แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2540 แจ้งล่วงหน้า การเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2540 จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 25 ธันวาคม 2540 เพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันวันที่ 25มกราคม 2541 ดังนั้น การบอกกล่าวล่วงหน้าจะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 25 มกราคม 2541 ซึ่งกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 30 ธันวาคม 2540 ทำให้ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยไม่ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคหนึ่งจำเลยจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์สำหรับระยะเวลาที่ยังไม่ครบนั้นด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานในตำแหน่งวิศวกรสนาม ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน และวันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2540จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างโจทก์วันที่ 30 ธันวาคม 2540โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 300,000 บาท ค่าชดเชย 180 วัน เป็นเงิน 360,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 26 วันเป็นเงิน 52,000 บาท ระหว่างทำงานนั้นจำเลยค้างจ่ายค่าจ้างเดือนธันวาคม เป็นเงิน 20,000 บาท จำเลยกำหนดให้โจทก์ลาหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 7 วัน ในปี 2540 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ก่อน จึงขอคิดค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 7 วัน เป็นเงิน 14,000 บาท จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดตามประเพณีในปี 2539 ถึงปี 2540 รวม 18 วัน ขอคิดค่าจ้างเป็นเงิน 36,000 บาท จำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ในปี 2539 ถึงปี 2540 รวม 42 วัน โจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์หนึ่งเท่าคิดเป็นเงิน84,000 บาท และจำเลยกำหนดเวลาทำงานปกติระหว่าง 7.30 นาฬิกา ถึง 16.30 นาฬิกา ทำงานหลังจากเวลาปกติเป็นการทำงานล่วงเวลาโดยกำหนดค่าทำงานล่วงเวลาให้โจทก์ชั่วโมงละ 432.69 บาท ระหว่างวันที่ 22 มกราคม 2539 ถึงวันที่ 7 กันยายน 2540 โจทก์ทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งจำเลยรวม 1,254 ชั่วโมง คิดเป็นเงิน 542,593.26 บาท ขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 52,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 360,000 บาท ค่าเสียหายจำนวน 300,000 บาท ค่าล่วงเวลาจำนวน 542,593.26 บาท ค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์จำนวน 84,000 บาทค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 14,000 บาท ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีจำนวน 36,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันเลิกจ้างจนกว่าชำระเสร็จ และค่าจ้างค้างจำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2540 จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2537 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยดำรงตำแหน่งวิศวกร หรือผู้จัดการโครงการ ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 60,000 บาท จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน และกำหนดให้วันอาทิตย์เป็นวันหยุดประจำสัปดาห์ โจทก์มีอำนาจทำการแทนจำเลยสำหรับกรณีการจ้าง การลดค่าจ้างการเลิกจ้าง การให้บำเหน็จ การลงโทษหรือการวินิจฉัยข้อร้องทุกข์ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 36(1) โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ส่วนค่าทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์ค่าทำงานในวันหยุดตามประเพณีและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี แม้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว แต่พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยสั่งให้โจทก์ทำงานในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณี โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทั้งสองประเภทดังกล่าว โจทก์คงมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามฟ้อง ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2540 จำเลยมีหนังสือเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลเป็นการเลิกจ้างวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เป็นการเลิกจ้างโดยโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ต่อมาโจทก์ได้รับค่าจ้างค้างระหว่างวันที่ 21 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2540 จำนวน 20,000 บาทจากจำเลยแล้ว การที่จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2540 เลิกจ้างโจทก์ โดยให้มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2540 แต่จำเลยจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25 ของเดือน จึงเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 55 วัน แต่โจทก์ขอมาเพียง 26 วัน เป็นเงิน 52,000 บาท จึงให้ตามที่โจทก์ขอ พิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 52,000 บาท ค่าชดเชยจำนวน 360,000 บาท ค่าเสียหายจำนวน 180,000 บาท และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจำนวน 14,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2540 เป็นต้นไปจนกว่าชำระต้นเงินแต่ละจำนวนเสร็จคำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2540 เลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ถือว่าเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างประจำเดือนธันวาคม 2540จึงชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามฟ้องให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน จำเลยกำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันที่ 25ของเดือน จำเลยมีหนังสือฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2540 แจ้งล่วงหน้าการเลิกจ้างโจทก์โดยให้มีผลวันที่ 30 ธันวาคม 2540 เช่นนี้เป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าก่อนถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไป คือวันที่ 25 ธันวาคม 2540 เพื่อให้มีผลเลิกสัญญากันวันที่ 25 มกราคม 2541 ดังนั้น การบอกกล่าวล่วงหน้าจะชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ในวันที่ 25 มกราคม 2541 ซึ่งถึงกำหนดจ่ายสินจ้างคราวถัดไปข้างหน้าการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์วันที่ 30 ธันวาคม 2540 ทำให้ระยะเวลาการบอกกล่าวล่วงหน้าของจำเลยไม่ครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่ง จำเลยต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์สำหรับระยะเวลาที่ยังไม่ครบอีกจำนวน 26 วัน ตามฟ้อง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน