คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7339/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารในโครงการเมืองทองสุขสวัสดิ์กับจำเลย และได้ผ่อนชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยแล้ว 24 งวด แต่จำเลยยังมิได้ก่อสร้างอาคารตามสัญญา อันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งโจทก์ทั้งสองอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองขอรับเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าไม่อาจคืนเงินได้และเสนอขอชำระหนี้เป็นที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี โดยให้นำเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมรวมทั้งเงินรางวัลส่วนลดถือเป็นเงินค่าจองมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่จึงเป็นการตกลงเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยพึงกระทำเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ในขณะนั้น หากจำเลยสามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะไม่ไปรับโอนที่ดินดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมโดยมิได้กล่าวถึงสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ และมิได้นำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่มาอ้างอิงต่อศาล เพราะโจทก์ทั้งสองได้คืนต้นฉบับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่จำเลยไปแล้วเนื่องจากจำเลยขอคืนโดยจำเลยแจ้งว่าไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้เพราะติดจำนองกับธนาคารตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างจริง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ต่อกันด้วยต่างล่วงรู้ในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่สามารถโอนทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ประกอบกับข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ ไม่มีข้อความใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมให้เป็นอันระงับสิ้นไป การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่เช่นนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมแล้วตามหนังสือบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับเงินรางวัลส่วนลดซึ่งจำเลยยินยอมให้ถือเอาส่วนลดนี้เป็นเงินค่างวดที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแล้วเป็นสิทธิอันพึงมีของโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องมาจากการทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม แม้โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสิทธินั้นแล้ว และต่อมามีการถือเอาเงินส่วนลดเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ทั้งสองย่อมได้สิทธิตามส่วนลดนี้ก็ต่อเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมถูกบอกเลิกแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม สิทธิในเงินรางวัลส่วนลดอันสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมจึงหมดไปและไม่อาจถือเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,369,906 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 603,520 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 703,520 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 603,520 บาท นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังว่า โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงเลขที่ ดับบลิวบีโอ 299 และดับบลิวบีโอ 300 พร้อมอาคารในโครงการเมืองทองสุขสวัสดิ์กับจำเลย ในราคา 2,498,000 บาท โจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินให้แก่จำเลยในวันจองซื้อ 20,000 บาท วันทำสัญญา 80,000 บาท กับตกลงผ่อนชำระเงินดาวน์ให้จำเลยอีก 25 งวด งวดละ 20,980 บาท โจทก์ทั้งสองได้ผ่อนชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยแล้ว 24 งวด คิดเป็นเงิน 503,520 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระให้แก่จำเลยแล้วเป็นเงิน 603,520 บาท จำเลยจัดให้มีการจับรางวัลของผู้ที่เข้าจองโครงการกับจำเลย โจทก์ทั้งสองจับรางวัลได้ส่วนลด 100,000 บาท ต่อมาโจทก์ทั้งสองทำคำร้องขอเปลี่ยนแปลงโครงการที่จะซื้อที่ดินพร้อมอาคารเป็นจะซื้อที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี โครงการ 1 โซนบี จากจำเลย และโจทก์ทั้งสองและจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 163821 ตำบลบางพูด (บางพัง) อำเภอปากเกร็ด (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงเลขที่ ดับบลิวบีโอ 299 และดับบลิวบีโอ 300 พร้อมอาคาร ระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นอันระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่หรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองผ่อนชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลย จำนวน 24 งวดแล้ว แต่จำเลยมิได้ก่อสร้างอาคารในโครงการตามสัญญาอันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสอง ซึ่งโจทก์ทั้งสองอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ โดยโจทก์ทั้งสองได้ติดต่อขอรับเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าไม่อาจคืนเงินให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ และเสนอขอชำระหนี้เป็นที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี แจ้งวัฒนะ แทน โดยคู่สัญญาตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าอีกฉบับหนึ่งและนำเอาเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดรวม 603,520 บาท กับเงินรางวัลส่วนลดอีก 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 703,520 บาท ถือเป็นเงินค่าจองมัดจำให้แก่จำเลย ซึ่งต่อมาหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับดังกล่าวแล้ว จำเลยอ้างว่าได้โทรศัพท์แจ้งโจทก์ทั้งสองให้ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแล้ว แต่โจทก์ทั้งสองไม่ไป ถือว่าผิดสัญญาต่อจำเลย จำเลยจึงริบเงินมัดจำ ส่วนโจทก์ทั้งสองนำสืบปฏิเสธตามข้ออ้างของจำเลย ดังนี้ข้อเท็จจริงตามคำกล่าวอ้างของทั้งสองฝ่ายไม่ปรากฏว่ามีการทำเป็นลายลักษณ์อักษร คงมีแต่เพียงคำกล่าวอ้างด้วยวาจาของทั้งสองฝ่ายยันกันปากต่อปาก เห็นว่า ขณะทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ โจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินให้แก่จำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมแล้วเป็นเงิน 603,520 บาท แต่จำเลยยังมิได้ก่อสร้างอาคารตามโครงการอันแสดงว่าจำเลยจะปฏิบัติการชำระหนี้ตอบแทนต่อโจทก์ทั้งสองตามสัญญาฉบับเดิมแต่อย่างใด การทำสัญญาฉบับใหม่จึงเป็นการตกลงเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยจะพึงกระทำเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ในขณะนั้น ซึ่งหากจำเลยสามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะไม่ไปรับโอนที่ดินดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม โดยมิได้กล่าวถึงสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ และมิได้นำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่มาอ้างอิงต่อศาล น่าเชื่อว่าเป็นเพราะโจทก์ทั้งสองได้คืนต้นฉบับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่จำเลยไปแล้วตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างจริง พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ต่อกันแล้วด้วยต่างล่วงรู้ในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่สามารถโอนทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ประกอบกับข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ ไม่มีข้อความใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมให้เป็นอันระงับสิ้นไป การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่เช่นนี้ จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมแล้วตามหนังสือบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองเสียหายเพียงใด ปัญหานี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะยังมิได้วินิจฉัยมา แต่เมื่อคู่ความได้นำสืบพยานจนเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายซึ่งเป็นเงินรางวัลส่วนลดที่โจทก์ทั้งสองเข้าร่วมกติกาจับรางวัลกับจำเลย เป็นเงิน 100,000 บาท โดยโจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เป็นความเสียหายที่ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียสิทธิในการได้รับเงินรางวัลนี้เนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา ซึ่งจำเลยย่อมคาดเห็นได้ล่วงหน้าก่อนแล้ว โดยจำเลยนำสืบว่า เงินรางวัลส่วนลด 100,000 บาทนี้ โจทก์ทั้งสองได้ขอรับเงินรางวัล และได้ชำระภาษีหัก ณ ที่จ่ายไว้ 5,000 บาท จำเลยยินยอมให้ถือเอาส่วนลดนี้เป็นเงินค่างวดที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแล้ว โดยระบุไว้ในสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ในข้อ 2 ว่า โจทก์ทั้งสองชำระเงินค่าจองมัดจำให้ผู้จะขายเป็นเงิน 703,520 บาท เห็นว่า ส่วนลดนี้เป็นสิทธิอันพึงมีของโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากการทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม แม้โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสิทธินั้นแล้ว และต่อมามีการถือเอาเงินส่วนลดเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ก็ตาม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ทั้งสองย่อมได้สิทธิตามส่วนลดนี้ก็ต่อเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมถูกบอกเลิกไปแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคแรก สิทธิในรางวัลส่วนลดของโจทก์ทั้งสองอันสืบเนื่องมาจากการทำสัญญาฉบับเดิมจึงหมดไป โจทก์ทั้งสองหาอาจบังคับได้ไม่และไม่อาจถือเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษตามฎีกาของโจทก์ทั้งสอง แต่จำเลยต้องคืนเงินค่าหักภาษี 5,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษากลับเป็นว่า ให้จำเลยชำระเงิน 608,520 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ทั้งสองชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Share