แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายอรุณทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงเลิกห้าง จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้สิทธิในทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 กับต้องชำระหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1ทั้งหมดรวมทั้งหนี้ภาษีอากรในคดีนี้ สัญญาฉบับแรกนี้จึงเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้ภาษีอากรจากจำเลยที่ 3 โดยตรงได้ เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 จึงเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกจะถูกเปลี่ยนแปลงหรือระงับได้ตามป.พ.พ. มาตรา 375 นั้น จะต้องกระทำโดยคู่สัญญาทุกฝ่าย แต่สัญญาฉบับหลังที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการและนายอาภรณ์ผู้ชำระบัญชีฝ่ายหนึ่ง กับจำเลยที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่งได้ทำขึ้นเพื่อยกเลิกสัญญาฉบับแรกนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและนายอรุณมิได้เป็นคู่สัญญาในสัญญาฉบับหลัง สัญญาฉบับหลังจึงไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งได้เกิดมีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา374 แล้ว.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนเลิกห้างเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2523 มีนายอาจินต์ภักดีวงศ์ เป็นผู้ชำระบัญชี เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์ได้ตรวจสอบภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณที่จ่ายสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2515-2523 แล้วปรากฏว่าจำเลยที่ 1เสียภาษีไว้ไม่ถูกต้อง ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ และไม่หักภาษีเงินได้ไว้แล้วนำส่ง จึงได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มของจำเลยที่ 1สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แต่ก็ถูกยกอุทธรณ์ จำเลยที่ 1 มิได้นำคดีมาฟ้องศาลภายในกำหนด จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระภาษีรวม2,010,299.70 บาท เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2523 ผู้เป็นหุ้นส่วนของจำเลยที่ 1 ทั้งสามคนได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันระบุให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดในหนี้ภาษีอากรของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์แทนทั้งหมด ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน2,010,299.70 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมินและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า หลังจากมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ตกลงทำสัญญายกเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความ โดยจำเลยที่ 1 ยอมเป็นผู้ชำระค่าภาษีและหนี้สินต่าง ๆ โจทก์มิได้แสดงเจตนาต่อจำเลยที่ 3 ว่าจะถือประโยชน์จากสัญญาดังกล่าว และฟ้องคดีภายหลังการเลิกสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีอากรจำนวน 2,010,299.70 บาท แก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวเป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1คือจำเลยที่ 2 ที่ 3 และนายอรุณ ตกลงเลิกห้าง และให้จำเลยที่ 2กับที่ 3 ได้สิทธิในทรัพย์สินของห้าง โดยจำเลยที่ 2 กับที่ 3จะต้องชำระหนี้ภาษีอากรของห้างทั้งหมดรวมทั้งหนี้ภาษีอากรในคดีนี้สัญญานี้จึงเป็นสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 374 โจทก์มีสิทธิเรียกชำระหนี้ภาษีอากรนี้จากจำเลยที่ 3โดยตรงได้ เมื่อโจทก์ได้มีหนังสือเรียกชำระหนี้จากจำเลยที่ 3อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว ปัญหาจึงมีว่าสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกได้เปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นก่อนหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า สิทธิของบุคคลภายนอกจะถูกเปลี่ยนแปลงหรือระงับได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา375 นั้น จะต้องกระทำโดยคู่สัญญา ซึ่งหมายถึงคู่สัญญาทุกฝ่ายแต่สัญญาที่จำเลยที่ 3 อ้างนั้นแม้จะทำก่อนโจทก์มีหนังสือเรียกชำระหนี้ภาษีอากรจากจำเลยที่ 3 ก็ตาม แต่สัญญาฉบับดังกล่าวทำขึ้นระหว่างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการและนายอาจินต์ผู้ชำระบัญชีฝ่ายหนึ่งกับจำเลยที่ 3 อีกฝ่ายหนึ่งโดยฝ่ายแรกหาใช่คู่สัญญาในสัญญาเพื่อบุคคลภายนอกไม่ จำเลยที่ 2ในฐานะส่วนตัวกับนายอรุณมิได้ตกลงระงับสิทธิอันเป็นประโยชน์ของบุคคลภายนอกด้วยสัญญาฉบับที่จำเลยที่ 3 อ้างจึงไม่กระทบถึงสิทธิของโจทก์ซึ่งได้เกิดมีขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374แล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าภาษีจำนวน 2,010,299.70 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง.