คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7351/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 บัญญัติว่าบทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร และมาตรา 681 วรรคสอง บัญญัติให้หนี้ในอนาคตก็ประกันได้ นอกจากนี้ในสัญญาจำนองได้ระบุว่า จำนองเป็นประกันเงินกู้ทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ หรือจะมีขึ้นต่อไปภายหน้าอันพึงมีต่อโจทก์ ดังนั้น แม้สัญญากู้จะทำภายหลังสัญญาจำนอง สัญญาจำนองก็มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2524 จำเลยที่ 1ได้กู้เงินโจทก์ จำนวน 39,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 18 ต่อปีจำเลยที่ 2 ภรรยาจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมแก่จำเลยที่ 1ในการทำสัญญากู้และยอมรับเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 และนายสุข สิทธา ยอมผูกพันตนเป็นผู้ค้ำประกัน โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมและนำที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)เลขที่ 378 พร้อมสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ และที่จะมีขึ้นต่อไปในอนาคตมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์นายสุขถึงแก่กรรมจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 เป็นทายาทและผู้ครอบครองทรัพย์มรดกของนายสุขต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 คิดดอกเบี้ยจากต้นเงินที่ค้างชำระตามสัญญาและตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2531 จำเลยที่ 1 ค้างชำระดอกเบี้ยทั้งหมด 50,433.04 บาท ต่อจากนั้นคิดดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีถึงวันฟ้องเป็นดอกเบี้ยจำนวน 2,788.76 บาท รวมจำเลยที่ 1เป็นหนี้โจทก์ทั้งหมดจำนวน 92,221.80 บาท ขอให้จำเลยที่ 1 ที่ 2และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ในฐานะทายาทนายสุข ร่วมกันใช้เงินจำนวน92,221.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน39,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งเจ็ดไม่ชำระให้ยึดที่ดินจำนองออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์หากขายทอดตลาดทรัพย์จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งเจ็ดมาชำระหนี้ให้โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 7 ให้การว่า ขณะนายสุขทำสัญญาจำนองสัญญากู้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังไม่เกิดขึ้น โดยจำเลยที่ 1ยังไม่ได้รับเงิน สัญญาค้ำประกันระหว่างโจทก์กับนายสุขจึงยังไม่เกิดขึ้น ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 7ในฐานะทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนายสุข สิทธา ร่วมกันชำระเงิน92,221.80 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน39,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินให้โจทก์ครบถ้วน หากฝ่าฝืนให้ยึดที่ดินจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และทรัพย์มรดกของนายสุข สิทธาออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนกว่าจะครบถ้วน จำเลยที่ 4ที่ 5 ที่ 7 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จำเลยที่ 4 ที่ 5ที่ 7 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “จำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ฎีกาข้อกฎหมายข้อเดียวว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ลงวันที่ 7 มกราคม2524 ภายหลังที่นายสุขบิดาของจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจำนองที่ดินลงวันที่ 29 ธันวาคม 2523 เป็นประกันหนี้ถึง 9 วัน สัญญาจำนองย่อมไม่มีผลบังคับตามกฎหมายเพราะไม่มีหนี้ประธานจะประกันนั้นเห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707 บัญญัติว่า”บทบัญญัติมาตรา 681 ว่าด้วยการค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร” และมาตรา 681 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้หนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขจะประกันไว้เพื่อเหตุการณ์ซึ่งหนี้นั้นอาจเป็นผลได้จริงก็ประกันได้นอกจากนี้ในสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 4 ได้ระบุว่า “จำนองเป็นประกันเงินกู้ ฯลฯ ทั้งที่มีอยู่แล้วในขณะนี้ หรือจะมีขึ้นต่อไปภายหน้าอันพึงมีต่อโจทก์” ดังนั้น แม้สัญญากู้จะทำภายหลังสัญญาจำนองถึง 9 วัน สัญญาจำนองย่อมมีผลบังคับได้ตามกฎหมายฎีกาของจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 7 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share