั้น เป็นการทำหนังสือรับสภาพหนี้ทั้งที่มูลหนี้ยังไม่เกิดขึ้น จึงไม่มีผลตามกฎหมายโจทก์จึงไม่อาจบังคับจำเลยที่ 1 ให้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ได้และไม่มีสิทธิในเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระให้โจทก์ไป ขอให้ยกฟ้องและขอให้บังคับโจทก์คืนเงินจำนวน66,366.60 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องแย้งเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่จำเลยที่ 1

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า หลังจากจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศแล้ว ได้กลับมารับราชการที่วิทยาลัยเกษตรกรรมนครสวรรค์ ต่อมาได้โอนย้ายไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ จนถึงปัจจุบันโดยได้รับความเห็นชอบในการโอนย้ายจากโจทก์และสำนักงานสภาสถาบันราชภัฏแล้ว ซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้หนี้ที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศแก่ทางราชการตามสัญญาตลอดมา จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ผิดสัญญาต่อโจทก์ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้ยกฟ้อง

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ทราบถึงสิทธิของตนที่จะเรียกเงินจำนวน66,356.60 บาท คืนจากโจทก์เป็นลาภมิควรได้ตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2539 แล้ว แต่ได้ใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อเรียกเงินคืนเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2540 ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406, 419 ขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 81,130.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง (16 พฤษภาคม 2540) ต้องไม่เกินจำนวน 24,372.49 บาท ตามที่โจทก์ขอ ถ้าหากบังคับเอาจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวแทนให้โจทก์ ให้ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 รับราชการสังกัดโจทก์จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากโจทก์ให้ลาศึกษาต่อที่ประเทศสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2528 ถึงวันที่ 11 เมษายน 2533 จำเลยที่ 1 สัญญาว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะกลับเข้ารับราชการสังกัดโจทก์หรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควรเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่า หากผิดสัญญาจะต้องชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่รับไปคืนแก่โจทก์ ตามสัญญาเอกสารหมาย จ.8 และ จ.11จำเลยที่ 2 ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.9 และ จ.12 จำเลยที่ 1ศึกษาในต่างประเทศเป็นเวลา 4 ปี 2 เดือน 26 วัน ดังนั้น จำเลยที่ 1 ต้องกลับเข้ารับราชการเป็นเวลา 8 ปี 5 เดือน 22 วัน แต่จำเลยที่ 1 กลับเข้ารับราชการสังกัดโจทก์ตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2533 แล้วโอนไปรับราชการต่อที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2538 ตามหนังสือเรื่องโอนข้าราชการครูเอกสารหมาย ป.ล.3(ศาลจังหวัดนครสวรรค์) รวมเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการสังกัดโจทก์เป็นเวลา 5 ปี 3 เดือน 16 วัน ก่อนที่โจทก์จะอนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2538 ยอมชดใช้เงินให้โจทก์ 132,356.60 บาท โดยชำระเงินในวันทำสัญญา จำนวน 66,356.60 บาท ส่วนที่เหลือจะผ่อนชำระต่อไปตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.14 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันแนบท้ายเอกสารหมาย จ.14 มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยจะต้องรับผิดตามสัญญารับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.14 หรือไม่ตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศเอกสารหมาย จ.8และ จ.11 ข้อ 3 ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาหรือไม่ก็ตาม จำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะรับราชการต่อไปในสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือในกระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของระยะเวลาที่ได้รับทุนหรือได้รับเงินเดือนรวมทั้งเงินเพิ่ม ทั้งนี้สุดแต่ระยะเวลาใดจะมากกว่ากัน และข้อ 4 ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาในข้อ 3 หรือจำเลยที่ 1 ไม่กลับมารับราชการด้วยเหตุใด ๆ ก็ดีจำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่ได้รับในระหว่างไปศึกษาพร้อมเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้ ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาดังกล่าวมีความหมายว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการสังกัดโจทก์ กระทรวงศึกษาธิการหรือที่กระทรวง ทบวง กรมอื่นตามที่ทางราชการเห็นสมควร แต่จะต้องปฏิบัติราชการให้ครบระยะเวลาที่ตกลงกันไว้ตามสัญญา มิใช่ต้องรับราชการในสังกัดโจทก์เท่านั้นเพราะถึงแม้จำเลยที่ 1 รับราชการในสังกัดกระทรวง ทบวง หรือกรมอื่น จำเลยที่ 1 ก็สามารถนำความรู้ที่ศึกษาจากต่างประเทศมาปฏิบัติราชการให้เกิดประโยชน์แก่ส่วนรวมอันเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ หากโจทก์ประสงค์ให้ผู้ลาไปศึกษาต้องกลับมารับราชการใช้ทุนเฉพาะที่กรมโจทก์ โจทก์สามารถทำได้โดยกำหนดเงื่อนไขของสัญญาให้มีข้อความผูกมัดคู่สัญญาไว้ให้ชัดแจ้งเช่นนั้น แต่โจทก์หาได้กระทำไม่ ทั้งตามหนังสือขอโอนข้าราชการเอกสารหมาย ล.3 โจทก์เป็นผู้เห็นสมควรให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่สำนักงานสภาสถาบันราชภัฏ ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการและยังคงปฏิบัติราชการในหน่วยงานดังกล่าวตลอดมาจนถึงเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยจำเลยไม่เคยลาออกจากราชการเลย จำเลยจึงมิได้ปฏิบัติผิดสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรืออบรม ณ ต่างประเทศตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.11 ดังนั้นเมื่อไม่มีการผิดสัญญาจำเลยที่ 1 จึงไม่ผิดนัดและไม่มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามสัญญาข้อ 4 แก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.14 แม้จะทำขึ้นเพื่อให้โจทก์ยอมอนุมัติให้จำเลยที่ 1 โอนไปรับราชการที่อื่นได้ ก็ไม่มีภาระผูกพันหรือทำให้มีหนี้ที่จะต้องชำระเงินตามที่รับสภาพไว้จำเลยทั้งสามจึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ และตามหนังสือรับสภาพหนี้เอกสารหมาย จ.8 จ.11 และ จ.14 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share