คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัทจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในตึกพิพาทแม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยทั้งสองได้ทำหนังสือสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์ทั้งสองโดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยทั้งสองให้ถูกต้อง ก็ต้องถือว่าจำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยทั้งสอง โดยจำเลยทั้งสองได้ให้สัตยาบันแล้ว เมื่อจำเลยที่ 3 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองตามกำหนด จำเลยทั้งสองจะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากัน และเป็นเจ้าของตึกพิพาท จำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนโดยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำหนังสือสัญญาเช่าตึกพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนดระยะเวลาเช่า 1 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้เป็นสถานที่บริการขายตั๋วเก็บค่าโดยสารอันเป็นวัตถุประสงค์ของจำเลยทั้งสอง หลังครบกำหนดแล้ว จำเลยที่ 3 ขอเช่าตึกพิพาทต่ออีก 1 ปี ขอชำระค่าเช่าในอัตราเดิมโดยสัญญาว่าจะนำค่าเช่าล่วงหน้า 300,000 บาท มาชำระให้โจทก์ทั้งสองในวันเริ่มต่อสัญญาเช่า แต่จำเลยที่ 3 ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าล่วงหน้าตามกำหนดโจทก์ทั้งสองทวงถามให้จำเลยที่ 3 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินค่าเช่าดังกล่าวมาชำระภายใน 10 วัน มิฉะนั้นถือว่าสัญญาเช่าระงับ และโจทก์ทั้งสองไม่ประสงค์ให้เช่าตึกพิพาทต่อไป จำเลยที่ 3 เพิกเฉย สัญญาเช่าจึงสิ้นสุดลง แต่จำเลยทั้งสามกับบริวารยังคงครอบครองใช้ตึกพิพาทประกอบกิจการตามวัตถุประสงค์อยู่ตลอดมา เป็นการละเมิด โจทก์ขอคิดค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าเช่าเป็นเวลา 6 เดือน ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 150,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากตึกพิพาท และส่งมอบให้โจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยและใช้ค่าเสียหายเดือนละ25,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะออกไปและส่งมอบตึกพิพาทให้โจทก์
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆกับโจทก์ทั้งสอง ที่จำเลยที่ 3 เช่าตึกพิพาทกับโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และเป็นการกระทำในฐานะส่วนตัวของจำเลยที่ 3 เท่านั้นจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองไม่เคยมอบอำนาจหรือมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าหรือบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1ทั้งจำเลยที่ 1 ไม่เคยรับหนังสือบอกกล่าวจากโจทก์ทั้งสองเลยขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ทั้งสอง ที่จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตามฟ้องกับโจทก์ทั้งสองนั้น ก็มิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 2 ให้ถูกต้อง จำเลยที่ 2 จึงมิใช่คู่สัญญากับโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็ทราบดีว่าจำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะส่วนตัว และกระทำโดยปราศจากอำนาจหรือนอกเหนือขอบอำนาจในการจัดการของจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจนำสัญญาเช่าตึกพิพาทมาฟ้องบังคับเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้จำเลยที่ 2 ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2ไปทำสัญญาเช่าตึกพิพาทกับโจทก์ทั้งสอง จำเลยที่ 2 ไม่เคยเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาเช่าตึกพิพาทหรือเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ในตึกพิพาทตามสัญญาเช่าที่จำเลยที่ 3 ได้ทำไว้กับโจทก์ทั้งสองโจทก์ทั้งสองไม่เคยมอบให้ทนายความบอกกล่าวมายังจำเลยที่ 2 ทั้งจำเลยที่ 3 ก็ไม่เคยได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าจากโจทก์ทั้งสองก่อนสัญญาเช่าจะครบอายุ จำเลยที่ 3 ได้แจ้งแก่โจทก์ทั้งสองแล้วว่าประสงค์จะขอเช่าตึกพิพาทต่อไปในอัตราเดือนละ 5,000 บาท เท่านั้นซึ่งโจทก์ทั้งสองก็ได้ยินยอมแล้ว แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ทั้งสองกลับบ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ทำสัญญาใหม่ตามคำมั่นที่โจทก์ทั้งสองให้ไว้ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยทั้งสามและบริวารออกไปจากตึกแถวพิพาทพร้อมส่งมอบตึกดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อยให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้เงิน 150,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 25,000บาท แก่โจทก์ทั้งสองนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะออกไปและส่งมอบตึกดังกล่าวคืนโจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด จำเลยที่ 3 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำแทนทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 2 โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และเป็นเจ้าของตึกพิพาท จำเลยที่ 3 ทำสัญญาโดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่าตึกพิพาทจากโจทก์ทั้งสองมีกำหนด 1 ปี อัตราค่าเช่าเดือนละ 25,000 บาท เมื่อครบกำหนดเช่าแล้วจำเลยที่ 3 ขอเช่าตึกพิพาทต่ออีก 1 ปี ขอชำระค่าเช่าในอัตราเดิมโดยสัญญาว่าจะนำค่าเช่าล่วงหน้า 300,000 บาท มาชำระให้โจทก์ทั้งสองในวันที่ครบกำหนดหนึ่งปีตามสัญญาเช่าตึกพิพาท แต่จำเลยที่ 3ผิดสัญญาไม่ชำระค่าเช่าล่วงหน้าให้โจทก์ทั้งสองตามกำหนด โจทก์ทั้งสองจึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลยที่ 3 โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 3 ได้รับแล้วแต่ไม่ยอมออกจากตึกพิพาท แล้ววินิจฉัยว่าปัญหาว่าจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยหรือไม่ ปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทแล้ว จำเลยที่ 3 ใช้ตึกพิพาทเป็นที่จำหน่ายตั๋วโดยสารของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2ประกอบกิจการเดินรถโดยสารรับส่งผู้โดยสารในสายเหนือมีป้ายชื่อของจำเลยที่ 2 ติดอยู่ตามยาวหน้าตึกพิพาท และมีป้ายมีข้อความว่าสถานที่จำหน่ายตั๋วรถร่วม บ.ข.ส. บริษัทจำเลยที่ 1 ติดอยู่บนตึกพิพาท ทั้งรถของจำเลยที่ 1 ที่จอดอยู่บริเวณตึกพิพาทเป็นรถที่ใช้สำหรับรับส่งผู้โดยสารไปขึ้นรถปรับอากาศที่มีสถานีขนส่งสายเหนือดังนี้ เป็นการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้เข้าครอบครอบใช้ประโยชน์ในตึกพิพาท แม้จำเลยที่ 3 ทำสัญญาเช่าตึกพิพาทโดยมิได้ประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ตาม ก็ต้องถือว่า จำเลยที่ 3 กระทำไปในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2ได้ให้สัตยาบันแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่
พิพากษายืน.

Share