คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7353/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยได้แบ่งพนักงานหรือลูกจ้างไว้เป็น 2 ประเภท คือประเภทผู้บังคับบัญชากับประเภทพนักงานธรรมดา โดยถือเอาระดับตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานเป็นเกณฑ์ พนักงานที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับหัวหน้างานในงานทุกส่วนถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น มิได้ถือว่าผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งการพนักงานคนใดจะเป็นผู้บังคับบัญชาเฉพาะของพนักงานคนนั้นเท่านั้น เมื่อ ก. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการอาคาร มีระดับเป็นหัวหน้างานในอาคาร ก. จึงเป็นผู้บังคับบัญชาตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อปรากฏว่าก่อนหน้านี้โจทก์เคยดูหมิ่น พ. ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์และจำเลยได้ตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือมาแล้วครั้งหนึ่ง การที่ต่อมาโจทก์กล่าวดูหมิ่น ก. เกี่ยวกับการทำงานอีกจึงเป็นการดูหมิ่นผู้บังคับบัญชาอันเป็นการทำผิดซ้ำคำเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119(4) จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่วิศวกร ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 42,400 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือน จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่มีความผิด เป็นการจงใจทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ต้องตกงานและครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 127,200 บาท และค่าเสียหาย 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์กล่าววาจาดูหมิ่นผู้บังคับบัญชา ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้น จำเลยเคยตักเตือนโจทก์เป็นหนังสือในความผิดเช่นเดียวกันมาแล้ว จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119 และไม่เป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย ค่าเสียหายและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยทำหน้าที่เป็นวิศวกรหัวหน้าชุดโมบายทีมหรือหัวหน้ากลุ่มงานช่างซ่อมบำรุงเคลื่อนที่มีหน้าที่ดูแลระบบสาธารณูปโภคอาคารที่จำเลยต้องรับผิดชอบซึ่งรวมทั้งอาคารซีลิกด้วย เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2541 โจทก์ดูหมิ่นนายพลวีร์ แก้วรักษ์ ผู้ดูแลการบริหารงานอาคารในความรับผิดชอบของจำเลยทั้งหมดซึ่งถือว่าเป็นผู้บังคับบัญชาของโจทก์ เป็นการดูหมิ่นผู้บังคับบัญชาฝ่าฝืนต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 หมวดที่ 9 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษ ข้อ 2.3(3) และจำเลยได้ลงโทษโจทก์ด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือแล้วตามเอกสารหมาย ล.4 ต่อมาวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ได้กล่าววาจาดูหมิ่นนายกอบเกียรติฉิมคำ ผู้จัดการอาคารซีลิกอีก แต่การทำงานของโจทก์มีลักษณะเป็นเอกเทศไม่อยู่ภายใต้การบริหารงานและการบังคับบัญชาของนายกอบเกียรติ นายกอบเกียรติจึงไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาของโจทก์ การที่โจทก์กล่าววาจาดูหมิ่นนายกอบเกียรติจึงไม่ใช่การดูหมิ่นผู้บังคับบัญชาเป็นเพียงการดูหมิ่นพนักงานด้วยกันเท่านั้น การดูหมิ่นผู้บังคับบัญชากับการดูหมิ่นพนักงานเป็นการกระทำต่อบุคคลต่างฐานะกัน ถือเป็นการกระทำความผิดต่างลักษณะกัน การที่โจทก์ดูหมิ่นนายพลวีร์ผู้บังคับบัญชาและถูกตักเตือนเป็นหนังสือแล้วโจทก์ยังดูหมิ่นนายกอบเกียรติพนักงานด้วยกันอีกจึงไม่เป็นการทำผิดซ้ำคำเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) เป็นแต่เพียงเหตุอันสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมเท่านั้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย 127,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (23 เมษายน 2542) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์คำขออื่นให้ยก

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “เห็นสมควรวินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยข้อที่ว่านายกอบเกียรติ ฉิมคำ เป็นผู้บังคับบัญชาตามความในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยเอกสารหมาย ล.3 หมวดที่ 9 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษข้อ 2.3.3 หรือไม่เสียก่อน เห็นว่า ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุตามเอกสารหมาย ล.3หมวดที่ 1 บททั่วไป ข้อ 2 ได้ให้คำจำกัดความคำว่าผู้บังคับบัญชาไว้ในข้อ 2.3 ว่า “ผู้บังคับบัญชา” หมายถึงพนักงานที่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับหัวหน้างานในส่วนใดส่วนหนึ่งทั้งในด้านการปฏิบัติงานการบังคับบัญชาและการควบคุมการดำเนินงานให้เป็นไปตามข้อบังคับตลอดจนระเบียบต่าง ๆ ที่จำเลยเป็นผู้กำหนดขึ้น และให้คำจำกัดความคำว่าพนักงานไว้ในข้อ 2.2 ว่า “พนักงาน” หมายถึงพนักงานทุกประเภทซึ่งได้รับการพิจารณาว่าจ้างให้เข้าทำงานร่วมกับจำเลยเพื่อรับค่าจ้างจึงเห็นได้ว่าข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยแบ่งพนักงานหรือลูกจ้างไว้เป็น 2 ประเภท ประเภทหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา อีกประเภทหนึ่งเป็นพนักงานธรรมดา โดยถือเอาระดับตำแหน่งหน้าที่ในการทำงานเป็นเกณฑ์ พนักงานที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับหัวหน้างานในงานทุกส่วนถือเป็นผู้บังคับบัญชาทั้งสิ้น มิได้ถือว่าผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาหรือสั่งการพนักงานคนใดเป็นผู้บังคับบัญชาเฉพาะของพนักงานคนนั้นเท่านั้นนายกอบเกียรติเป็นพนักงานที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการอาคารซีลิกมีระดับเป็นหัวหน้างานในอาคารดังกล่าวจึงเป็นผู้บังคับบัญชาตามความในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในเอกสารหมาย ล.3 หมวดที่ 9 ว่าด้วยวินัยและการลงโทษข้อ 2.3.3การที่โจทก์ดูหมิ่นนายกอบเกียรติจึงเป็นการดูหมิ่นผู้บังคับบัญชาจึงเป็นการทำผิดซ้ำคำเตือนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ. 2541 มาตรา 119(4) จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด

Share